ทวี สุรฤทธิกุล

ตอนแรกกะจะจั่วหัวว่า “ตกกระไดพร้อมโจร” แต่กลัวไม่สุภาพเลยต้องเปลี่ยนดังข้างต้นนี้

การเมืองไทยที่จู่ ๆ คนและพรรคที่คิดว่ากำลังเล่นเป็นพระเอก กลับเปลี่ยนบทไปเล่นเป็นผู้ร้ายเอาเสียดื้อ ๆ ถ้าจิตใจไม่วิปริตก็เป็นพวกที่คิดอะไรแปลก ๆ ไม่อยู่ในร่องในรอย หรือบางทีก็อาจจะไม่มีความคิด

พรรคเพื่อไทยกำลังติดกับดักค่ายกลของตัวเอง ที่ใช้วาทกรรมว่า “สลายขั้วเพื่อชาติ” เพียงเพื่อสนองความอยากให้ได้เป็นรัฐบาล แต่พอเริ่มสลายขั้ว ล้มล้าง MOU  ก็ต้องเจอเวรกรรมกระหน่ำซ้ำซัด ไม่เพียงแต่จะทำให้พรรคก้าวไกลดูโดดเด่นเด่นขึ้นในขั้วการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย แต่ยังทำให้การเมืองในเวลาข้างหน้านี้ยิ่งยุ่งเหยิงวุ่นวาย จนถึงขั้นอาจจะเป็นไปได้ว่า “ไปไม่เป็น”

ท่านประธาน “วันไหน” (เพราะยังแจ้งไม่ได้ว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีกันวันไหน) บอกว่าถ้าจะให้มีความชัดเจนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญท่านพิพากษาเสียก่อนว่า กรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการเสนอชื่อคุณพิธาให้โหวตซ้ำขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 16 สิงหาคมก็เป็นแค่จะรับหรือไม่รับเรื่องมาพิจารณา ซึ่งถ้าท่านเกิดประกาศรับ แล้วจะตัดสินผิดถูกในวันนั้นหรือไม่ก็ต้องรอฟัง แต่ถ้าไม่รับตีเรื่องนี้ตกไป สภาก็หน้าแหก โดยท่านประธาน “วันนั้น” (ที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญท่านตีตกเรื่องนี้) ก็จะต้องเป็นผู้รับกรรมในวันนั้นต่อไป บางทีอาจจะต้องถึงลาออกรับกรรมไปตามลำพัง ในโทษฐานที่ไม่แม่นยำและขาดความเด็ดขาดในการคุมเกมในสภา

ในขณะนี้พรรคเพื่อไทยที่อุปโลกน์ตัวเองเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนที่พรรคก้าวไกล โดยอ้างว่าไม่มีใครเอาพรรคก้าวไกลอีกแล้ว เริ่มจากไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทยแล้วก็พรรคเล็ก ๆ อีก 7 พรรค รวมกัน 9 พรรค ได้ 238 เสียง และพยายามจะเล่นแหย่รังล่องูเห่าให้มาเข้าคอกอีก 3 พรรค อันดับที่ 4 5 และ 6 ที่เหลืออีก 101 เสียง แต่กระนั้นถ้าได้มาทั้งหมด ก็ได้เสียงแค่ 339 แล้วหวังว่าจะมี ส.ว.มาร่วมโหวตให้อีกจนเกิน 375 เสียง ซึ่งก็ยังไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะการไปคาดหวังเอากับ “โมหบุรุษ” (คนละอย่างกับโมฆะบุรุษ ที่ผู้เขียนไม่กล้าใช้เพราะอาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท) ที่ชอบฟาดงวงฟาดงา หาเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ ไม่เอาคนนั้นคนนี้เป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างหน้าเรียบ ๆ

โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าคนของพรรคเพื่อไทยคงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกันกับอีกหลาย ๆ คนที่เชื่อเช่นนั้น แต่ด้วยเหตุผลคนละเรื่อง โดยผู้เขียนมองว่าพรรคเพื่อไทยนั้นหมดราคาไปหมดแล้ว ทำให้พรรคอื่น ๆ มองว่าเป็นแค่ “ส่วนประกอบ” ไม่ใช่ “ส่วนสำคัญ” พรรคอื่น ๆ โดยเฉพาะพรรคที่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่โดดเด่น ทั้งคุณอนุทินของพรรคภูมิใจไทยและพลเอกประวิตรของพรรคพลังประชารัฐ น่าจะถูกโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ง่ายกว่า ดังนี้แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่นกอินทรี แต่เป็นแค่นกกระจอก ที่เป็นตัวประกอบในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น

สภาพอย่างนี้ถ้าเป็นสำนวนไทยโบราณ เขาจะพูดว่า “ผิดฝาผิดตัว” คือแทนที่ตัวเองจะได้เป็นพระเอก ที่หมายถึงพรรคเพื่อไทยที่จะได้เป็นแกนนำ ทั้งได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสำคัญ ๆ ในรัฐบาล กลับต้องมารับบทเป็นพระรองหรือบางทีอาจจะลดขั้นไปถึง “ตลกตามพระ” คือไม่ได้ตำแหน่งที่สำคัญใด ๆ ในรัฐบาล เพราะต้องยกตำแหน่งสำคัญ ๆ เหล่านั้นให้กับพรรคที่พรรคเพื่อไทยต้องไปงอนง้อมา รวมถึงพรรคที่มีเสียง ส.ว.เทให้อย่างพลังประชารัฐนั้นด้วย ดังนั้นเราก็จะได้รัฐบาลที่ “เละเทะ” ทำงานไม่ได้ ที่สุดคงไม่พ้นยุบสภา หรือถูกทำรัฐประหาร

ที่ผู้เขียนกล้าพูดอย่างนี้ก็เพราะรัฐบาลที่มาร่วมผสมกันอย่างไร้อุดมการณ์ย่อมจะมีปัญหามาก

ประการแรก การมาร่วมกันเพียงเพื่อเอาคะแนนมารวมกันให้ได้จำนวนตามรัฐธรรมนูญ ย่อมแสดงถึงการมารวมกันแบบ “เฉพาะกิจ” หรือเป็นการชั่วคราว เมื่อสมประโยชน์กันแล้วก็หมดแรงดึงดูดที่จะยึดกันไว้อย่างเหนียวแน่น เหมือนเจ้าสาวที่หนีตามเจ้าบ่าว เพียงเพื่อจะหนีอออกมาจากการกดขี่ในบ้านที่มีพ่อแม่คอยกำกับอย่างเข้มงวดอยู่นั้น เมื่อออกมาจากบ้านได้แล้วก็แสดงตัวตนอย่างเป็นอิสระเสรี ไม่อยู่ใต้การควบคุมของใคร ๆ แม้กระทั่งสามี ในที่นี่ก็คือพันธสัญญาในการเป็นรัฐบาลก็ไม่มีความสำคัญ พอมาร่วมกันได้แล้ว ก็เล่นบทต่างคนต่างใหญ่ จนพากันล่มจมแตกแยกในที่สุด

ประการต่อมา การทำงานของรัฐบาลแบบนี้จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขา ในด้านบวกคือพยายามแข่งขันกันสร้างผลงาน จนเกิดความอิจฉาริษยา คิดชิงดีชิงเด่นกัน แต่ถ้ามองด้านลบก็คือ อาจจะแย่งชิงกันกอบโกย โกงกินคอร์รัปชัน เพราะรู้ว่าสถานของรัฐบาลไร้เสถียรภาพ ต้องรีบหาเงินหาทองให้เร็วที่สุดและมากที่สุด ในที่สุดก็จะพลาด ภถูกสาธารณะชนกระชากหน้ากากหรือจับผิดได้ ถ้ายังดื้อด้านทนอยู่ ก็อาจจะถูกกระแสสังคมกระหน่ำจนอยู่ไม่ได้ หรือไม่ก็เปิดช่องให้ทหารเข้ายึดอำนาจ และโยนข้อหากับความผิดให้กับนักการเมืองเช่นในทุกครั้วที่ผ่านมา

อีกประการหนึ่ง ในสังคมการเมืองที่พัฒนามาจนถึงขั้นทุกคนมีความรู้สึกที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ได้แสดงพลังออกมาจากคะแนนเสียงที่โหวตออกมา และปฏิกิริยาที่มีต่อการจัดตั้งรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ย่อมแสดงว่าการเมืองน้ำเน่าแบบเก่าไม่เป็นที่ยอมรับในการเมืองสมัยใหม่ แม้กระทั่คนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยก็หันไปเลือกของพรรคการเมืองรุ่นใหม่ ดังปรากฏการณ์ที่พรรคของสองลุงและกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมต้องแพ้การเลือกตั้งอย่างย่อยยับ นี่ก็พอจะพยากรณ์ได้ว่า ผู้คนทั้งรุ่นเก่าและรุ่ใหม่จะไม่ยอมให้ใครมาเล่นละครตบตาต่อไปอีกแล้ว

ดังนั้นเราจึงได้เห็นภาพที่พรรคก้าวไกลไม่รับปากว่าจะโหวตให้คนของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะไม่อยากเข้าไปอยู่ในฉากทัศน์ของ “การลากกันไป” ของกลุ่มคนที่กำลังเล่นการเมืองแบบเดิม ๆ คือลากกันไปเพียงเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ได้ทำลายประชาธิปไตยให้เสียหายไปเพียงไรไม่ได้อยู่ในหัวสมอง

พรรคก้าวไกลจึงมองดูอยู่นอกบ้าน บ้านที่พรรคเน่า ๆ กำลังแย่งกันปีนขึ้นบันได รอว่าเมื่อพวกนี้ปีนไปจนขึ้นไปเน่าอยู่บนบ้านหมดแล้ว พรรคก้าวไกลก็จะขึ้นไปเก็บกวาดซากเน่าเหล่านั้น แล้วทำความสะอาดเสียใหม่ให้น่าอยู่ หรืออย่างน้อยก็สบายตากว่าเดิม

สุภาษิตไทยบอกว่า “โจรขึ้นบ้านสิบครั้งยังไม่เท่าไฟไหม้บ้านเพียงครั้งเดียว” แต่นี้โจรขึ้นบ้านเกือบสิบพรรค เราจะไม่รีบชักกระไดหนีให้พ้นโจรเหล่านั้นหรือ?