เสือตัวที่ 6

กระแสของการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ทำให้มีการแสวงหาเครื่องมือของรัฐในการกำกับสถานการณ์การแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ยังคงมีอยู่ให้อยู่ในระดับที่ไม่กระทบต่อเอกภาพและความมั่นคงของชาติ และเครื่องมือของรัฐที่จะนำมาทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ดีที่สุดก็คือ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยมาตรา 21 ระบุว่าภายในเขตพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กอ.รมน. ดำเนินการตามมาตรา 15 หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้นพร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ (ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี) ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวนให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่น   คำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้

การดำเนินการตามวรรคส่วนมาตรา 15 ที่อ้างถึงไว้ในมาตรา 21 นั้น กำหนดว่าในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไปทั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย คณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้นภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดได้ ทั้งนี้ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วไป

ท่ามกลางกระแสการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้วหันมาใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ แทนนั้น ก็เกิดสงครามความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ในพื้นที่ตะวันออกกลางอันเริ่มมาจากกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัว แล้วการตอบโต้ของอิสราเอลก็เริ่มขึ้นนายกรัฐมนตรี เบนจามินเนทันยาฮู ของอิสราเอลประกาศสงครามกับกลุ่มฮามาสด้วยปฏิบัติการตามยุทธการดาบเหล็ก (Swords of Iron) ของกองทัพอิสราเอลในครั้งนี้ ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่าปฏิบัติการปราบปรามกลุ่ม ฮามาสครั้งใดๆ เท่าที่เคยมีมาการโจมตีด้วยขีปนาวุธและกำลังทางอากาศของกองทัพอิสราเอลจึงเริ่มขึ้นอย่างหนักหน่วงจนกระทั่งกองทัพอิสราเอลได้เริ่มเปิดฉากยุทธการภาคพื้นดินโดยเคลื่อนกำลังพลทางบกเข้าไปในเขตฉนวนกาซาแล้ว หลังผู้นำอิสราเอลประกาศกล่าวว่าการต่อสู้กับกลุ่มฮามาสเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น และขบวนการฮามาสจะต้องถูกขจัดให้สิ้นซากจนหมดสิ้นไปจากโลกนี้นับเป็นการโจมตีครั้งรุนแรงที่สุด ในรอบหลายปีต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ความขัดแย้งอันยาวนานระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์กว่า 50 ปีก่อนที่ทหารอียิปต์และซีเรียโจมตีอิสราเอลในช่วงเดียวกันนี้ จนนำไปสู่สงครามยมคิปปูร์ เมื่อปี 1973 และถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจให้แก่ชาวอิสราเอลมากที่สุด 

และเมื่อมาถึงสงครามครั้งล่าสุดใน ต.ค.66 นี้ ก็มีปรากฏการณ์ลุกลามไปสู่กระแสการรวมพลังของชาวมุสลิมจำนวนหลายหมื่นรายกระจายตัวชุมนุมกันตามเมืองหลวงของจอร์แดน เยเมน เลบานอน อิรัก อิหร่าน ไปจนถึงปากีสถาน เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการโจมตีกาซ่าของอิสราเอลครั้งนี้ แม้กระทั่งในยุโรปที่มีการปลุกกระแสชาวมุสลิมชุมนุมประท้วงต่อต้านอิสราเอลและสนับสนุนพี่น้อง    ชาวมุสลิมอย่างปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์และอิสราเอลออกมาประท้วงในหลายประเทศโดยจุดที่หนักที่สุดคือในประเทศฝรั่งเศสแม้รัฐมนตรีมหาดไทยของฝรั่งเศส ออกคำสั่งห้ามกลุ่มดังกล่าวออกมาชุมนุมทั่วประเทศ เนื่องจากกังวลว่าการประท้วงของคนกลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อความสงบเรียบร้อยในสังคมก็ตาม

สงครามความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์โดยมีกลุ่มฮามาสเป็นตัวแสดงหลัก เป็นความขัดแย้งฝังรากลึกมาอย่างยาวนานจวบจนกระทั่งประทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเสาร์ที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา จนลุกลามเป็นความขัดแย้งที่ขยายไปในวงกว้างท่ามกลางความแข็งกร้าวของผู้นำอิสราเอลถึงขึ้นประกาศว่าจะลบปาเลสไตน์ออกไปจากแผนที่โลก และการเข้ามาสนับสนุนอิสราเอลของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป ในขณะเดียวกันได้สร้างกระแสความเป็นหนึ่งเดียวของชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีแนวคิดสุดโต่งว่าคนมุสลิมเป็นพี่น้องกันและหากถูกกระทำจากผู้รุกราน พวกเขาพร้อมจะออกมาร่วมกันปกป้องและต่อสู้กับศัตรูอย่างเข้มข้น ซึ่งกระแสนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนว่ารัฐไทยจะต้องพร้อมรับมือความท้าทายจากกระแสที่จะส่งผลถึงพี่น้องในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างชัดเจนและรัฐจะต้องตระหนักว่า ความท้าทายนี้ใหญ่หลวงนัก อันจะทำให้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ อาจไม่สามารถเอาชนะความท้าทายนี้ได้