การถูกผลักออกไปเป็น ฝ่ายค้าน สำหรับ พรรคก้าวไกล  แม้จะเป็นเรื่องที่รับรู้ทิศทางลม มาก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะ ทำใจ และยอมรับกันง่ายดาย ! 
 
แต่เมื่อวันนี้ สถานการณ์ทางการเมืองแปรเปลี่ยนไป  แกนนำ ในพรรคก้าวไกล หลายคนรวมถึง กองเชียร์  ต่างแสดงส่งสัญญาณผ่านโลกโซเชี่ยล ว่า ผิดหวัง ที่พรรคก้าวไกล ไม่สามารถร่วมกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ และทุกอย่างเดินมาถึงการแยกทางกัน เอ็มโอยู  ของ 8พรรคร่วมรัฐบาล  312 เสียง ถูกฉีกลงไปเรียบร้อย เมื่อวันที่ 2 ส.ค.66 ที่ผ่านมา
 
ขณะที่จังหวะก้าวของพรรคเพื่อไทย คือการทำหน้าที่เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และจะต้องเป็น รัฐบาลใหม่ ที่หน้าตาต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อย่างสิ้นเชิง  เนื่องจากพรรคเพื่อไทย จะมีการจับมือกับพรรคการเมืองในฝั่ง ขั้วอำนาจเดิม  พลิกข้ามฟาก มาแตะมือกับ 188เสียง แม้จะไม่ดึงมาร่วมรัฐบาลทั้งหมด และทุกพรรคก็ตาม 
 
การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย แน่นอนว่าจะต้องทำควบคู่ไปกับการ เจรจาต่อรองว่า เมื่อดึงพรรคใดเข้ามาแล้ว จะจัดสรรเก้ารัฐมนตรี ในครม.ใหม่ กันอย่างไร และในเกมต่อไปเมื่อพรรคเพื่อไทย ต้องการผลักดันให้ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯของพรรค ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา  อย่างฉลุย จึงต้องประเมินต่อไปว่า การดึงพรรคการเมืองต่างๆเข้ามาร่วมนั้น หาก มากเกินไป  ก็จะกระทบต่ออำนาจการต่อรองในครม.ใหม่ 
 
แต่หากเสียงสนับสนุนในรัฐสภา ที่พรรคเพื่อไทยหามาได้ในมือ ยังไม่เพียงพอ ความจำเป็นที่จะต้องได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เพื่อมาเติมให้เศรษฐา ได้คะแนนโหวต เกินกึ่งหนึ่ง ของเสียงในรัฐสภา ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ วันนี้ มีเพียง กระแสข่าว เรื่องการจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ยังคงไม่ใช่ ข้อยุติ 
 
ยิ่งเมื่อล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาว่าจะรับ หรือไม่รับ คำร้องจาก ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯซ้ำได้หรือไม่ ออกไปเป็นวันที่ 16 ส.ค.66 
 
ส่งผลให้พรรคเพื่อไทย แจ้งกับสื่อมวลชนต่อมาว่า ให้เลื่อนการแถลงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ออกไป และประจวบกับก่อนหน้านี้ ที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา มีคำสั่งให้เลื่อนการประชุมรัฐสภา วันที่4 ส.ค. เพื่อโหวตนายกฯรอบที่ 3 ออกไปก่อนเพื่อรอฟังคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ  
 
การเลื่อนวาระสำคัญๆในการโหวตนายกฯคนที่ 30 ของไทย อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการรอฟังคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยล้วนมีผลผูกพัน ทุกองค์กร จะเชื่อมโยงกับการตัดสินใจ เลื่อนวันกลับ ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เคยประกาศว่าจะแลนด์ดิ้ง ถึงเมืองไทยในวันที่ 10 ส.ค.นี้ด้วยหรือไม่ เพราะนาทีนี้ การเมืองยังไม่นิ่ง นั่นเอง  !