ทวี สุรฤทธิกุล

รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีทั้งที่อยู่ครบเทอมและไม่ครบเทอม ในทำนองเดียวกันกับรัฐบาลทหารก็มีอยู่สั้นและยาว ด้วยปัจจัยที่คล้าย ๆ กัน คือ “ความเป็นปึกแผ่นของคณะผู้นำ”

เราได้กล่าวถึงตำราทำนายอายุรัฐบาลมาแล้ว 3 เล่ม หรือ 3 ครู คือ ตำราครูขาว ตำราครูเขียว และตำราครูดำ เรียงตามลำดับเวลา คือในยุคแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กูรูการเมืองสมัยนั้นซึ่งก็คือนักข่าวและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ยังมองการเมืองด้วยความบริสุทธิ์เป็นสีขาว เชื่อว่าคณะราษฎรมีอุดมการณ์ จึงน่าจะมีอำนาจได้นาน แต่พอคณะราษฎรแตกคอกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายทหารถูกกีดกันออกไป แต่ก็กลับมามีอำนาจได้ใหม่หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2490 แล้วก็ปกครองด้วยการวางแผนที่จะอยู่ในอำนาจให้เบ็ดเสร็จและยาวนาน อันเป็นที่มาของตำราครูเขียว อันหมายถึงทหารและระบอบเผด็จการ แต่ทหารก็มาแตกกันเอง ที่สุดคนก็เบื่อเผด็จการ และขับไล่ทหารออกไปจากอำนาจในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทีนี้ก็ถึงยุค “ฟ้าสีทอง” คนรุ่นใหม่สมัยนั้นใช้เสรีภาพกันเกินขอบเขต รัฐบาลจากการเลือกตั้ง 2 ชุดก็เอาไม่อยู่ ทำให้ทหารใช้ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยครั้งนั้นคืนสู่อำนาจด้วยการล้อมปราบนักศึกษาและยึดอำนาจ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ตำราครูดำเกิดขึ้นในยุคตั้งแต่หลัง 6 ตุลาคม 2519 นั้น โดย “สีดำ” แทนการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง ทั้งที่มาจากฝ่ายทหารและจากนักเลือกตั้งพลเรือน แม้ว่าจะมีผู้นำที่มือสะอาดอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ทหารบางกลุ่มและนักเลือกตั้งก็ไม่ละอาย จนเกิด “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ในยุคต่อมา ที่ทหารทำทีว่าจะเข้ามากวาดล้าง ด้วยการยึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ทหารก็สมคบคิดกับนักเลือกตั้งเพื่อขอสืบทอดอำนาจ ภายใต้วาทะของผู้นำทหารที่พูดว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ซึ่งก็อยู่ได้ไม่กี่วัน เพราะเกิดจลาจลขับไล่ออกไปในเดือนพฤษภาคมปี 2535 ต่อมานั้น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พยายามที่จะเขียนตำราใหม่ให้กับการเมืองไทย ว่าจะสร้างการเมืองที่ขาวสะอาดนั้นให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะความเหลิงอำนาจของผู้นำ “ตาดูดาวเท้าติดดิน” นำมาสู่ความขัดแย้งแบ่งประชาชนเป็น 2 ขั้ว 2 สี แดงกับเหลือง เกิดจลาจลในบ้านเมืองอยู่เกือบปี ตั้งแต่ปลายปี 2548 ไปจนถึงค่อนปี 2549 ที่จบลงด้วยการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่คณะรัฐประหารชุดนั้นก็พยายามที่จะกำจัดระบอบทุนสามานย์ของผู้นำหน้าเหลี่ยม แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่าที่เรียกกันว่า “ปัสสาวะไม่สุด” เพราะภายหลังจากที่ทหารปล่อยมือในปลายปี 2550 กลุ่มทายาทของผู้นำหน้าเหลี่ยมก็กลับมาครองอำนาจอีก จากนั้นก็เกิดกลียุคมาอย่างต่อเนื่องในปี 2552 และ 2553 และประทุหนักในรัฐบาลของน้องสาวผู้นำหน้าเหลี่ยม  จนทหารต้องออกมายึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ช่วงแห่งความวุ่นวาย 2548 - 2557 น่าจะเป็นไปตามตำรา “ครูมากสี” คืออายุรัฐบาลขึ้นอยู่กับความขัดแย้งของผู้คนในกลุ่มสีต่าง ๆ ทั้งแดงกับเหลืองในตอนแรก ต่อมาก็มีสีน้ำเงินจากกลุ่ม “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” ในปี 2552 - 2553 ต่อด้วยกลุ่ม กปปส. หรือ “สีธงชาติ” ในปี 2556 - 2557 และเมื่อลุงตู่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีกองเชียร์เป็นสีเขียวชมพูขาว อย่างที่เรียกว่า “ซาหริ่ม” ซึ่งรัฐบาลลุงตู่ก็อยู่มาได้นานมาก ทั้งด้วยการฉกฉวยในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงเรื่องการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน จากนั้นก็อ้างการปรองดอง รวบรวมเอาบรรดานักการเมืองกเฬวรากมาตั้งพรรคเพื่อหนุนตนเองให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ ตั้งแต่ที่มีการเลือกตั้งในปี 2562 โดยอาศัยเสียง ส.ว.ที่ “ปลูกฝี” ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ทำลายโอกาสการกลับมาของพรรคเพื่อไทยที่ได้เสียง ส.ส.มากสุด เช่นเดียวกันกับภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่กีดกันพรรคก้าวไกล ด้วยการ “ตระบัดสัตย์ร่วม” อย่างที่ได้เห็นการเกิดขึ้นของรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน นี้

เมื่อพิเคราะห์ตามตำราสีต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ อายุขัยของรัฐบาลนายเศรษฐาก็น่าจะมองได้ทั้ง “อยู่สั้น - อยู่กลาง - อยู่ยาว” และ “อยู่ไม่ได้”

“อยู่สั้น” คือรัฐบาลชุดนี้อาจจะเป็นแค่ “รัฐบาลเฉพาะกาล” หรือ “รัฐบาลเฉพาะกิจ” คือมีภารกิจหลักในอันที่จะ “ถีบส่ง” พรรคก้าวไกลออกไปเสียก่อน จากนั้นนายเศรษฐาก็อาจจะมีอันเป็นไปในแบบเดียวกัน นั่นก็คือเป็นไปในแบบ “ตำราครูเขียว” ที่ทหารยังคงมีอำนาจอยู่ โดยพรรคที่ทหารครอบงำอยู่ อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะขึ้นมาแทนที่ โดยอาศัยเหตุที่นายเศรษฐามีบารมีไม่มากพอในพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำ รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็น “นายกนอมินี” ของอดีตผู้นำบางคน ซึ่งอดีตผู้นำคนนี้มี “ดีลลับ” กับกลุ่มทหาร เพื่อแลกกลับการได้กลับมาเหยียบแผ่นดินเกิด รวมถึงที่จะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ อย่างที่ได้รับมาในการลดโทษ และไม่ต้องถูกจำขังอยู่ในคุกมหันตโทษนั้น

“อยู่กลาง -อยู่ยาว” คือนายเศรษฐาไม่ถูกบีบให้ออกก่อนกำหนดในแบบอยู่สั้น แต่สามารถประคับประคองไปได้อีกระยะ แล้วนายเศรษฐาอาจจะยุบสภาหรือลาออกเอง หรือถ้าลากยาวได้ก็อยู่จนครบเทอม 4 ปี ก็เท่ากับอยู่ครบวาระ คือได้อยู่ยาวตามวาระ อันนี้อาจจะเป็นวิธีการที่ยาก เพราะนายเศรษฐาไม่น่าจะมีความสามารถถึงเพียงนั้น เว้นแต่จะมี “พลังภายใน - พลังภายนอก” ที่เข้มแข็งสนับสนุน โดยพลังภายในนั้นก็คือเสียงสนับสนุนจากพรรคต่าง ๆ ที่ยังมั่นคงเหนียวแน่น ที่นายเศรษฐาอาจจะต้องออกแรงเอาอกเอาใจและ “ตามใจ” ส.ส.ในพรรคต่าง ๆ ให้มาก ส่วนพลังภายนอกก็มีทั้งระดับล่างและระดับบน ระดับล่างก็คือมวลชน ที่นายเศรษฐาอาจจะเอาชนะใจได้ด้วยนโยบายต่าง ๆ และการสื่อสารสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชน ส่วนในระดับบน ซึ่งก็คือกลุ่มอำนาจในภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะต้องเป็นด้วย “การเข้าหา - เข้าถึง” ของนายเศรษฐาหรือ “ตัวช่วย” ต่าง ๆ ที่ยัง “หาประโยชน์ร่วมกัน” กับนายเศรษฐาและรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้นได้ แต่ถ้าหากว่าขัดแย้งกันเมื่อไหร่ก็จะบรรลัยเมื่อนั้น ซึ่งก็ต้องระมัดระวังสายตาของฝ่ายค้านและมวลชนนอกสภา ที่จับตาจ้องเป็นตาสับปะรด นั่นคือถ้าร่วมมือกันโกงกินหรือทำชั่วเมื่อไหร่ รัฐบาลนั้นก็พังได้เร็วเช่นกัน

สุดท้าย “อยู่ไม่ได้” โอกาสก็เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน นั่นคือรัฐบาลนายเศรษฐาอาจจะถูกรัฐประหาร ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนต้องออกมาตามท้องถนน แล้วรัฐบาลควบคุมไม่ได้ เช่น ประชาชนอยากรู้ว่านักโทษบางคนนอนคุกจริงหรือไม่ แต่รัฐบาลตอบไม่ได้ แล้วก็มีมวลชนอีกกลุ่มออกมาหนุนการใช้อภิสิทธิ์ของนักโทษ ซึ่งรัฐประหารสองครั้งหลังก็เกิดขึ้นด้วยการออกมา “แยกมวย” นั้นทั้งสิ้น

รัฐประหารครั้งต่อไปน่าจะเกิดด้วย “นักโทษเทวดา” กับ “มวลประชากินแกลบ” นี่กระมัง?