ทวี สุรฤทธิกุล

การทำนายอายุรัฐบาลนั้นไม่ยาก เพราะครูโบราณท่านเขียนไว้หลากหลายตำรา

ตำราเหล่านี้ได้จากบรรดานักข่าวหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ สื่อสารมวลชน นักวิชาการ และผู้ติดตามข่าวสารทางการเมือง แล้วแต่ว่ายุคนั้น ๆ จะเชื่อถือบุคคลในกลุ่มใด อย่างเช่น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คนจะได้รับแต่ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ พวกนักข่าวและคอลัมนิสต์ก็จะมีผู้ให้ความเชื่อถือติดตามกันมาก ตามมาด้วยยุควิทยุ ยุคโทรทัศน์ และยุคอินเตอร์เน็ต ที่ผู้คุมสื่อเหล่านี้ก็จะมีอิทธิพลทางความคิดเห็นต่อสาธารณะค่อนข้างมาก จนมาถึงยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโซเชียลมีเดีย ที่สื่ออิสระกับกลุ่มบุคคลก็ได้รับความนิยมมีผู้ติดตามจำนวนมาก

การทำนายอายุรัฐบาลเป็น “ของเล่น” อย่างหนึ่งของผู้สนใจทางการเมืองมานานแล้ว ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ได้ศึกษาย้อนไปตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และขอเรียกตำราเล่มแรกที่มีการทายอายุรัฐบาลในยุคนั้นว่า “ตำราครูขาว” ซึ่งครูขาวก็ไม่ได้มีตัวตนแต่อย่างใด เพียงแต่อยากตั้งให้เป็นนามสมมุติ ในเวลาที่ใคร ๆ ต้องการจะเอาไปอ้างอิง

“ครูขาว” อาจจะเปรียบได้กับแนวคิดที่มองการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ขาวผ่อง เพราะคณะผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์อันบริสุทธิ์(ที่มาแปดเปื้อนมัวหมองหรือเปลี่ยนแปลงในภายหลัง) เช่นเดียวกันกับนักหนังสือพิมพ์และผู้ติดตามการเมืองในยุคนั้น ก็มีความวาดหวังที่บริสุทธิ์ถึงการเมืองไทยว่า จะมีความก้าวหน้าและมั่นคง ดังนั้นการขึ้นมามีอำนาจของคณะราษฎรจึงได้รับความเชื่อถือว่าจะมีความมั่นคง จากข้อเขียนของนักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นก็ล้วนแต่มีคำสรรเสริญและคำอวยพรให้คณะราษฎรนำพาประเทศาติไปสู่ความวัฒนาสถาพรนั้นให้จงได้

ภายหลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2477 คณะราษฎรเริ่มเกิดรอยร้าวขัดแย้งกัน ระหว่างผู้นำฝ่ายทหารกับพลเรือน จนที่สุดใน พ.ศ. 2480 หลวงพิบูลสงครามก็ยึดอำนาจ และสถาปนาตนเองเป็นจอมพลในเวลาอันรวดเร็ว โดยอาศัยสถานการสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเซียบูรพาสถาปนาตัวเองเป็นวีรบุรุษ แต่พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงครามก็กลายเป็นจำเลย หลังสงครามถูกตั้งข้อหาอาชญากรสงคราม ฝ่ายพลเรือนที่นำโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมามีอำนาจแทน โดยผลักดันฝ่ายทหารออกไปพ้นอำนาจ นั่นคือจุดแตกหักของรัฐบาล ที่ทหารต้องมาตามล้างตามเช็ดแก้แค้นในภายหลัง

จากแนวคิดที่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลของคณะราษฎรจะแข็งแรงมั่นคง ตามตำราของครูขาวอันบริสุทธิ์ใจ แต่พอได้มาเห็นว่าคนที่ร่วมอุดมการณ์มาด้วยกันอย่างคณะราษฎรนั้น ก็ยังเกิดอาหารแตกแยกร้าวฉาน นักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต้องมานั่งพลิกตำราเล่มใหม่ ว่าแท้ที่จริงแล้ว การเมืองมีอะไรอื่นเหนือกว่าอุดมการณ์นั้นอยู่ด้วย นั่นก็คือ “ตำแหน่งและอำนาจ” อันนำมาสู่ตำราการทำนายอายุรัฐบาลเล่มใหม่ ที่ผู้เขียนตั้งชื่อว่า “ตำราครูเขียว”

“ครูเขียว” หมายถึงตำราที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการครองอำนาจทางการเมืองของทหาร จากที่เคยประนีประนอมกันกับฝ่ายพลเรือนภายหลังจากที่โค่นล้มสมบูรณาญาสิทธิราชด้วยกันได้แล้ว เมื่อทหารถูกพลเรือนประณามหยามหมิ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารก็หาทางคืนสู่อำนาจ โดยอาศัยสถานการณ์ความวุ่นวายจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2490 จากนั้นทหารก็พยายามที่จะร้างฐานอำนาจต่าง ๆ ทางการเมืองให้มั่นคง ตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญโดยการกำกับของทหาร การตั้งพรรคการเมืองของทหาร และการควบคุมกลไกการบริหารราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ โดยส่งทหารเข้าไปเป็นกรรมการและผู้บริหาร

อำนาจอันล้นฟ้าของฝ่ายทหารนั่นเองที่นำมาซึ่งความแตกแยกในหมู่นายทหาร โดยมีการแข่งอำนาจวาสนากันระหว่างพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กับพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมาแตกหักกันภายหลังการเลือกตั้งในต้นปี 2500 ที่รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าโกงเลือกตั้ง โดยพรรคของรัฐบาลที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค ทำให้เกิดการประท้วงมาหลายเดือน ที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีกลาโหมก็ยึดอำนาจ จอมพล ป. กับพลตำรวจเอกเผ่าต้องหนีออกนอกประเทศ จากนั้นจอมพลสฤษด์ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วปกครองด้วยลัทธิเผด็จการที่มีความเด็ดขาดยิ่งกว่า อย่างที่นักรัฐศาสตร์เรียกยุคนั้นว่า “ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ”

เมื่อระบอบทหารที่เชื่อกันว่าน่าจะมีความมั่นคงแข็งแรงมากที่สุดนั้นได้เกิดล่มสลายลง ด้วยความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหารด้วยกันเอง สื่อมวลชนและผู้สนใจทางการเมืองก็มีทัศนคติเปลี่ยนไป ในยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นยุคที่วิทยุมีอิทธิพลสูงมาก วิทยุทรานซิสเตอร์ราคาถูกเข้ามาแทนที่วิทยุหลอดที่ราคาแพง ทำให้แม้แต่ในท้องนาท้องไรก็มีวิทยุฟังกัน แน่นอนว่าวิทยุได้สร้างความเชื่อความคิดต่าง ๆ ให้กับคนไทยไปในวงการมากกว่าแต่ก่อน ที่สื่อสารกันผ่านหนังสือพิมพ์ ที่ต้องอาศัยคนที่อ่านหนังสือได้และมีรายได้พอสมควร รวมถึงที่ต้องอยู่ในเขตเมืองหรือมีตลาดที่จะซื้อหาหนังสือพิมพ์นั้นได้

ผู้เขียนเติบโตมาในยุคนี้ ได้ไปเรียนชั้นประถมต้นอยู่ในชนบท จึงได้รับรู้ถึงบทบาทของสื่อวิทยุที่สร้างกระแสต่าง ๆ ขึ้นในหมู่ชาวชนบท พร้อมกับที่มีการขยายตัวของสงครามเวียดนาม ได้ยินคำว่าคอมมิวนิสต์ จักรวรรดินิยม เผด็จการ และอื่น ๆ ที่สร้างคำถามให้เกิดขึ้นในความคิดของผู้คน และนี่คือที่มาของการโค่นล้มเผด็จการทหารในระยะเวลาต่อมา ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 อันเกิดจากแนวคิดที่ต่อต้านเปด็จการทหาร ที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่า “ตำราครูดำ” โดยคำว่า “ดำ” นั้นหมายถึงเผด็จการ และต่อไปก็จะหมายถึง “การทุจริตคอร์รัปชั่น” ซึ่งก็สร้างมลทินแก่การเมืองไทย หรือทำให้เกิดสีดำสกปรกนั้นเกิดขึ้น

การล่มสลายของรัฐบาลชุดต่าง ๆ มีสาเหตุทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ซึ่งจะขออธิบายต่อไปอีก เพื่อให้มาถึงรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน รวมถึงรัฐบาลที่จะตามมาในอนาคต อย่างน้อยก็ยังมีอีกสัก 2-3 ตำราที่ควรจะพูดถึง

ใครอยากเป็นรัฐบาลควรศึกษาไว้ ไม่ว่าจะอยู่แค่ 7 วัน หรือ 9 ปี เพราะประวัติศาสตร์นั้นซ้ำรอยได้เสมอ