การเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ตามคำสั่งจาก ประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา เพื่อรอความชัดเจนจาก ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 16 สิงหาคม 66 นี้จะรับหรือไม่รับ คำร้อง จาก ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซ้ำเป็นรอบที่2 ได้หรือไม่ กำลังส่งผลทำให้ การเมือง อยู่ในภาวะระส่ำ !


 ผลพวงที่กระทบไปยังด้านเศรษฐกิจ จับสัญญาณได้จาก เกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ออกมาระบุล่าสุดว่า คำว่าไม่มีกำหนดนั้นน่าเป็นห่วง เนื่องจากอยากให้มีควาชัดเจน ซึ่งหากการโหวตนายกฯคนใหม่ และการตั้งรัฐบาล ยังอยู่ในเดือนสิงหาคมก็เบาใจ แต่หากเลื่อนยาว ไม่รู้ว่าอนาคตประเทศและเศรษฐกิจจะเป็นเช่นใด  เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกของไทยกำลังแย่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย คาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสติดลบถึง 2%


 และผลกระทบที่ส่งไปถึงภาวะเศรษฐกิจนี่เอง ได้กลายเป็น หนึ่งในหลายเงื่อนไข และหลากเหตุผลที่ทำให้ พรรคเพื่อไทย ยกขึ้นมาอธิบายและให้น้ำหนักว่า การตั้งรัฐบาลต้องมีขึ้นโดยเร็ว หากจะให้รอจน วุฒิสมาชิก หมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม ปีหน้า 2567  รวมแล้วอีก 10 เดือน คงเป็นไปไม่ได้ !


 แต่เมื่อเวลานี้ทั้งการตั้งรัฐบาลและการโหวตนายกฯ รอบที่ 3 โดยแน่นอนแล้วว่า จะต้องเป็น แคนดิเดตนายกฯ  จากพรรคเพื่อไทย ที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน อดีตซีอีโอแสนสิริ กลับต้องเจอกับ โรคเลื่อน อย่างน้อยเกือบ 2 สัปดาห์ ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก หรือทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถ วางใจ ได้ว่าทุกอย่างจะ ฉลุย 


 วันนี้แม้พรรคเพื่อไทย จะไม่มี พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกมองว่า เป็นอุปสรรคในการตั้งรัฐบาลตามแรงกดดันของ สว. และ 188เสียง จากกลุ่มขั้วอำนาจเดิม แต่ไม่ได้หมายความว่า เงื่อนไข ของพรรคเพื่อไทย จะหมดไป ยิ่งเมื่อการเดินหน้าเปิดเผยข้อมูล จาก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองที่ทิ้งหมัดตรง พุ่งเข้าใส่เศรษฐา อย่างต่อเนื่อง จนทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า หากเศรษฐา เป็นนักมวยอยู่บนเวที เขาจะ ยืนระยะ อยู่จนครบยก ไม่ช้ำจนทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องเปลี่ยนเกม เปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯตามมาหรือไม่ 


 ขณะที่ความวุ่นวายจาก ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์เอง แม้ความขัดแย้งจะปะทุขึ้นภายในพรรค แต่อย่าลืมว่า วันนี้ 25เสียง 25สส.ของพรรค ยังไม่รู้ว่า จะย้ายมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย กัน ครบทุกคน หรือไม่  ? 


 เมื่อ ขั้วอำนาจเดิม  ที่มี ชวน หลีกภัย  บัญญัติ บรรทัดฐาน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และจุรินทร์ ลักษณวิศิฎฐ์ อดีตหัวหน้าพรรค  มองต่างมุม และ สวนทาง กับ กลุ่มเพื่อนต่อ ของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาฯพรรค ที่ต้องการพาส.ส.ในมือไปร่วมรัฐบาล ตามที่มีข่าวสะพัดมาก่อนหน้านี้ 


 เท่ากับว่า ทุกแนวรบที่เชื่อมโยงกับโอกาสและความเป็นไปได้ในการตั้งรัฐบาล ให้ลุล่วงของพรรคเพื่อไทย ในวันที่ไร้ พรรคก้าวไกล ก็ยังไม่ใช่ ทางสะดวก  เสียทีเดียว อยู่ดี !