สถาพร ศรีสัจจัง

ได้กล่าวโดยสรุปไว้แล้วว่า “การเลือก” ของคนนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจาก “รสนิยม” (Taste ซึ่งก็คือ “คตินิยม” หรือ “ระบบการให้คุณค่าต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”) ที่เกิดจาก “การเรียนรู้” (leaning) หรือ การ “ถูกโปรแกรม”โดยระบบการศึกษาหรือการให้ข้อมูลชุดหนึ่งเข้าสู่สมองนั่นเอง

การเลือกดังกล่าวส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้บริบทของ “พื้นที่ และ เวลา” หนึ่งๆ ซึ่งถ้าจะอธิบายโดยสิ่งที่เรียกว่า “ลัทธิวัตถุนิยม” บางสำนักของโลกตะวันตก ก็อาจใช้คำว่าล้วนแล้วแต่เป็นสิ่ง “สัมพัทธ์” (Relative)

คือเป็นสิ่งที่ต้องเปรียบเทียบ ไม่ใช่สิ่ง “สัมบูรณ์” พร้อมจะเคลื่อนเปลี่ยนไปตามเงื่อนเหตุบริบททางวัตถุของ “พื้นที่” หรือ “เวลา” ใหม่ตลอด

ไม่เหมือนกับ “ความพอดี” (Middle path) แบบสิ่งที่ดำรงอยู่ตาม “สภาวธรรม” จริงๆ ตามหลักการอธิบายของศาสนาตะวันออกอย่างศาสนาพุทธ ในเรื่อง “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่เชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับหลัก “ความเป็นเช่นนั้นเอง” (“ตถตา”) ของสิ่งธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง

“ปรากฏการณ์ทางสังคม” ในเรื่องที่เกี่ยวกับ “รสนิยม” และ “การเลือก” แม้จะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในสังคมมนุษยชาติมาโดยตลอด จึงเป็นสิ่งที่เคลื่อนเปลี่ยนอยู่โดยตลอดเช่นกัน เพราะล้วนเป็นสิ่งที่มักไม่มีความพอดีที่สอดคล้องกับสถาวธรรมหรือสิ่งที่ดำรงเป็นจริงอยู่ตามกฎธรรมชาติ เป็นแต่เพียง “ปรากฏ

การณ์ทางสังคม” ชุดหนึ่งๆในช่วงหนึ่งของสังคมหนึ่งๆเท่านั้น

สังคมไทยก็เช่นเดียวกับสังคมหรือชุมชนของ “Homosapien” (สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” นั่นแหละ)

กล่าวคือ ถ้าเริ่มนับตั้งแต่เข้าสู่การเป็น “รัฐชาติสมัยใหม่” (ช่วงปลายๆรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์?)

การเคลื่อนเปลี่ยนทางสังคมก็ดูเหมือนจะเริ่มมิติของความรวดเร็วและรุนแรงขึ้นจากผลกระทบในการ “ล่าอาณานิคม” (ในรูปแบบต่างๆ) เพื่อสนองประโยชน์ตัวเองในด้านต่างๆของประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหลาย

กลุ่มชนชั้นนำภายใต้การนำของ “พระมหากษัตริย์” ในช่วงยามดังกล่าวดูเหมือนจะตระหนักในเรื่องนี้กันดี เริ่มตั้งแต่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 ที่ทรงเตือนกลุ่มชนชั้นนำของ “สยาม” ในยามนั้นไว้ก่อนสวรรคตทำนองว่า “…ต่อไปภายหน้า การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

พระอนุชา(ต่างพระราชมารดา)ของพระองค์ท่านคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้สืบราชสมบัติต่อมาคล้ายสำเหนียกรู้ชัดถึงสิ่งนี้ จึงทรง “เปิดรับ” วัฒนธรรมชอง “พวกฝรั่ง” มากขึ้น(แบบมีจังหวะก้าว และ “เลือกแก่นทิ้งกาก”) จนถึงรัชสมัยเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ พระราชบุตรผู้ซึ่งขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 5 สืบมา ก็ยิ่งทรงแสดงให้เห็นว่า “ตื่นตัวขึ้นต่อสู้” อย่างชาญฉลาดจนสามารถนำพาสยามรอดพ้นจากการเป็น “อาณานิคม” ของ “จักรวรรดินิยมตะวันตก” หรือ “พวกฝรั่ง” ตามพระราชดำรัสของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 มาได้!

โดยยึดหลัก “การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว!”

ภาพปรากฏในการปฏิบัติตามพระวิเทโศบายดังกล่าวนี้ มีหลักฐานประวัติศาสตร์ให้เห็นอย่างมากมายและแจ่มชัดในพระราชภารกิจ “การนำชาติพ้นภัย” ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาราชของไทยพระองค์นั้น!

เรื่องที่มักมีพวกนักวิชาการนิยม “พวกฝรั่ง” ตะวันตกยุคปัจจุบันจำนวนหนึ่งพยายามแสดงความสู่โดยมักชอบกล่าวเชิงส่อเสียดเพ้อเจ้อทำนองว่า “ก็ได้แต่ภาคภูมิแแบบโง่ๆว่าไม่เคยเป็น “เมืองขึ้นฝรั่ง” แบบลมๆแล้งๆกันอยู่นั่นแหละ! ประเทศเสียโอกาสไปเท่าไหร่แล้ว…” หรืออะไรทำนองนั้น

ใครที่ยังพอมี “ราก”  มีสติ มีความรู้สำนึกแบบ “มนุษย์” อยู่บ้าง ก็ลองตรองเอาดูเอาเองเถิดว่าควรพิจารณาอย่างไรกับทรรศนะของ “คนรากขาด” ที่มีทรรศนะสามานย์มักง่ายที่ควรต้องแผ่ส่วนบุญให้เช่นนี้!

พูดถึง “นักวิชาการ” ก็อดคิดถึงปัญญาชนนักปฏิวัติไทยท่านหนึ่งขึ้นมาไม่ได้ คือ คุณจิตร  ภูมิศักดิ นักคิด นักเขียนเชิงสร้างสรรค์ นักหนังสือพิมพ์ นักปฏิวัติ และนักวิชาการผู้มีผลงานมากมายไว้ให้เป็น “มรดกวัฒนธรรมทางความคิด” แก่สังคมไทยอย่างเป็นที่ประจักษ์  

บังเอิญเพิ่งอ่านพบทรรศนะของท่านในหนังสือ “บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม” (จากคอลัมน์ “ศิลปะวิจารณ์” ในหนังสือ “ปิตุภูมิ” ช่วงพ.ศ.2499-2500) ของท่าน(ในนามปากกา “ศิลป์ พิทักษ์ชน”)  เป็นทรรศนะเกี่ยวกับ “การรับวัฒนธรรมตะวันตก” (โดยเฉพาะจักรพรรดินิยมอเมริกา)ในหัวข้อบทความชื่อ “ช่า-ช่า-ช่า-บุ้ม” ลองฟังดูกันสักหน่อยนะ :

“…วิธีการครอบครองเอาประเททต่างๆไว้เป็นเมืองพึ่ง กึ่งเมืองขึ้น หรือให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรพรรดินิยม(อเมริกา)นั้น  นอกจากจะใช้วิธีการเข้าควบคุมทางเศรษฐกิจ…และการเข้าควบคุมแทรกสอดในทางการเมือง…แล้ว จักรพรรดินิยม(อเมริกา)ยังได้นำวิธีการที่จะพยายามเปลี่ยนรูปแบบชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชนให้มีความจงรักภักดีต่อชีวิตและวัฒนธรรมของจักรพรรดินิยม และมอมเมาประชาชนด้วยแบบอย่างที่เหลวไหลไร้สาระ เพื่อให้ทุกคนฟุ้งเฟ้อหลงระเริงพอใจอยู่กับความคิดและวิถีชีวิตอันลามกเลวทราม จนลืมนึกถึงความทุกข์ยากและปัญหาเศรษฐกิจการเมืองของประเทศชาติ”

นี่เป็นทรรศนะของนักคิดคนสำคัญของไทยที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โน่นแล้ว!

และ คุณจิตร  ภูมิศักดิ์ อีกนั่นแหละ ที่เคยเขียนเตือน “คนไทย” ที่ถูก “โปรแกรม” สมองจนคลั่งไคล้ “วัฒนธรรมเทศ” (โดยเฉพาะวัฒนธรรมจักพรรดินิยมอเมริกา) ไว้ในบทกวีจำนวนมากของท่านฝากไว้(สักประมาณช่วงปี 2505-2507) เช่น (โคลง 3) ท่อนหนึ่งที่ว่า “เปรตฝรั่งบ้าแบะทรวง/บา…เด็ดดวงแดะแด๋/ไทยวิ่งตามตูดแต้/ติดต้อยโฆษณา” หรือ “คนไทยเจ้าชื่อไทย/บ่เป็นไทดั่งชื่อชน/ชื่อไทยที่เรียกตน/จะเย้ยตัวจนยามตาย”ฯลฯ

แล้วสรุปทรรศนะไว้อย่างชัดเจนต่อทรรศนะทาง “วัฒนธรรม” ว่า : “ชีวิตในยุคนี้/ช่างชาชืดและมืดมน  เจียนชาติจะอับจน/อย่าซ้ำริบให้ฉิบหาย!  จงช่วยจรรโลงชาติ/ประเพณีอันเพริศพราย ประเพณีที่ควายอาย/จากเมืองเทศจงเฉดไป!…จงเฉดไป…จงเฉดไป..เฉดไป !ฯ

ฟังทรรศนะความเห็นตั้งแต่ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 จนถึงนักปราชญ์ร่วมสมัยอย่างคุณจิตร  ภูมิศักดิ์ แล้ว พลันนึกเห็นถึงพฤติกรรมที่แสดงออกทาง “วัฒนธรรม” (ที่ถูกโปรแกรมมา)ของทั้งเยาวชนและผู้คนในกระแสระบบเศรษฐกิจ การเมืองแบบ “ทุนนิยมเสรี” ที่เป็นปรากฏการณ์กระแสหลักของสังคมไทยวันนี้แล้ว ก็เห็นที่มาของ “รสนิยม” และ “การเลือก” แบบที่ “จิตร  ภูมิศักดิ์” เคยว่าไว้แต่เมื่อนานมาแล้วที่ว่า “ไทยวิ่งตามตูดแต้/ติดต้อยโฆษณา !” ชัดเจนขึ้นเสียจริงๆ

หรือคนไทยวันนี้จะกลายเป็น “Monsters” ตามวาทกรรมบางวรรคของนักทฤษฎี มาร์ก ซิสต์คนสำคัญชาวอิตาลีที่ชื่อ “Antonio  Gramsci” (1891-1937) ที่บางใครนำมาโปรยหว่านลงสู่สังคมไทยแบบพิกลพิการเพื่อสร้าง “รสนิยม” และ “การเลือก” แบบผิดๆเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางความเชื่อของตนและกลุ่มตนกันไปหมดแล้วจริงๆ?!!