รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การเรียนการสอนของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ผ่าน ๆ มาและปัจจุบันจะมีอาจารย์ผู้สอนคอยทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน นอกจากนี้ ก็ยังมีอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาที่มีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานรายวิชาให้การจัดการเรียน
การสอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา แต่ความก้าวหน้าทางวิชาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
จนบางครั้งอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาอาจก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงบนโลกการทำงานจริงและโลกการศึกษา ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและผนวกบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาขึ้นใหม่ และใช้คำใหม่เรียกว่า “ผู้จัดการรายวิชา” หรือ “Course Manager” ในมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันสถาบันการศึกษานิยมผสมผสานบทบาทและหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาเข้าไว้ด้วยกันมากยิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการหลักสูตรมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลรองรับการเปลี่ยนแปลงโลกการศึกษาที่ดิสรัปชันไปไกลกว่าเดิมหลายเท่า ถึงแม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอเนื้อหาด้านการศึกษาและอำนวยความสะดวกในประสบการณ์การเรียนรู้ และอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาจะมีหน้าที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จโดยรวมของหลักสูตรการศึกษา

ความหมายของคำว่า “Course Manager” ในบริบทของสถาบันการศึกษาอาจหมายถึง บุคคลที่รับผิดชอบในการประสานงานและจัดการหลักสูตร บทบาทนี้อาจเกี่ยวข้องกับงานต่าง ๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตร การจัดตารางเรียน การลงทะเบียนเรียน การบริหารจัดการผู้สอน และการกำกับดูแลหลักสูตรโดยรวม หรืออาจหมายถึง บุคคลที่วางระบบ กำหนดโครงสร้างและรูปแบบ รวมถึงการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ภายในหลักสูตร

“Course Manager” ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของหลักสูตรเป็นไปอย่างราบรื่น และสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้เชิงบวกและมีประสิทธิภาพให้กับผู้เรียน สำหรับทักษะที่จำเป็นของ
“Course Manager” ประกอบด้วย ทักษะด้านการบริหารจัดการ การติดต่อสื่อสาร และมนุษยสัมพันธ์ ส่วนบทบาทหน้าที่ของ
“Course Manager” ได้แก่

การพัฒนาหลักสูตร (Curriculum Development) : พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย,

การจัดตารางเรียนและการประสานงานหน่วยงาน (Scheduling and Logistics) : จัดตารางสอนและกิจกรรมการเรียนรู้
โดยประสานกับหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง,

การลงทะเบียนและงานทะเบียน (Enrollment and Registration) : ดูแลเรื่องการลงทะเบียนเรียน วิชาใดควรเรียนก่อน วิชาใดควรเรียนภายหลัง,

การสื่อสาร (Communication) : มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและผู้เรียน แจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ,

การประสานงานกับผู้สอน (Instructor Coordination) : ประสานงานและหารือด้านการสอน การประเมินและการตัดเกรดหรือให้คะแนน,

การสนับสนุนนักศึกษา (Student Support) : ชี้แนะหรือแนะนำนักศึกษาเกี่ยวกับการเรียน การสอบ และการวัดผล รวมถึงแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้,

การประเมินและการตัดเกรด (Assessment and Grading) : ดูแลภาพรวมกระบวนการประเมิน การส่งงาน การสอบ การทำโครงการ,

เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ (Technology and Learning Platforms) : นำเนื้อหาเข้าระบบออนไลน์ สร้างชุมชนเรียนรู้ออนไลน์ มอนิเตอร์การมีส่วนร่วมการเรียนรู้ออนไลน์ แก้ปัญหาเชิงเทคนิค,

ข้อมูลและการรายงาน (Data and Reporting) : ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียน การเข้าเรียน และการมีส่วนร่วมของผู้เรียน,

ข้อมูลย้อนกลับและข้อปรับปรุง (Feedback and Improvement) : รวบรวมคำติ/คำชมจากผู้เรียนและอาจารย์ผู้สอน,

การปฏิบัติตามกฎระเบียบและนโยบาย (Compliance and Policies) : ดำเนินการตามกฎระเบียบและนโยบาย รวมถึงจริยธรรมทางวิชาการ และ

การพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (Continuous Professional Development) : ติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มการศึกษา วิธีสอน และความก้าวหน้าทางวิชาการ

สำหรับคุณสมบัติที่จำเป็นของ “Course Manager”  ประกอบด้วย พื้นความรู้ทางการศึกษา (Educational Background)  ประสบการณ์ด้านการสอน (Teaching Experience) ทักษะการบริหารจัดการ (Organizational Skills) ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ภาวะผู้นำ (Leadership Abilities) ทักษะการพัฒนาหลักสูตร (Curriculum Development Skills) ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี (Technology Proficiency) ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skills) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem-Solving Abilities) ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills) ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ความใส่ใจในรายละเอียด (Attention to Detail) การบริหารจัดการเวลา (Time Management) และการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education)

“ผู้จัดการรายวิชา” หรือ “Course Manager” ถือว่าเป็นอีกมิติของการจัดการเรียนรู้ภายใต้บริบทและภูมิทัศน์ใหม่ทางการศึกษาที่แตกต่างจากอดีต และนับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา