ทวี สุรฤทธิกุล

ขอตั้งสมมุติฐานว่าไทยจะต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตยนี้ไปอีกนาน แต่โฉมหน้าอาจจะมีการปรับเปลี่ยน ทั้งที่ไม่เหมือนกับประชาธิปไตยในสากล กับที่พยายามมีการสร้างสรรค์โดยคนรุ่นใหม่

ความจริงระบอบประธิปไตยในโลกก็มีหลากหลาย แม้แต่ในประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ก็ยังเรียกระบอบของตัวเองว่าประชาธิปไตย เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือประเทศที่มีการปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ เช่น สิงคโปร์ ก็มีการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยเช่นกัน โดยประชาธิปไตยได้รับการยอมรับว่าเป็นการปกครองที่ “เลวน้อยที่สุด” แต่ไม่ได้หมายความว่าดีที่สุด เพราะก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่อีกมาก และในหลาย ๆ ประเทศก็มีการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาให้ดีขึ้น เหมาะสมขึ้น เพื่อให้เข้ากันได้กับโลกและชีวิตยุคใหม่ ที่เราอาจจะเรียกได้ว่าทั่วโลกนี้ปกครองด้วย “ประชาธิปไตยประยุกต์” ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ประเทศไทยเมื่อครั้งที่เปลี่ยนแปงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็ปกครองด้วย “ประชาธิปไตยประยุกต์” คือแอบอ้างว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แท้จริงนั้นก็เป็นแค่ “คณาธิปไตย” คือการปกครองโดยคณะบุคคล แทนที่ระบอบกษัตริย์ที่ปกครองโดยตัวบุคคล ทั้งยังหลอกให้เชื่อด้วยว่าระบอบนี้มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ เพราะยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ

คณะบุคคลนั้นชื่อว่า “คณะราษฎร” แต่ประกอบด้วยข้าราชการทั้งสิ้น ทั้งทหารและพลเรือน โดยเข้าควบคุมอำนาจในทั้ง ๓ สถาบันของระบอบประชิปไตย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบทั้งแบบแต่งตั้งและเลือกตั้ง(โดยทางอ้อม) คณะรัฐมนตรีก็มีแต่คนของคณะราษฎร และศาลนั้นก็ต้องทำงานภายใต้กฎหมายที่คณะราษฎรเขียนขึ้น

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้ชื่อว่าเป็น “กูรู” การเมืองไทยคนหนึ่ง ได้กล่าวถึงการเมืองไทยในช่วงนั้นว่า พวกนักเรียนไทยที่ประเทศอังกฤษซึ่งตอนที่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นท่านก็เป็นนักเรียนอยู่ด้วย ได้จัดงานฉลองให้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นด้วย โดยหวังว่าประเทศไทยจะได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบประเทศมหาอำนาจที่เจริญแล้วทั้งหลายบ้าง แต่พอท่านกลับมาทำงานที่เมืองไทย ก็ได้เห็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ของคณะราษฎรและลิ่วล้อ ไม่ต่างอะไรกับพวกเจ้าและขุนนางผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งในสมัยก่อน ท่านจึงเรียกคณะราษฎรนี้ว่า “เจ้าพวกใหม่”

“ลัทธิเจ้าพวกใหม่” นี่เองที่เป็นลักษณะเด่นของ “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ”

ทุกวันนี้เราก็ยังปกครองด้วยลัทธิเจ้าพวกใหม่ อันสืบทอดมาจากดีเอ็นเอของการเมืองไทยโดยแท้ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกโดยคณะราษฎร แต่น่าจะอยู่ในสายเลือกของคนไทยมาแต่บรมกัลป์ หรือถ้าจะสืบทอดไปตั้งแต่ที่มีรัฐไทยเกิดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศจีน คืออาณาจักรน่านเจ้า เมื่อพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 1,300 กว่าปี เราก็ปกครองกันมาแบบ “ข่าน” อันเป็นวัฒนธรรมแบบหัวหน้าครอบครัวที่อยู่ในวัฒนธรรมของพวกมองโกลและทิเบต โดยมีผู้นำคนสำคัญชื่อ “ขุนบรม” ต่อมาในกลุ่มรัฐไทยในภาคเหนือก่อนที่จะมารวมตัวกันเป็นอาณาจักรสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ 18 ก็เรียกผู้ปกครองของแว่นแคว้นต่าง ๆ ว่า “ขุน” ซึ่งก็กร่อนกลายมาจากคำว่า “ข่าน” นั่นเอง

เมื่อสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นใน พ.ศ. 1762 ขุนบางกลางท่าว(หรือกลางหาว)ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็น “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ปฐมกษัตริย์ของราชอาณาจักรสุโขทัย ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์เชื่อว่า นี่คือการ “ยกฐานะ” หรือเปลี่ยนสถานภาพจากผู้ปกครองธรรมดา ที่เรียกว่า “ขุน” อย่างที่ปกครองอยู่ในแว่นแคว้นทางภาคเหนือทั้งหลายให้สูงส่งขึ้น ด้วยการเพิ่มคำว่า “พ่อ” เข้าไป นั่นคือเพิ่มระดับของ “ขุนที่เหนือขุน” ซึ่งก็คือ “พ่อขุน” นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรใหม่ คือกรุงสุโขทัยนั้นอีกด้วย

เรื่องการยกฐานะทั้งตัวผู้ปกครองและอาณาจักรนี้ต้องถือว่าเป็น “เรื่องใหญ่ - เรื่องสำคัญ” ของการปกครองในยุคนั้น ซึ่งต้องขอออกนอกเรื่องไปนอกประเทศไปอีกนิด เพราะเกี่ยวพันด้วย “รากเหง้าความเชื่อ”ของวิถีชีวิตของผู้คน ที่ส่งผลต่อรูปแบบการปกครองและวัฒนธรรมทางการเมืองที่สืบทอดกันมา

หลังจากเกษียณอายุจากราชการเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะหาความรู้ในเรื่องที่ตัวเองสนใจมาก ๆ อยู่เรื่องหนึ่ง คือการตั้งถิ่นฐานของคนไทยในดินแดนสุวรรณภูมิ เพราะเคยได้เรียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าคนในภูมิภาคนี้มีเชื้อสายสืบทอดถึงกัน “ล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องกัน” จึงหาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้มาอ่านหลายเล่ม ผลที่ได้อย่างหนึ่งก็คือความรู้ในเรื่องการปกครองหรือ “รัฐศาสตร์” ของผู้คนในภูมิภาคนี้อีกด้วย

ก่อนที่จะตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นได้ ดินแดนตั้งแต่ที่เป็นประเทศลาวและภาคเหนือลงมาจนถึงภาคกลางและภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน อยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์ขอม ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร (บริเวณปราสาทนครวัด นครธม ใกล้โตนเลสาบ หรือทะเลสาบใหญ่กลางประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) ที่ปกครองด้วยลัทธินับถือเทพเจ้าของศาสนาฮินดู ดังนั้นกษัตริย์ขอมจึงใช้ชื่อในภาษาสันสกฤตของฮินดู มาตั้งเป็นชื่อของกษัตริย์ทุกพระองค์ โดยใช้คำว่า “พระเจ้า” นำหน้า เช่น พระเจ้าอินทรวรมัน พระเจ้ายโสวรมัน และพระเจ้าชัยวรมัน เป็นต้น เป็นนัยแสดงถึงความยิ่งใหญ่ว่ากษัตริย์ของขอมนั้นมีฐานะเทียบเทียมเทพเจ้าทั้งหลาย และให้ความสำคัญมากถึงขนาดที่เมืองกษัตริย์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยังมีการสถาปนาพระนามใหม่ให้เป็นที่จดจำหรือยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น

อาณาจักรขอมเสื่อมลงเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตในกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองต่าง ๆ กระด้างกระเดื่องแยกตัวออก รวมถึงกรุงสุโขทัยนั้นด้วย โดยมีแว่นแคว้นอื่น ๆ หันมายอมรับอำนาจของกรุงสุโขทัยนี้แทน ขุนบางกลางท่าวที่ตอนนี้สถาปนาพระนามใหม่ขึ้นเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงมีฐานะเป็นพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกป้องจักรวรรดิใหม่นี้ รวมถึงที่ต่อมาพระราชโอรสคือพ่อขุนรามคำแหงเมื่อขึ้นครองราชย์ก็ประกาศให้มีการปกครองในรูปแบบใหม่ ที่นักวิชาการในยุคหลังตั้งชื่อว่า “พ่อปกครองลูก” ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ขึ้นมาแทนที่พวกขอมดังกล่าว

การปกครองแบบพ่อปกครองลูกนี้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วง พ.ศ. 2500 - 2506 ก็เคยนำมาใช้ แต่ประยุกต์ขึ้นใหม่ให้ทหารมีอำนาจเด็ดขาดแทนพ่อขุน แต่ก็เน้น “ระบบอุปถัมภ์” เป็นหลัก นักรัฐศาสตร์บางท่านจึงเรียกการปกครองแบบนี้ว่า “ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ”

นั่นก็คือ “ระบอบพ่อขุน” มีต้นแบบจากระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย แต่ต่อมาในสมัยอยุธยาได้พัฒนาเป็น “ศักดินา” กระทั่งเป็น “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ล้มล้างโดย “เจ้าพวกใหม่” และที่สุดมาเป็น “พ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ” ซึ่งจะได้เชื่อมโยงให้เห็นถึงโฉมหน้าประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน และอาจจะรวมถึง “อนาคต” ของระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นด้วย

ว่ากันว่ายุคต่อมาคือ “ธนาธิปไตย” และในทุกวันนี้คือ “เทวาธิปไตย” เป็นอย่างไรโปรดติดตาม