ทวี สุรฤทธิกุล

ภาพใหญ่ของสังคมไทยย่อมสะท้อนถึงการเมืองและการบริหารในทุกระดับนั้นด้วย อย่างที่ว่ากันว่าเราบริหารกันแบบ “ครอบครัว” และที่ชั่วร้ายกว่านั้นก็คือกระทำกันแบบ “โนสน โนแคร์”

วันก่อนดูรายการวิเคราะห์การเมืองทางทีวีสาธารณะช่องหนึ่ง มีนายจตุพร พรหมพันธ์ร่วมเป็นวิทยากรกับอาจารย์สุริยะใส กตะศิลา ผู้ดำเนินรายการส่งคำถามว่า มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องที่อดีตนายกฯทักษิณไปนอนอยู่นอกคุกในโรงพยาบาลตำรวจ โดยหลายคนแคลงใจว่าจะไม่ได้ป่วยจริงแบบท้าทายสังคม

นายจตุพรได้บรรยายภาพในคุกที่ตัวเองเคยไปอยู่หลายปี ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ คนที่เข้าไปอยู่ในนั้นจะรอดพ้นการ “จับภาพ” ของกล้องวงจรปิดจำนวนมากในมุมต่าง ๆ ของคุกนั้นไปไม่ได้ แม้แต่เวลาที่ถ่ายทุกข์ ดังนั้นถ้าไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจและต้องปฏิบัติตามระเบียบคุก ก็ต้องมีภาพของอดีตนายกฯทักษิณอยู่ทุกอริยาบทด้วยเช่นเดียวกัน

ที่นายจตุพรยกประเด็นนี้มาพูด ก็เพื่อจะบอกว่าถ้า “มีปัญหา” อะไรเกิดขึ้นกับอดีตนายกฯทักษิณ ทั้งตำรวจและราชทัณฑ์จะต้องรับผิดชอบ ด้วยการเอาภาพต่าง ๆ มาเปิดเผย เพื่ออธิบาย “ปัญหา” ต่าง ๆ นั้น

คนที่ชมรายการอย่างผู้เขียนคิดตามไปว่า “ปัญหา” นั้นอาจจะมีหลายอย่าง อย่างแรกนายทักษิณได้เข้าไปอยู่ในคุกและโรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ อย่างที่นายจตุพรว่านายทักษิณยังไม่ได้ถูกจองจำ คือพอราชทัณฑ์รับตัวเข้าคุก ก็ให้สถานพยาบาลในเรือนจำตรวจร่างกายอย่างรวดเร็ว (และสามารถตรวจเห็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ เก่งกว่าหมอที่ดูไบและสิงคโปร์) จากนั้นก็พักตัวไว้ในสถานพยาบาล พอตกดึกก็อาการป่วยกำเริบ หายใจไม่ออก ต้องส่งมาที่โรงพยาบาลตำรวจอย่างทันอกทันใจ พวกญาติ ๆ ก็เข้าเยี่ยมไม่ได้ เพราะอยู่ในช่วงการกักตัว นายจตุพรสรุปว่า “ไม่มีใครรู้ว่านายทักษิณนอนอยู่ที่โรงพยาบาลจริงหรือไม่”

ปัญหาต่อมาที่คนกลัวกันมากคือ เมื่อนายทักษิณไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลตำรวจแล้วแกไปอยู่ที่ไหน หรือเกิดมีการพาตัวนายทักษิณหนีไป หรือที่สุดมีข่าวว่านายทักษิณ “มีอันเป็นไป” เหล่านี้จะมีอะไรเป็นหลักฐานยืนยัน ที่แม้ว่านายจตุพรจะไม่ได้พูด แต่ผู้ชมบางคนก็อาจจะมีความคิดแบบนั้น ถึงขั้นที่มีคนบอกว่าอาจจะมีการ “สวมนักโทษ” หรือ “สวมศพ” อันนี้ก็ยิ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยเสียหาย ไม่เพียงแต่ตำรวจและราชทัณฑ์ แต่รวมถึงรัฐบาลที่รู้เห็นเป็นใจ(แม้จะทำทีว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้สั่ง)

ต่อมามีข่าวว่าคุณอุ๊งอิ๊งลูกสาวได้เข้าไปเยี่ยมนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าคุณพ่อยังป่วยหนัก แต่แอร์ที่เสียซ่อมแล้ว และยังไม่ทราบว่าจะต้องรักษาไปอีกนานเท่าไหร่

ในวันเดียวกันนั้นก็มีข่าวการตั้งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ปรากฏว่ามีรายชื่อของทนายความคนหนึ่งที่เคยหิ้วถุงใส่เงิน 2 ล้านบาทไปขึ้นศาล ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่นี้ด้วย โดยทนายคนนี้ได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณพร้อมกับคุณอุ๊งอิ๊งด้วย ทำให้หลายคนเชื่อว่านายทักษิณยังมีอิทธิพลมากในการตั้งรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งถ้าหากปรากฏว่าทนายคนนี้ได้เป็นรัฐมนตรีจริง ๆ ก็ย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้แต่คนป่วยหนักแทบจะสิ้นความเป็นคนแบบนายทักษิณนี้ ยังสามารถดลบันดาลอะไรก็ได้ บนแผ่นดินสยามประเทศนี้

ถึงขั้นที่ลูกสาวกล้ายืนยันว่าคุณพ่อคือ “เทวดา” (เพราะอยากจะทำอะไรก็ทำได้เสมอนี่เอง)

ประเด็นที่ทุกคนควรให้ความสนใจก็คือ นักโทษคนหนึ่งสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้อย่างถึงอกถึงใจ โดยไม่สนใจว้าสังคมจะติฉินนินทาหรือประณามด่าว่าว่าอย่างไร

ภาพอย่างนี้ย่อมปลูกฝังให้คนที่มาชม ทั้งผู้ที่นิยมนักโทษคนนั้น กับคนที่ยังไม่เดียงสา อย่างเยาวชนหรือผู้ที่ไม่เคยสนใจการเมือง ให้คิดไปได้ว่า นี่แหละคือ “วิถีของผู้นำ” คนที่จะเป็นผู้นำต้องแสดงความยิ่งใหญ่ ความกร่าง และความด้านทนแบบนี้ แม้ใครจะด่าจะว่าก็ไม่ต้องสนใจ เพราะไม่มีใครทำอะไรกับ “เทวดา” เช่นเขาได้

นี่คือการยืนยันว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองการปกครองแบบ “อำนาจนิยม” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในการเมืองระดับชาติ แต่ยังแทรกซึมอยู่ในการเมืองการปกครอง รวมถึงการบริหารทุกระดับนั้นด้วย

เช่นมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก็ปกครองกันด้วยระบบอำนาจนิยมแบบด้านทนนี้มาอย่างยาวนานเช่นกัน

มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังฉลองการสถาปนาครบรอบปีที่ 45 อยู่ในช่วงเดือนนี้ โดยคนที่สถาปนาขึ้นก็ยังมีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน และมีบุคลากรบางกลุ่มตั้งชื่อว่า “อธิการบดีผู้ก่อตั้ง” โดยปรากฏอยู่ในเอกสารทั้งที่เป็นเอกสารราชการและเอกสารทั่วไป รวมถึงการแจ้งแก่สาธารณะในสื่อต่าง ๆ นั้นด้วย

คนที่ไม่สนใจมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็อาจจะไม่เอะใจอะไร แต่สำหรับคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย รวมถึงศิษย์เก่าและบัณฑิตนับล้านคน ต้องคิดขึ้นได้อย่างแน่นอนว่า คน ๆ นี้ยังมีอำนาจปกครองมหาวิทยาลัยนี้อยู่ เพราะคำว่าอธิการบดีก็หมายถึงผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยนั่นเอง ซึ่งที่ถูกที่ควรควรจะใช้คำว่า “อดีตอธิการบดี” หรือจะเติม “ผู้ก่อตั้ง” ก็จะดูสง่างามเป็นเกียรติมากกว่า

เชื่อกันว่าปัญหาการตั้งอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่ว่างเว้นมากว่า 6 ปี โดยที่ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ตัดสินแล้วว่ากระบวนการสรรหาเมื่อปี 2557 นั้นถูกต้อง แต่สภามหาวิทยาลัยภายใต้การนำของอดีตอธิการบดีคนนั้น ก็ยังไม่เสนอโปรดเกล้า โดยล่าช้ามากว่า 6 เดือนแล้ว

เรื่องนี้มีการร้องเรียนถึงกระทรวงอุดมศึกษาฯก็แล้ว เข้าไปอภิปรายในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรก็แล้ว รวมถึงที่มีสื่อมวลชนต่าง ๆ ร่วมกระทุ้ง ก็ไม่บังเกิดผลอันใด

เรื่องนี้บางทีอาจจะต้องถึงโรงถึงศาล และอาจจะต้องมีคนบางคนไปนอนโรงพยาบาล เพราะชราภาพมากแล้ว เช่นเดียวกันกับผู้นำระดับชาติ นักโทษชายหนีคดีคนนั้น ที่ยังทุกข์ทรมานอยู่ท่ามกลางการก่นด่าของสังคม จนกว่าจะสิ้นสุดไปในสภาพใดสภาพหนึ่ง

ขอให้ทั้งสองกรณีข้างต้น เป็น “อัปลักษณานุสรณ์” อันสุดท้าย ที่จะประจานคนไทยและสังคมไทย และเมื่อมันจบลงแล้ว คนไทยและสังคมไทยก็อาจจะมีความหวังว่า ประเทศของเราและสังคมจะดีขึ้นกว่านี้