ทวี สุรฤทธิกุล

ประเทศไทย "ประสบภัยประชาธิปไตย" มาโดยตลอด ในขณะที่พยายามจะพัฒนาก็เจอ "หายนะ" อยู่เป็นระยะ ๆ

ในระยะนี้มักได้ยิน "วลีเด็ด" อยู่คำหนึ่งที่ชอบพูดกันมากในสภา ก็คือ "ถ้าเริ่มต้นติดกระดุมผิด เม็ดต่อไปก็จะผิดไปทั้งหมด" ก็ย้อนนึกถึงที่ได้พูดถึงในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นก็เริ่มต้นผิด เพราะบอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประชาธิปไตย แต่ความจริงแค่เปลี่ยนอำนาจ จากมือของ "เจ้าพวกเก่า" คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่มือของ "เจ้าพวกใหม่" คือคณะราษฎรที่เป็น "คณาธิปไตย"

"คณาธิปไตย" นี่แหละคือรากเหง้าของการเมืองไทย คือระบบพรรคพวกหรือ "ก๊กก๊วน" นั่นเอง

ทหารก็เป็น "ก๊กก๊วน" หนึ่งของการเมืองไทย (ในภาษาวิชาการใช้คำว่า "สถาบัน" ที่หมายถึงกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันที่ค่อนข้างเป็นทางการ เช่น โดยกฎหมาย โดยประเพณี หรือแม้กระทั่งขนบธรรมเนียมบางอย่าง) เช่นเดียวกับระบบราชการหรือสถาบันทางสังคมต่าง ๆ (เครือญาติหรือกลุ่มเพื่อนก็เป็น "ก๊กก๊วน" เช่นกัน) ซึ่งภายหลังการรัฐประหาร 2490 ทหารก็ได้สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองบางอย่างขึ้นมา นั่นคือ "ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย" ร่วมกับการพัฒนาหรือสร้างประชาธิปไตยขึ้นใหม่ อย่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะทหารในช่วง 2490 ถึง 2500 พยายามจะทำ

วัฒนธรรมผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยทำท่าจะไปด้วยดี ถ้าไม่มีการทุจริตในการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2500 ที่นำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น อันเกิดจากความร้าวฉานในคณะทหารนั่นเอง จากนั้นก็ถูกรวบอำนาจไปอยู่ในมือของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กลับไปใช้อำนาจแบบเผด็จการโดยบุคคลคนเดียว โดยนำแนวคิดย้อนยุคที่ใช้ระบบอุปถัมภ์ตั้งแต่ครั้งพ่อขุนรามคำแหง ทำให้นักวิชาการบางคนเรียกว่า "ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ" แต่ก็เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพราะทันทีที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ทหารกลุ่มที่เคยเติบโตมาในสมัยจอมพล ป. ก็กลับคืนสู่อำนาจ นำระบอบคณาธิปไตยกลับคืนมาอีก แต่เป็นคณาธิปไตยที่ทหารเริ่มขยายบทบาทไปวงการอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจ ทำให้เกิดระบอบการเมืองแบบใหม่ที่นักวิชาการเรียกว่า "ระบอบนายทุนขุนศึก" โดยมีทหารที่ทำธุรกิจนั้เป็นแกนนำ

ระบอบนายทุนขุนศึกทำให้เกิด "ทรราชย์ทหาร" เพราะต้องการผนวกทั้งความความยิ่งใหญ่ทางการเมืองเข้าด้วยกันกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นไปทั้งระบบ ร่วมกับการแสดงอำนาจบาตรใหญ่อย่างเหิมเกริม ก่อให้เกิดความคับแค้นใจในหมู่ประชาชน แม้ว่าทหารจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ในปี 2511 และเลือกตั้งในปีต่อมา แต่สภาก็อยู่ได้ไม่ครบวาระ เพราะนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ยึดอำนาจรัฐบาลของคนเองในตอนปลายปี 2514 ซึ่งก็ยิ่งเติมเชื้อไฟของความไม่พอใจให้กับประชาชนมากขึ้น กระทั่งเกิดการต่อต้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ใหญ่ ๆ ก็เช่น การเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ในตอนกลางปี 2515 ที่ กระทบคราดŽ ไปถึงการโกงกินในครอบครัวทหาร พอขึ้นต้นปี 2516 ก็เกิดกรณีเฮลิคอปเตอร์ตำรวจ(ตำรวจอีกแล้ว)ตกในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พร้อมซากสัตว์สงวนที่ถูกล่าจำนวนมาก นำมาสู่การโจมตีกลุ่มข้าราชการผู้มีอิทธิพล ที่มุ่งไปยังคณะทหารโดยตรง จากนั้นก็มีการเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญในตอนต้นเดือนตุลาคม 2516 ที่นำมาสู่การจลาจลในวันที่ 14 ตุลาคม หรือ "วันมหาวิปโยค" นั้น

ผู้เขียนเติบโตมาในยุคนี้ โดยได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมตั้งแต่ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเดินขบวนออกมาตามถนนราชดำเนินในบ่ายวันที่ 13 โชคดีที่ในเช้าวันที่ 14 ที่มีการประทะกันตรงหัวมุมพระตำหนักสวนจิตรด้านที่ติดเขาดินวนา ผู้เขียนได้แยกย้ายมาทางด้านวัดเบญจมบพิตรนั้นเสียก่อน แต่ความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นยังฝังแน่นอยู่ในชีวิตอย่างไม่รู้ลืม

ครั้งนั้นกลุ่มปัญญาชนที่เป็นแกนนำในการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่างก็นึกว่าทหารคงไม่ฟื้นคืนมาได้อีกแล้ว ดังนั้นภายหลังที่มีรัฐบาลหลังเลือกตั้งในปี 2518 ก็มีการเรียกร้องเอาจากรัฐบาลในเรื่องสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ อยู่โดยตลอด ในสภาเองก็ระหองระแหง นำไปสู่ความแตกแยกในรัฐบาล ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นฝีมือของทหารบางกลุ่มที่ต้องการกลับคืนสู่อำนาจ ที่สุดรัฐบาลก็ยุบสภาในตอนปีใหม่ 2519 และเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายนต่อมานั้น แต่สถานการณ์ทั้งนอกและในสภาก็ยังไม่สงบ โดยมีการสร้างกระแสว่ามีนักการเมืองที่เป็นคอมมิวนิสต์คอยยุแหย่อยู่เบื้องหลังการประท้วงต่าง ๆ ซึ่งมีสื่อของทหารเป็นแกนนำในการสร้างกระแสนั้น ที่สุดเมื่อนักศึกษามีการชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทหารตำรวจก็เข้าล้อมปราบนักศึกษา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในภาพจำที่สยดสยองและทุเรศสุด ๆ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น

ทหารที่ทำการยึดอำนาจในครั้งนั้นเรียกตัวเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครอง" โดยยังทำตัวเป็น "คุณแอบ" ในฐานะ "ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย" นั้นอยู่ดังเดิม ที่แรก ๆ ก็ให้พลเรือน(ที่เป็นหุ่นเชิดของทหาร)เป็นแกนนำรัฐบาล แต่ต่อมาก็ให้ทหารขึ้นเป็นรัฐบาลสืบต่อ แล้วเข้าควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยสร้างกระแสว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด เพราะจะผสาน "อำนาจเก่า" คือระบบราชการ(ที่รวมถึงทหารด้วย) เข้าด้วยกันกับ "อำนาจใหม่" คือกลุ่มนักการเมือง แต่นักวิชาการก็เรียกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 นั้นว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ที่ให้อำนาจวุฒิสภาที่มีข้าราชการเป็นสมาชิกอยู่เกือบทั้งหมดนั้น มีอำนาจเท่ากันกับสภาผู้แทนราษฎรที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง

ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญ 2521 นี่เอง ที่เป็นการ "รวมวิญญาณ" ของความเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไว้ทั้งหมด ดังที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ด้วย ซึ่งจะได้อธิบายในรายละเอียดต่อไป

แต่ก่อนอื่นต้องไม่ลืม "ธนาธิปไตย" ที่เชื่อมโยงมาถึง "เทวาธิปไตย" ในปัจจุบันนี้ ที่จะมาว่ากันต่อสัปดาห์หน้า