การเปิดตัวหน้าตา  รัฐบาลใหม่ ภายใต้การขับเคลื่อนโดย พรรคเพื่อไทย ต้องทำงานแข่งกับเวลา และดิ้นหนีทุกแรงกดดันอย่างชัดเจน  
 การเปิดแถลงข่าวประกาศจับมือกับ พันธมิตร จาก 6พรรคเล็ก ของพรรคเพื่อไทยที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 9 ส.ค.66 ที่ผ่านมา คือหนึ่งในกลยุทธ์ ที่ต้องเร่งเดินเกม และปิดงานให้เร็วที่สุดสำหรับภารกิจเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 


 เท่ากับว่า เวลานี้พรรคเพื่อไทย มีพันธมิตรการเมือง รวมทั้งสิ้น 8 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง กับอีก 6 พรรคเล็ก มีตัวเลขรัฐบาลใหม่อยู่ที่ 238 เสียง และในวันนี้มีกำหนดนัดหมายหารือกับพรรคชาติไทยพัฒนา 


 ในระหว่างที่การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยพรรคเพื่อไทย ดำเนินไปอย่างคึกคัก พบว่า ในฟากของ พรรคก้าวไกล ซึ่งเคยเป็นพรรคอันดับหนึ่ง  นำเสนอ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค  ให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาในฐานะแคนดิเดตนายกฯคนที่ 30 แต่ไม่สามารถ ฝ่าด่าน สว. ไปได้ ก่อนที่จะมาติดล็อคด้วยถูกร้องเรื่องคุณสมบัติของตัวพิธา เอง 
 แม้จะมีเสียงเรียกร้อง จากคนในพรรคก้าวไกลเองว่าต้องการให้พรรคเพื่อไทย กลับมาจับมือกันใหม่เพื่อร่วมกันตั้งรัฐบาลด้วยสูตรเดิมก็ตาม แต่ดูเหมือนว่านาทีนี้ พรรคก้าวไกล ย่อมไม่ใช่ ตัวเลือก ที่พรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาอีกแล้ว 


 ดังนั้นเมื่อในสภาพความเป็นจริงของพรรคก้าวไกล คือการถูกดันให้ไปอยู่ในฐานะ พรรคฝ่ายค้าน และยังตามมาด้วยการที่เก้าอี้ รองประธานสภาฯ คนที่ 1  ที่เป็นโควตาของพรรค ปดิพัทธ์ สันติภาดา  ก็อาจต้องลุกออกไป เมื่อพรรคก้าวไกล ไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน 


 เท่ากับว่าอำนาจในฝ่ายบริหาร ในฐานะรัฐบาล พรรคก้าวไกลมีอันต้องชวดไปต่อหน้าต่อตาแล้ว ปรากฎว่า อาจต้องเสียเก้าอี้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ไปในเร็วๆนี้ 
 นอกจากนี้ยังพบว่า แนวรบ นอกสภาฯ ที่เคยมีม็อบราษฎร และสารพัดแนวร่วม อาจมีอันต้อง ถอย และถูกบีบเข้ามุมตามมา เมื่อเป็นผลจากเหตุการณ์ที่ม็อบทะลุวัง บุกไปป่วนที่พรรคเพื่อไทย อย่างต่อเนื่อง จนมีภาพความรุแรง และการถูกตั้งคำถามเรื่อง ท่อน้ำเลี้ยง ที่สนับสนุนแกนนำม็อบ ซึ่งถูกฝั่งตรงข้ามทยอยออกมาให้ข้อมูลผ่านโลกโซเชียล
 

และแน่นอนว่า แม้พรรคก้าวไกล จะออกมาปฏิเสธ ทุกความเชื่อมโยงไม่ว่าจะเป็นทั้งต่อตัวแกนนำม็อบหรือการสนับสนุนการเคลื่อนไหว ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าจากนี้ไป พรรคก้าวไกล มีแต่จะต้องถอยห่างจากม็อบไม่เช่นนั้น อาจพากันตายหมู่ ทำพรรคเสียหายหนัก โดยปริยาย !