เสือตัวที่ 6

เหตุการณ์โกดังเก็บดินสารระเบิดเพื่อทำประทัดและดอกไม้เพลิง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางตลาดมูโนะ ม.1 ต.มูไดนะ อ.สุไหงโก-ลก ได้เกิดระเบิดขึ้นจนเสียงดังสนั่นหวั่นไหวเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ส่งผลให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง โดยยอดผู้เสียชีวิตนับถึงวันที่สองของการเกิดเหตุเพิ่มขึ้นเป็นผู้เสียชีวิต จำนวน 11 ราย (นำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนา จำนวน 7 ราย ฝากศพ 2 ราย ยังไม่ระบุตัวตน จำนวน 2 ราย) และบาดเจ็บสาหัส 15 คน ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย กว่าร้อยคน ทั้งยังส่งผลให้อาคารบ้านเรือนประชาชนในบริเวณเกิดเหตุได้รับความเสียหายเบื้องต้น 200 หลังคาเรือน ในพื้นที่รอบระยะ 500 เมตรได้รับความเสียหายหนัก สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุโกดังเก็บประทัดในตลาดมูโนะครั้งนี้ นับว่ามีความรุนแรงมาก เพราะแรงระเบิดส่งผลให้ตลาดมูโนะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าชายแดนแหล่งใหญ่ที่สุดของอำเภอสุไหงโก-ลก ได้รับความเสียหายอย่างหนัก บ้านเรือนและร้านค้าถูกแรงระเบิดจนกลายเป็นเศษซากปรักหักพัง โดยความรุนแรงของการระเบิดจากวัสดุที่ใช้ทำประทัดและดอกไม้เพลิงครั้งนี้ เปรียบได้กับคลังแสงขนาดย่อม ที่ใช้สะสมดินระเบิดจำนวนหนึ่ง เป็นที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง

ด้วยปริมาณของวัสดุดินระเบิดที่อ้างว่าประสงค์จะใช้ทำประทัดและวัสดุดอกไม้เพลิงนั้น มีจำนวนมากอย่างน่าสงสัย เทียบได้กับคลังแสงเก็บดินระเบิดจำนวนหนึ่ง และโรงงานแห่งนี้ ยังสามารถตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนโดยหลุดหูหลุดตาจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไปได้อย่างน่าฉงน และจากการตรวจสอบเบื้องต้น แม้จะพบว่าโรงงานแห่งนี้ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบกิจการเก็บสารดินระเบิดเพื่อทำประทัดลัดอกไม้เพลิง แต่การดำเนินการตามกฎหมายนั้นทางเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบว่ามีการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ด้วยอานุภาพของปริมาณดินระเบิดจากประทัดและดอกไม้เพลิงที่เก็บในโกดังดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2 คันรถสิบล้อ เป็นคลังแสงขนาดย่อมๆ ทำให้การเกิดระเบิดของดินระเบิดซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของประทัดและดอกไม้เพลิง มีความรุนแรงและต่อเนื่องขึ้นเป็นระยะๆ จนอาคารบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ในรัศมีของดินระเบิดจำนวนมากในโกดังแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก 

หากแต่แท้ที่จริงแล้วการควบคุมทางกฎหมายต่อการประกอบการด้านวัสดุดินระเบิดเพื่อนำไปทำประทัดหรือดอกไม้เพลิงนั้น รัฐมีกฎกติกาทางกฎหมายอย่างชัดเจนด้วยวัสดุสารตั้งต้นที่เป็นดินระเบิดเหล่านั้น ล้วนมีอันตรายร้ายแรง หากเกิดความผิดพลาดหรือกระทั่งถูกลักลอบนำไปใช้เพื่อการอื่น ด้วยรัฐมีกฎหมายว่าด้วยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน ลอยสู่อากาศ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 หมายถึง พระราชบัญญัติซึ่งได้อธิบายถึงรายละเอียดของอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุ ระเบิด ดอกไม้เพลิง ตลอดจนสิ่งเทียมอาวุธปืน นอกจากนี้ยังได้บัญญัติถึงระเบียบข้อกำหนดกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การครอบครอง และการซื้อขาย เป็นต้น บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน จัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่งตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์การควบคุมและกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547 ซึ่งการผลิตและจำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟเหล่านี้ ต้องมีการขออนุญาต หากฝ่าฝืนจะมีโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มีโทษจำคุก 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ หากเล่นพลุ หรือดอกไม้เพลิงที่สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

ด้านผู้ประสบภัยรายหนึ่ง กล่าวว่าโกดังเก็บสารหรือวัสดุที่ใช้ประกอบประทัดและดอกไม้เพลิงที่ระเบิดนั้น มีจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักในวงกว้าง โดยเห็นว่าเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นอกจากจะเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงขาดการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบการ ในขณะที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนในเบื้องต้นพบว่า จุดที่เกิดเหตุเป็นจุดที่มีการลักลอบเก็บดอกไม้เพลิง และประทัดยักษ์ต่างๆ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าที่แจ้งไว้กับหน่วยราชการที่รับผิดชอบ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบว่า การดำเนินการต่อวัตถุต่างๆ ในส่วนที่เกินมานั้น มีการขอใบอนุญาตหรือไม่ อย่างไร

จึงวิเคราะห์ได้ว่า แหล่งประกอบการในลักษณะนี้ไม่ได้มีอยู่แห่งเดียว การอนุญาตและการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการของคนกลุ่มให้มีการประกอบกิจการทำดอกไม้เพลิง ประทัดยักษ์ หรือสิ่งของในลักษณะดังกล่าวนั้น รัฐต้องมีความเข้มงวดมากกว่าการดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ของรัฐ เนื่องจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีกลุ่มคนที่พยายามแบ่งแยกดินแดนจากรัฐอย่างเต็มกำลัง พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่พิเศษที่ต้องเข้มงวดในมิติด้านความมั่นคงอย่างระมัดระวังอยู่ต่อไป หากรัฐดำเนินการในกิจการลักษณะนี้เหมือนกับกิจการในพื้นที่อื่น หรือกระทั่งเข้าไม่ถึงแหล่งลักลอบสะสมดินระเบิด จะเป็นช่องว่างให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนใช้เป็นคลังแสงขนาดย่อม สะสมยุทธภัณฑ์โดยเฉพาะดินระเบิดอันเป็นส่วนประกอบสำคัญ ลักลอบนำไปใช้ประกอบระเบิดก่อความรุนแรงในพื้นที่ควบคู่กับการต่อสู้ทางการเมืองอย่างแนบเนียน