เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com วันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติมีการประชุมเพื่อสดุดีและถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยผู้นำสำคัญต่างๆ ขึ้นไปกล่าวถวายสดุดี นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดบ่อยนัก โดยเฉพาะบทสดุดีที่มีเนื้อหาที่แน่นด้วยการกล่าวถึงบทบาทและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในการพัฒนา การช่วยเหลือคนยากคนจน เกษตรกร คนชายขอบด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่มีการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศทั่วโลก และทรงได้รับเกียรติยกย่องและรางวัลระดับโลกมากมาย ที่มีการกล่าวถึงด้วยความชื่นชมมากคือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะสหประชาชาติเองได้ยอมรับและนำไปเป็นกรอบเกณฑ์หนึ่งเพื่อการพัฒนา 15 ปีข้างหน้า (2015-2030) ที่เรียกว่า “เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” (SDGs : Sustainable Development Goals) ในประเทศไทย ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาอ้างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็มีคำถามตลอดมาว่า แปลว่าอะไรจริงๆ จนทำให้สรุปกันว่า คงเป็นเพื่อให้ดูดีเท่านั้นกระมัง เพราะทั้งนโยบายและแนวปฏิบัติดูจะขัดกับปรัชญาเศรษฐอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีในตำรานี้ ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 ว่า “เขาก็มาบอกว่า คำว่า Sufficiency Economy ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่ เป็นตำราใหม่ ถ้ามีอยู่ในตำราก็หมายความว่าเราก๊อปปี้มา เราลอกเขามา เราไม่ได้ลอก ไม่อยู่ในตำราเศรษฐกิจ เป็นเกียรติที่เขาพูดอย่างที่เขาพูดอย่างนี้ว่า Sufficiency Economy นั้นไม่มีในตำรา” “ การที่พูดว่าไม่มีในตำรานี่ ที่ว่าเป็นเกียรตินั้นก็หมายความว่า เรามีความคิดใหม่ โดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่า เราก็สามารถที่จะคิดอะไรได้ จะถูก จะผิดก็ช่างแต่ว่าเขาสนใจ แล้วก็ถ้าเขาสนใจ เขาก็สามารถที่จะไปปรับปรุงหรือไปใช้หลักการ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศ และของโลกพัฒนาดีขึ้น” คำถามและคำวิจารณ์นโยบายของรัฐว่าไม่เห็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอะไรที่รัฐบาลควรรับฟัง เพราะหัวใจของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนอยากเห็น คือ ปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างจริงจังว่า จะต้องเป็น “อะไรใหม่ที่ไม่มีในตำรา” หัวใจของปรัชญาอันยิ่งใหญ่นี้ คือ “การพึ่งตนเอง” และ “มีความสุข” พระองค์ทรงเน้นย้ำและสรุปในหลายโอกาส ลองพิจารณาดูว่า โลกวันนี้มีเพียงสองเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือ อาหารกับพลังงาน คำถาม คือ ประชาชนคนไทยพึ่งตนเองได้และมีความสุขกับสองเรื่องนี้หรือไม่ เราเคยติดตามพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริสี่พันกว่าโครงการอย่างถ่องแท้แค่ไหน ถ้าติดตามก็จะเห็นคำตอบ คำถามคือ เราได้สนองพระราชดำริเพียงใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพัฒนาศูนย์ศึกษาและพัฒนาใหญ่ 6 แห่งในทุกภาค และศูนย์ย่อยๆ อีกมากมาย อย่าง “ชั่วหัวมัน” ที่เพชรบุรี “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ” ที่นครนายก ไม่นับ “สวนจิตรลดา” ที่ทรงดำเนินการเองแบบครบวงจร ทั้งหมดนี้และโครงการพระราชดำริต่างๆ ล้วนแต่ต้องการสร้างทางเลือกใหม่ให้สังคมไทย ไม่ใช่แต่เพียงเกษตรกร คนยากจนคน คนชนบท ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยอยู่ดีกินดี มีสุขภาพดี มีความสุข ด้วยอาหารปลอดภัย ไร้สารเคมี เกษตรอินทรีย์ พระองค์เองเสวยข้าวกล้องและอาหารอินทรีย์เป็นแบบอย่าง ทรงแนะนำให้ทำอะไรพอประมาณ ขนาดเล็ก ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้พอเพียง พอกิน พอใช้ อยู่ได้อย่างมั่นคง เพราะทำเล็กๆ เช่นนี้จะบริหารจัดการได้เอง ทรงแนะนำให้เป็นกลุ่ม เป็นสหกรณ์ เพื่อจัดการส่วนเกิน การแปรรูป การค้าขาย ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อที่ก้าวหน้าขึ้นไปจนถึงบการทำธุรกิจและส่งออก แต่ประเทศไทยยังไม่ได้มีนโยบายอะไรชัดเจนเรื่องการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย ยังนำเข้าสารเคมีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หน่วยงานของรัฐ ธนาคารของรัฐยังส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืชไปพร้อมกับการให้เงินกู้ และการส่งเสริมการเกษตร ประเทศไทยยังมีการปล่อยให้มีการผูกขาดการผลิตอาหาร สารเคมี การเกษตร พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และนโยบายการเกษตรยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของพ่อค้านายทุนที่กำหนดนโยบายและคัดง้างกับแนวทางใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังเรื่องพลังงาน พระองค์ท่านทรงส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านพลังงานมาตลอด ทรงเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม มลพิษในดิน น้ำ อากาศ ทรงค้นคิดพลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซล ทรงส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รัฐบาลไทยมีอะไร “ใหม่” ในนโยบายส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านอาหารและพลังงาน แบบไม่มีในตำรา (ทุนนิยม) เป็นเรื่องยากมากที่จะทำอะไรใหม่ตามรอยพระบาท เพราะต้องใช้ “ปัญญา ความกล้าหาญ และความเพียรทน” สูง สวนกระแสโลกที่ใช้ทุนครอบงำ เป็นอำนาจเหนืออำนาจ พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราชได้ทางเลิกทาสครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช มหาราชองค์ที่สองในราชวงศ์จักรีได้ทรง “เลิกทาสครั้งที่สอง” ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและด้วยแบบอย่างของพระองค์เอง แต่สังคมไทยยังไม่พอเพียงและยังไม่เป็นไท ยังไม่ปลดปล่อยตนเอง