ทวี สุรฤทธิกุล

เมื่อเป็นประชาธิปไตยแบบสากลไม่ได้ ก็พยายามตะแบงที่จะสร้าง “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ”

ในตำรารัฐศาสตร์ไทยจะกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ว่ามีความเป็นประชาธิปไตยแบบสากลสูงมาก คือ ฉบับ พ.ศ. 2489 กับ ฉบับ พ.ศ. 2517 แต่ทั้งสองฉบับก็มีอายุสั้นมาก ๆ คือ 1 ปีเศษ และ 2 ปีเศษ ตามลำดับ โดยถูกรัฐประหารทิ้งไปทั้งหมด และยังถูกนำมาเป็นข้ออ้างอย่างหนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ว่า “ประชาธิปไตยจ๋า” อย่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ “ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย”

ช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนั้นศาสตราจารย์กระมล ทองธรรมชาติ ท่านคณบดีที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้ร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้มาบรรยายในวิชาตามหลักสูตรวิชาหนึ่ง แล้วก็ได้วกไปพูดถึงรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่(พ.ศ. 2521)นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับการเมืองการปกครองไทยมากที่สุด ซึ่งอีก 10 ปีต่อมา ผู้เขียนได้มาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ก็เป็นเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาครบ 10 ปีพอดี และยังใช้ต่อมาอีก 4 ปี จนถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 นั้น ทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดของประเทศ ซึ่งก็คงจะเป็นด้วยความเป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับ “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” นี่เอง

ผู้เขียนมามีประสบการณ์ตรงกับการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ได้ตั้งคณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตยขึ้นในรัฐบาล แล้วมอบหมายให้มหาวิทยาลัยในทุกจังหวัดร่วมทำหน้าที่ “กระตุ้น” ให้ประชาชนสนใจที่จะร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาก็ได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นในปี 2540 โดยผู้เขียนที่เป็นรองคณบดีของสาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ. ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยร่วมเป็นกรรมการในส่วนของจังหวัดนนทบุรีในทั้งสองคณะนั้นด้วย จึงได้ทราบว่าคนไทยมีความกระตือรือร้นและความรู้ความเข้าใจพอสมควรกับรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า “ตัวปัญหาของการเมืองไทย” ก็คือ “นักการเมืองไทย” อันเป็นที่มาของการตั้งองค์กรต่าง ๆ มาตรวจสอบควบคุมนักการเมือง และเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเอาผิดนักการเมืองให้มากขึ้น (เรื่องนี้น่าจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะที่แท้จริงปัญหาที่แท้จริงส่วนใหญ่เกิดจาก “กลุ่มผู้มีอำนาจ” โดยเฉพาะทหาร ที่เป็นผู้ล้มล้างประชาธิปไตยบ่อย ๆ ซึ่งเรื่องนี้กำลังจะเป็นแนวคิดใหม่ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าพรรคก้าวไกลที่เป็นผู้นำเสนอแนวคิดนี้ ถูกกีดกันออกนอกกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล)

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ได้ฉายาว่า “ฉบับประชาชน” (เพราะเน้นการมีส่วนร่วมในการร่างและให้อำนาจในการตรวจสอบควบคุมนักการเมือง)ได้กลายเป็นจำเลยของคณะรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549 โดยทหารได้กล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนสามานย์ ที่นำโดยนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในช่วงรัฐประหารนี้ ผู้เขียนที่ได้เป็นคณบดีของสาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.แล้ว ก็ได้เป็นตัวแทนในส่วนของนักวิชาการให้ไปอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 นั้นด้วย โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ชื่อว่า “ฉบับปราบมาร” เพราะมุ่งเน้นที่จะจัดการกับนายทักษิณ ที่ถูกมองว่าเป็น “มารการเมือง” นั้นโดยเฉพาะ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ใช้ได้มานานพอสมควร จนกระทั่งถูกรัฐประหารทิ้งไปในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

คณะรัฐประหาร 2557 ได้ตั้งคณะยกร่างขึ้นคณะหนึ่ง นำโดยศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่พอแล้วเสร็จในปีต่อมาก็ถูกคณะทหารปฏิเสธ แล้วให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นำคณะมาร่างขึ้นใหม่ แล้วประกาศใช้ใน พ.ศ. 2560 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน นายมีชัยเรียกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ว่า “ฉบับปราบโกง” รวมถึงที่เป็นผู้นำแนวคิดการเมืองการปกครองแบบไทย ๆ มาใช้ ตั้งแต่ตอนที่เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเสนอแนวคิด “ประชาธิปไตยรถอีแต๋น” ว่าไทยยังไม่เหมาะสมที่จะเป็นประชาธิไตยที่หรูหราแบบฝรั่ง หรือที่นายมีชัยเรียกว่า “ประชาธิปไตยรถโรลส์-รอยซ์” รวมทั้งที่นายมีชัยยังถูกขนานนามจากสื่อต่าง ๆ ว่าเป็น “เนติบริกร” หรือนักกฎหมายที่ทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจจากการเผด็จการนั้นด้วย

ผู้เขียนอยากจะเชื่อมโยงให้เห็นภาพของประชาธิปไตยไทยว่า “ขึ้นต้นจะเป็นแบบอังกฤษ แต่ดันวิปริตเป็นไทยพิสดาร” เพราะแนวคิดที่เกลียดชังแต่นักการเมืองโดยแท้ แล้วมองว่าถ้าเอาพวกข้าราชการเข้ามาผสมพันธุ์กับนักการเมือง ก็น่าจะทำให้การเมืองไทย “บริสุทธิ์ผุดผ่อง” ดีขึ้น ซึ่งผิดถนัด !

การผสมพันธุ์นักการเมืองกับข้าราชการที่เด่นชัดที่สุดเป็นครั้งแรกก็คือในรัฐธรรมนูญ 2521 ที่ให้วุฒิสภามีอำนาจเท่าเทียมและเหมือนกันกับสภาผู้แทนราษฎร รูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ “ข้าราชการผู้สะอาดบริสุทธิ์” ต้องมาเกลือกกลั้วมัวหมองกับนักการเมืองแล้ว ยังทำให้ “นักการเมืองผู้อัปลักษณ์กักขฬะ” ต้องซึมซับเอาความ “บ้าอำนาจ” มาจากข้าราชการนั้นด้วย นั่นคือนักการเมืองที่ควรรับใช้ประชาชน ได้ทำตัวไม่ผิดอะไรกับนายของประชาชน ตามแบบที่ข้าราชการเคยทำนั้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นนักการเมืองยังได้ดูดซับเอาการใช้อำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ร่วมแสวงหาผลประโยชน์จากข้าราชการที่เข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง สร้างอิทธิพลและความมั่งคั่งจากอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองต่าง ๆ นั่นมากขึ้นกว่าทุกยุคสมัย

ผู้เขียนได้เข้าไปสัมผัสการเมืองในยุคหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 อย่างเข้มข้น เพราะได้มาเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ตั้ง พ.ศ. 2523 จนถึง พ.ศ. 2528 โดยได้เป็นพรรคแกนนำในการตั้งรัฐบาลที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์ “ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวาน และขมขื่น” ของผู้นำฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร 2 คนนี้ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองในพรรคการเมืองต่างๆ กับข้าราชการที่มามีตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งในวุฒิสภาและในรัฐบาล แล้วได้เห็นว่าคนพวกนี้ได้มา “ร่วมเสวยสุข” กันสุด ๆ อย่างไร

ไว้สัปดาห์หน้ามาติดตามกันว่า ทำไมพลเอกเปรมจึงถูกยื่นฎีกาจาก 99 นักวิชาการ ส่วนหนึ่งก็เพราะ “เสวยสุข” กันจนน่าเกลียดนั้นด้วย