ทวี สุรฤทธิกุล

หลายครั้งคาดว่าประชาธิปไตยไทยจะเปลี่ยนโฉม แต่แล้วก็ยังวนเวียนเป็น “ประชาธิปตาย” อยู่อย่างนั้น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 เป็นอีกความหวังหนึ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับสร้าง “วัฒนธรรมเลว ๆ” อย่างหนึ่งให้กับการเมืองไทย นั่นคือการร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากการใช้อำนาจและตำแหน่งทางการเมือง ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ

หลักคิดง่าย ๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ “รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องและเป็นไปได้กับการเมืองการปกครองของไทย” (อย่างที่ผู้เขียนได้อ้างถึงคำพูดของคณะกรรมการร่างท่านหนึ่งในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน) เช่น การให้ข้าราชการเข้ามามีอำนาจอยู่ในวุฒิสภา แล้วทำหน้าที่คู่ขนานกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยในแนวคิดแบบไทย ๆ นั้น ข้าราชการคือ “อำนาจเก่า” ที่มีบทบาทและมีความสำคัญในทางการเมืองการปกครองเสมอมา ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นนักการเมือง หรือ “อำนาจใหม่” ที่เพิ่งจะเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองการปกครองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

จากคำพูดของคณะกรรมการร่างท่านนั้น ท่านบอกว่าการตัดข้าราชการออกจากระบบการเมืองดังเช่นที่ห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 คือปัญหาที่สร้างความร้าวฉานแตกแยกในการบริหารบ้านเมือง ต่อมานักการเมืองก็พาบ้านเมืองวุ่นวายหายนะ และที่สุดข้าราชการก็กลับคืนสู่อำนาจ ด้วยการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การเปิดโอกาสให้ข้าราชการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 นี้ “น่าจะ” ผสานรอยร้าวเหล่านั้นได้ดี และที่สำคัญจะได้มาช่วยกันพัฒนาทะนุบำรุงบ้านเมือง ด้วยความเชี่ยวชาญของข้าราชการ ร่วมด้วยความใกล้ชิดรู้ความต้องการของประชาชนจากนักการเมือง

การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2522 เป็นการเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าคงเป็นด้วยแนวคิดแบบไทย ๆ ที่จะได้แข่งขันกันหาเสียงแบบพวกใครพวกมัน นักการเมืองจะได้มีความสามัคคีกัน เมื่อเลือกได้เข้ามาแล้วก็ค่อยมารวมกันกันจัดรัฐบาล ซึ่งก็จะเป็นไปได้โดยง่าย เพราะไม่ต้องมีเรื่องกินใจกันที่มาจากการหาเสียงเลือกตั้ง กระนั้นพรรคการเมืองเดิม ๆ เช่น พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังใช้ชื่อพรรคนั้นหาเสียงให้กับผู้สมัคร โดยที่พรรคกิจสังคมได้คะแนนเสียงเข้ามามากที่สุด 88 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 42 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 35 ที่นั่ง แต่ในกรุงเทพฯพรรคประชาธิปัตย์เหลือเพียง 1 ที่นั่ง ให้แก่พันเอกถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคคนใหม่ ในขณะที่พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช กวาดไป 29 ที่นั่ง และอีก 2 ที่นั่งเป็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับนายเกษม ศิริสัมพันธ์ จากพรรคกิจสังคม

ทว่าพรรคใหญ่ทั้งสามพรรคก็ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าเป็นการ “หมกเม็ด” ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 นั้น ที่มีชื่อเรียกเพราะ ๆ ว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่นักการเมืองบางคนเรียกว่า “ฉบับฟันปลอม” บ้าง “ฉบับหมาเมิน” บ้าง เพราะสุดท้ายก็ได้มีการรวบรวม สส.กลุ่มต่าง ๆ ที่มีการเลือกได้เข้ามาอย่างกระจัดกระจายนั้น สนับสนุนให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ก็คือนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งมาก่อนหน้านั้น ร่วมกับตำแหน่งเลขาธิการของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือความจริงก็คือหัวหน้าคณะรัฐประหารใน พ.ศ. 2519 นั่นเอง

ความวิปริตของการเมืองจึงเกิดขึ้นในบัดดล เพราะสมาชิกวุฒิสภาที่ส่วนมากเป็นทหารได้แตกคอกัน บางส่วนยังหนุนพลเอกเกรียงศักดิ์อยู่ แต่บางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มยังเติร์กได้เปลี่ยนไปหนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่สุดก็มีการยื่นญัตติอภิปรายนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 และมีการอภิปรายในวันที่ 4 มีนาคม โดยพลเอกเกรียงศักดิ์ที่รู้ตัวแล้วว่าบารมีน้อยกว่าพลเอกเปรม ได้แถลงลาออกกลางสภา พร้อมกับบ่นน้อยใจในวาสนาของตัวเอง อันเป็นด้วยนักการเมืองได้สมคบกับทหารบางกลุ่มต้องการให้เขาพ้นจากตำแหน่ง

การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม แม้จะได้ชื่อว่าได้มาแบบ “ฟ้าบันดาล” แต่หนทางก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะเพียงอีกหนึ่งปีต่อมาก็ถูกวางแผนจะยึดอำนาจ ในวันที่ 1 เมษายน 2524 จากนายทหารกลุ่มหนึ่ง แต่ล้มเหลว จึงเรียกว่า “กบฏ 1 เมษา” รวมถึงที่มีการลอบสังหารพลเอกเปรมในค่ายทหารที่ลพบุรี และต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2529 ก็มีการคิดจะยึดอำนาจอีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน กลายเป็น “กบฏ 29 กันยา” รวมทั้งที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก 2 ครั้ง ที่พลเอกเปรมได้ชิงยุบสภาหนีการอภิปรายเสียก่อนทั้งสองครั้ง รวมถึงได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีถึง 5 ครั้ง อันแสดงถึงความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล “สว.ผสม สส.” นั้นได้อย่างขัดเจน

 ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมได้พยายามอย่างหนัก ในการช่วยพลเอกเปรมประคับประคองรัฐนาวา จนได้ฉายาตามชื่อภาพยนตร์โทรทัศน์ยอดฮิตในเวลานั้นว่า “โอชิน” ที่นางเอกต้องแบกรับภาระของครอบครัวมาตั้งแต่เด็กจนแก่ แต่แล้วก็เอาไม่อยู่ เพราะในต้นปี 2531 ก็ได้มีกลุ่มนักวิชาการจำนวน 99 คน ยื่นฎีกาเป็นแถลงการณ์ออกสื่อในทางสาธารณะว่า ขอให้พลเอกเปรมพิจารณาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 เรื่องนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้รับรู้รับเห็นมาตั้งแต่ต้น ตอนนั้นผู้เขียนพ้นหน้าที่เลขานุการของท่านแล้วตั้งแต่ที่ได้ไปทำงานราชการใน พ.ศ. 2529 แต่ยังไป ๆ มา ๆ ที่บ้านสวนพลูอยู่อย่างสม่ำเสมอ และใน พ.ศ. 2531 ก็ได้มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแล้ว ก็ได้ร่วมลงชื่อเป็น 1 ในนักวิชาการ 99 คนที่ยื่นฎีกานั้นด้วย โดยได้เป็นผู้รับนัดหมายท่านอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช และท่านอาจารย์สุขุมพันธุ์ บริพัตร แกนนำในการยื่นฎีกาให้ได้เข้าพบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ฎีกานั้นออกไปในสื่อต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

สาระของ “ฎีกา 99 นักวิชาการ” ยังมีรายละเอียดค้นหาอ่านได้ในกูเกิล สรุปว่าการปกครองโดยพลเอกเปรม(ที่สมัยนี้น่าจะเรียกว่า “ระบอบเปรม”)ได้นำ “อันตราย” มาสู่การเมืองในสถาบันต่าง ๆ ของประเทศ สมควรที่พลเอกเปรมจะต้องพิจารณาตัวเองลาออก และให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่การปกครองในแนวทาง “ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

อันตรายใดเล่าที่นักวิชาการ 99 คนนั้นมองเห็น ขอแพลม ๆ ให้รู้สักนิดก่อนว่า ก็คล้าย ๆ กับ “ระบอบประยุทธ์” ที่เพิ่งหมดอำนาจไป และกำลังเริ่มต้นใหม่กับ “ระบอบคนคุก” นำประเทศ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้

บทความชุดนี้จะจบในสัปดาห์หน้า พร้อมกับชะตากรรมของประชาธิปไตยไทยในโฉมใด ก็จะได้นำเสนอให้ทราบด้วยความระทึกใจ !