เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโลกแบบถอนรากถอนโคนไปแล้ว และกำลังเปลี่ยนสังคมไทย โดยที่คนจำนวนมากอาจไม่รู้สึกหรือไม่รู้ตัว การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เอไอถูกอ้างจากผู้แพ้การเลือกตั้งว่า เป็น “เครื่องมือ” สำคัญของพรรคที่ชนะ แต่มักจะกล่าวหาในด้านลบ

ดร.หลี่ไคฟู (Kai-Fu Lee) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอชาวไต้หวัน หลังจากจบปริญญาเอกที่สหรัฐ ได้ทำงานเป็นผู้บริหารให้ Apple, SGI, Microsoft, และ Google ปัจจุบันพำนักที่ปักกิ่ง 

ในหนังสือ AI Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order (มีแปลเป็นไทย) เขาบอกว่า จีนพัฒนาเอไอไปอย่างรวดเร็ว และกำลังแซงหน้าสหรัฐ  เพราะจำนวนประชากรและข้อมูลมหาศาล

ดร.หลี่ บอกว่า ปัญญาประดิษฐ์ถูกฝึกให้เป็นเหมือนปัญญามนุษย์  ในหลายกรณีมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะมีการใส่ข้อมูลนับไม่ถ้วน จึงแยกแยะ จำแนก จนให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าสมองมนุษย์ แต่ปัญญาประดิษฐ์ก็ไม่ได้มีความซับซ้อน ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีมโนสำนึก ไม่มีความเห็นอกเห็นใจแบบที่มนุษย์มี

เอไอมีประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า ปฏิวัติอุตสาหกรรม การบริการ อย่างการค้าปลีกยุคใหม่ที่ใช้ข้อมูลผู้บริโภคจนรู้ว่า ต้องการอะไร สนใจอะไร ชอบอะไร ก็จะจัดให้ เสนอมาที่มือถือของเราตลอดเวลา การจัดการผลิตภัณฑ์จึงเป็นไปตามข้อมูล  Amazon จึงเป็นค้าปลีกที่รวยสุดในโลก

เอไอมีความลึกซึ้งมาก เป็นอัลกอริทึมหลายพันชั้น ข้อมูลเข้า การตัดสินใจออก คนไม่ได้สอนเครื่องให้มัน “คิดเป็น” แต่ให้ “คิดเท่าที่จำเป็นตามข้อมูลที่มี” เพื่อให้เราได้รับผล ได้ขายของมากขึ้น (ค้าปลีก) หนี้เสียน้อยลง (สินเชื่อธนาคาร) เครื่องจักรเหล่านี้ต้องการข้อมูลมากกว่าคน ตัดสินใจได้แม่นกว่า

แต่ก็เหมือนเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลายที่ทำให้เกิดปัญหา ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย ช่องว่างทางเศรษฐกิจ การว่างงาน  อย่างไรตาม ปัญญาประดิษฐก็ได้เปลี่ยนโลกแบบหักโค่นไปแล้ว

ข้อคิดของ ดร.หลี่ ที่ฟังได้ในยูทูบที่น่าสนใจ คือเรื่องเอไอกับการศึกษาเพื่ออนาคต ที่เขาวิจารณ์ว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนในแทบทุกภาคส่วน ยกเว้นการศึกษาทั่วโลกที่ยังล้าหลัง

เขายกตัวอย่างการสื่อสาร การคมนาคม รถยนต์ ถนนหนทาง รถไฟฟ้า อุตสาหกรรม การบริการ และอื่นๆ แต่การศึกษายังมีห้องเรียนเหมือนเดิม ครูอาจารย์ยังสอนเหมือนเดิม สอนเหมือนที่วันนี้คนกำลังสอนกลไกเอไอ เครื่องจักร หุ่นยนต์

เขาบอกว่า แทนที่เราจะสอนที่สิ่งที่เอไอ “ทำได้” เราควรสอนสิ่งที่เอไอทำไม่ได้ ครูอาจารย์จะได้มีเวลา 40-50% เหลือเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบ “รายบุคคล” ตามศักยภาพ ความสนใจของ “ผู้เรียน” เหมือนกับที่ Amazon หรือ Facebook ทำกับ “ผู้บริโภค” แบบ “รายบุคคล” ที่มันได้เก็บข้อมูลไว้

การบรรยายก็สามารถใช้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกที่มีมากมายในอินเตอร์เน็ตทำแทนได้ ใช้วิดีโอและอื่นๆ  การบ้าน แบบฝึกหัดก็ออกแบบให้เหมาะสมกับพัฒนาการของแต่ละคน เด็กบางคนยังคูณไม่ได้ ก็ไม่ควรให้การบ้านเรื่องหาร คนที่เก่งแล้วก็ให้อะไรที่ยากกว่า ไม่ใช่ดีไซน์ทุกอย่างเหมือนกันสำหรับทุกคน

ดร.หลี่ พูดถึงบริษัท VIPKID ที่จีนใช้สอนภาษาอังกฤษเด็ก 8,000 คนให้พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วโดยใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การเรียนทางไกล เชื่อมอาจารย์อเมริกันกับนักเรียนจีน เหมือนที่อูเบอร์ทำ เด็กๆ ยังต้องเรียนขั้นพื้นฐาน แต่ต้องมีการฝึกการใช้ภาษา การสนทนากับคนอื่น

ดร.หลี่ เน้นว่า ยุคที่เอไอมีบทบาทสำคัญในความเป็นไปของโลก การศึกษายุคใหม่ต้องพัฒนานักเรียนนักศึกษาที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมในอนาคต ให้ มี 3 C คือ ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) คิดอ่านวิจารณ์เป็น (critical thinking) สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ (creativity)

พวกเขาต้องเรียนรู้เรื่องเอไอว่าทำอะไรได้ เพื่อใช้มัน และทำสิ่งที่เอไอทำไม่ได้ คือ การทำงานเป็นทีม การสื่อสารสัมพันธ์ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การทำตนให้เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจ

เขาบอกว่า การศึกษาต้องเลิกทำให้ผู้เรียนเป็นเหมือนหุ่นยนต์ สังคมต้องการนักคิดที่มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ มีกลยุทธ์ มีความเห็นอกเห็นใจ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น

เอไอฉลาดแค่ไหนก็ยังเป็นเพียงเครื่องจักร ไม่มีมโนสำนึก อารมณ์ความรู้สึก แต่ก็รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนได้ถ้าเราใส่ข้อมูลเข้าไป เอากล้อง เอาเซนเซอร์ มาวางให้เก็บข้อมูลอาการ วัดอุณหภูมิ การเต้นของหัวใจ ชีพจร การหายใจ เหงื่อ สีหน้าท่าทาง มันจะบอกได้ว่าเราสุขหรือทุกข์ ดีใจเสียใจ บอกได้แม่นกว่าคน

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเอไอมีมาก จนหลายคนเริ่มคิดว่า น่าจะต้องมีมาตรการในการพัฒนาเอไอไม่ให้เป็นไปในทางที่เป็นอันตรายแก่มนุษยชาติ ซึ่งอาจจะพบหายนะจากน้ำมือของตนเองที่ใส่ข้อมูลมากมายเข้าไปเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ ผลนั้นอาจมีอีกด้านที่เป็นอันตราย ซึ่งน่ากลัวยิ่งนัก

อย่างไรก็ดี ดร.หลี่ บอกว่า ถ้าคนเรายังเรียนรู้สิ่งที่เอไอทำไม่ได้ เอไอจะไม่มีทางทำลายเราได้ เพราะเราเป็นคนกำหนดคุณค่าทางศีลธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม

นั่นก็ดูจะเป็นโลกสวย การมองโลกในแง่ดี ขณะที่อีลอน มัสก์บอกว่า วันนี้เอไอชนะแชมป์โลกหมากรุก หมากล้อมได้ วันหนึ่งอาจพัฒนาถึงขั้นควบคุมมนุษยชาติได้

อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายเห็นด้วยกันว่า การศึกษาเพื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนถึงรากถึงโคน เพราะถ้าคนรุ่นนี้เติบโตโดยไม่รู้เรื่องเอไอใน “เนื้อแท้” คือข้อดีข้อเสีย ได้แต่ “รับ” ไม่มี “รุก” มีแต่ “ใช้” ไม่มี “สร้าง” ไม่มีการสร้างสรรค์ ได้แต่เดินตามเอไอ สุดท้ายก็จะถึงหายนะ เพราะจะถูกใช้และถูกควบคุม

ว่าแต่วันนี้ที่สังคมไทยกำลังวุ่นวายทางการเมือง เอไอมีบทบาทอะไรหรือไม่อย่างไร ไม่ว่าด้วยฝีมือของคนไทยเอง หรือการแทรกแซงจากต่างชาติ