รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ห้องสมุดถือเป็นสถาบันหลักที่มีบทบาทและหน้าที่ให้บริหารจัดการรวบรวม อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้ ข้อมูล และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เมื่อความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ช่วยให้มนุษย์สามารถจัดการความรู้ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้ ส่งผลให้ห้องสมุดแบบดั้งเดิมได้ประโยชน์จากศักยภาพของการปฏิวัติทางดิจิทัล และคำว่า “ห้องสมุดดิจิทัล” กลายเป็นคำที่เป็นคู่เทียบกับคำว่า “ห้องสมุดแบบดั้งเดิม” ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นและคุณลักษณะที่แตกต่างหลายประการของห้องสมุดดิจิทัลกับห้องสมุดแบบดั้งเดิม ส่งผลให้ห้องสมุดดิจิทัลมีความเป็นมิตรต่อผู้ใช้บริการและสร้างผลกระทบโดยรวมมากกว่า

ห้องสมุดแบบดั้งเดิมและห้องสมุดดิจิทัลมีความแตกต่างกันในประเด็นสำคัญหลายประการ เช่น รูปแบบทรัพยากร การจัดเก็บ การเข้าถึง เทคโนโลยี และประสบการณ์ผู้ใช้ เป็นต้น การสร้างสภาพแวดล้อมห้องสมุดดิจิทัลที่เป็นมิตรและเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลางนั้นต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างการออกแบบ เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง การขอความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการจึงเป็นกุญแจสำคัญประการหนึ่งของการสร้างและส่งเสริมบรรยากาศเชิงบวกในห้องสมุดดิจิทัล

ห้องสมุดดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในสังคมความรู้โดยการสร้างความมั่งคั่งให้กับเนื้อหาที่มีการจัดเก็บอยู่แล้วในห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ และคลังความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลก และเปิดโอกาสให้ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดของโลกได้เข้าถึงความรู้และวัฒนธรรมในรูปดิจิทัลจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา การทำงาน หรือการพักผ่อน การมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติการจัดการความรู้ขึ้นใหม่ทั้งหมด

ห้องสมุดดิจิทัลคืออะไร? กล่าวง่าย ๆ ได้ว่า ห้องสมุดดิจิทัล คือแหล่งหรือพื้นที่จัดเก็บชุดของทรัพยากรดิจิทัลที่จัดระเบียบและเข้าถึงได้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทรัพยากรความรู้ดิจิทัลที่จัดเก็บครอบคลุมสื่อหลายประเภท เช่น หนังสือ วารสาร บทความ ภาพถ่าย วิดีโอ ไฟล์บันทึกเสียง เอกสารประเภทอื่น ๆ และสื่อ ทุกวันนี้ห้องสมุดดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญของภูมิทัศน์ข้อมูลสมัยใหม่ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาดิจิทัลจำนวนมหาศาลได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพเพียงปลายนิ้วสัมผัส ห้องสมุดดิจิทัลเติบโต พัฒนา และปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป

แนวคิดของห้องสมุดดิจิทัลมีการพัฒนาไปตามกาลเวลาโดยขึ้นกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นการยากที่จะระบุหรือบอกได้ว่าห้องสมุดดิจิทัลแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นที่ใดก่อน เนื่องจากวิวัฒนาการของห้องสมุดดิจิทัลเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป และกินเวลาต่อเนื่องนานหลายทศวรรษ อย่างไรก็ดีการมาถึงของห้องสมุดดิจิทัลนอกจากจะได้รับแรงผลักดันจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการเข้าถึงข้อมูลหรือความรู้ และความต้องการทรัพยากรข้อมูลดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น

การจำแนกประเภทของห้องสมุดดิจิทัมีความคาบเกี่ยวทับซ้อนกันได้  ห้องสมุดดิจิทัลอาจแบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับเนื้อหา วัตถุประสงค์ ประเภท และจุดเน้นของห้องสมุดดิจิทัล ซึ่งอาจแตกต่างกันตามความต้องการและเป้าหมายขององค์กรหรือชุมชน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่เข้าใช้บริการด้วย สำหรับตัวอย่างห้องสมุดดิจิทัลของมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกมีอยู่หลายแห่ง เช่น

1. ห้องสมุดดิจิทัลมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Digital Collections @Harvard University - https://library.
harvard.edu/digital-collections) เป็นแหล่งข้อมูลดิจิทัลที่ครอบคลุมเนื้อหาความรู้หลากหลายสาขาวิชา รวมถึงหนังสือหายาก ต้นฉบับ ภาพถ่าย แผนที่ และอื่น ๆ ที่มีคุณค่าสำหรับนักวิจัยและประชาชนทั่วไป

2. ห้องสมุดดิจิทัลมหาวิทยาลัยเยล (Yale Digital Collections @Yale University - https://collections.library.
yale.edu/)  จัดเก็บสื่อดิจิทัลหลากหลายประเภท รวมถึงหนังสือหายาก ต้นฉบับ ภาพถ่าย และอื่น ๆ  รวมถึงทรัพยากรข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า

3. ห้องสมุดดิจิทัลออกซ์ฟอร์ด (Oxford Digital Library @University of Oxford - https://digital.bodleian.ox.ac.uk/)    เป็นแหล่งสารนิเทศดิจิทัลที่จัดเก็บต้นฉบับดิจิทัล หนังสือที่พิมพ์ในยุคแรก ภาพถ่าย และเอกสารสำคัญที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสำหรับนักวิจัยและนักวิชาการ

4. พื้นที่เก็บข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Digital Repository @Stanford University - https://
library.stanford.edu/research/data-management-services/stanford-digital-repository) เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มเพื่อการอนุรักษ์และการเข้าถึงสื่อดิจิทัลที่สร้างสรรค์โดยประชาคมสแตนฟอร์ด ประกอบด้วยข้อมูลการวิจัย สิ่งพิมพ์ทางวิชาการ และคอลเลกชันดิจิทัล

มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกจะมีห้องสมุดดิจิทัลและพื้นที่เก็บข้อมูลดิจิทัลของตนเอง ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้และข้อมูลในรูปดิจิทัลที่มีคุณค่ามากสำหรับการวิจัย การศึกษา และการอนุรักษ์วัฒนธรรม ห้องสมุดดิจิทัลแต่ละแห่งจะมีจุดเน้นและ จุดแข็งในการรวบรวมทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ห้องสมุดดิจิทัลที่โดดเด่นมาจากความมุ่งมั่นที่จะทำให้ความรู้ ข้อมูล และมรดกทางวัฒนธรรมเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา (24/7) ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้

ห้องสมุดดิจิทัลจึงไม่ใช่แค่ชื่อ...แต่ยังเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ข้อมูล อารยธรรม และวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่มีคุณค่าเชิงปัจจุบันและประวัติศาสตร์ !!!