ทวี สุรฤทธิกุล

ประชาธิปไตยมีหลายสายพันธุ์ ประเทศไทยก็ลองมาแล้วหลายแบบ และอาจจะต้องลองแบบใหม่ ๆ ต่อไป

ในความรู้ที่ผู้เขียนประมวลรวบรวมได้ ทั้งจากที่เรียนมาในตำราทางรัฐศาสตร์และประสบการณ์ในการสอน รวมถึงที่ได้เข้าไปมีประสบการณ์ตรงทางการเมือง ตลอดเวลาเกือบ 50 ปีนี้ มองว่าประชาธิปไตยน่าจะมี 3 สายพันธุ์หลัก ๆ เมื่อพิจารณาจาก “การใช้” ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ

สายพันธุ์แรก คือประชาธิปไตยในแนวอุดมคติ ตามแบบที่ปราชญ์โบราณตั้งแต่ที่เพลโตและอริสโตเติลได้วางรากฐานไว้ จนถึงจอห์น ล็อค และจัง จาร์ค รุซโซ ที่ได้สถาปนาขึ้นในระบบรัฐสมัยใหม่ ที่เน้นการให้เสรีภาพแก่มนุษย์ การสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม และประสิทธิภาพขององค์กรทางการเมืองทั้งหลายที่สมดุล พร้อมด้วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสิทธิอำนาจต่าง ๆ ของประชาชนให้เป็นใหญ่เสมอ

สายพันธุ์ที่สอง คือประชาธิปไตยในแนวบังคับของรัฐ โดยผู้มีอำนาจในรัฐเป็นผู้ควบคุมให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศที่ต่อสู้เพื่อเอกราชตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และเพิ่มมากขึ้นในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บางประเทศก็ลอกเลียนแบบประเทศประชาธิปไตยเก่า ๆ จนก้าวเดินไปได้ดีพอสมควร แต่หลาย ๆ ประเทศก็กลายพันธุ์จนผิดเพี้ยน เช่นเป็นสังคมนิยมหรือเผด็จการไปเลยก็มี

สายพันธุ์ที่สาม คือประชาธิปไตยลูกผสม ที่หลาย ๆ ประเทศพยายามสร้างหรือปรับปรุงขึ้น โดยพยายามที่จะหารูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศของตัวเอง รวมถึงระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เอาประชาธิปไตยมาคลุมไว้ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน หรือสังคมนิยมประชาธิปไตย ตลอดจนประเทศที่อ้างว่านี่คือประชาธิปไตย แต่ที่แท้อาจจะเป็นระบอบทหารหรือเผด็จการจำแลง อย่างประเทศไทยนี่เอง

ผู้เขียนยังชอบคำที่นักรัฐศาสตร์ในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 เรียกระบอบการปกครองของไทยนี้ว่า “อำมาตยาธิปไตย” ที่มาจากภาษาอังกฤษว่า “Bureaucratism” อันมีความหมายถึง “ข้าราชการเป็นใหญ่” คำคำนี้พอมาถึงช่วงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกับคนเสื้อเหลือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ได้ขยายความหมายรวม “คนใหญ่คนโต” ในทุก ๆ สถาบันเข้ามาด้วย อย่างที่พวกนักรัฐศาสตร์แนวพ้นสมัยใหม่ (Post - modern) เรียกว่า “Deep State” ที่นักวิชาการไทยกลุ่มหนึ่งมาแปลเป็นว่า “รัฐพันลึก” ในความหมายว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจ “ลึกลับ” สูงล้นในทุก ๆ มิติของการเมืองการปกครอง

ความจริงการที่พวกคนเสื้อแดงใช้คำว่า “อำมาตย์” เพราะต้องการที่จะ “ตีกระทบ” ว่า การเมืองไทยนั้นถูกควบคุมด้วยชนชั้นนำในหลาย ๆ วงการ โดยชนชั้นนำเหล่านี้สามารถ “เข้าถึง” สถาบันสูงสุดของสังคมไทยได้ ซึ่งในสมัยก่อนจะมีเฉพาะทหารและข้าราชการบางตำแหน่ง แต่ในสมัยตั้งแต่ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา คนที่ไม่ใช่ทหาร คือทั้งพ่อค้าและผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ก็สามารถเข้าถึงสถาบันสูงสุดได้ ที่ยุคนั้นทหารและข้าราชการในวุฒิสภามีอำนาจเท่ากันกับผู้แทนราษฎร ทำให้พ่อค้าและผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ วิ่งเข้าหาทหารและข้าราชการเหล่านั้นโดยตรง เพราะทหารและข้าราชการนี่เองที่นำตัวพ่อค้าและผู้มีอิทธิพลเข้าถึงทุก ๆ สถาบันได้ รวมถึง “การแอบอ้างสถาบัน” ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคนั้น ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในเวลาต่อมา โดยเชื่อกันว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็มีสาเหตุหนึ่งอันเกิดจากนายทุนกลุ่มตรงข้ามระบอบทักษิณ ที่เติบโตขึ้นมาตั้งแต่ยุคนั้น ได้ “ยืมมือ” กองทัพให้โค่นล้มระบอบทักษิณนั้นเสีย แต่พอเลือกตั้ง 2550 ก็ไม่มีแววว่าระบอบทักษิณนั้นจะล้มล้างไปได้ ทั้งยังขึ้นมายิ่งใหญ่อีกครั้งภายใต้ชัยชนะของน้องสาวอดีตนายกฯนักโทษหนีคดี ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 กลุ่มทุน “อำมาตย์ใหม่” เหล่านั้นก็จำต้อง “กลืนเลือด” กลับไปสวามิภักดิ์กลุ่มระบอบทักษิณ รวมถึงที่ “ระบอบประยุทธ์” ที่คิดว่าการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะสามารถกำจัดนักการเมืองชั่ว ๆ ให้หมดไปได้ แต่แล้วก็ต้อง “กลืนน้ำลาย” ยอมเอานักการเมืองชั่ว ๆ เหล่านั้นมาเป็นพวก รวมถึงที่จำยอมทอดตัวเป็นสะพานให้คนในระบอบทักษิณและพรรคการเมืองในการควบคุมของทักษิณเข้าปกครองประเทศ ในการ “โน้มคอ - กดหัว” สว.จำนวนหนึ่งเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 สิงหาคม 2566

ตอนนี้ประเทศไทยเข้ามาถึงอีกจุดหนึ่งของ “การเปลี่ยนยุค” ที่ผู้เขียนเชื่อด้วยความรู้และประสบการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ไว้ใจทหาร และอยากจะเกาะกุมอำนาจนั้นให้นานเท่านาน (ไม่เชื่อก็ลองหาคำอธิบายซิว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงต้อง “ด้านทน” ทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม) และแน่นอนทหารก็ต้องแสดงท่าทีไม่ไว้ใจพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ก็เพื่อรักษา “ความยิ่งใหญ่” ของกองทัพนั้นไว้ให้เหนือพรรคการเมือง และให้อำนาจยังคงอยู่ในมือของทหารนั้น มากกว่านักการเมืองที่ประชาชนก็ยังไม่ค่อยจะไว้วางใจ พูดง่าย ๆ ก็คือพรรคการเมืองที่อยากมีอำนาจ ก็จำเป็นจะต้องใช้นโยบายประชานิยมเพื่อมัดใจประชาชน เอาใจประชาชนเพื่อไว้ต่อสู้กับ “อำนาจเก่า” (ภาษารัฐศาสตร์เรียกอำนาจเก่านี้ว่า “อำนาจเชิงสถาบัน” ที่ครอบงำโครงสร้างทุกส่วนทางการเมืองเอาไว้ ส่วนอำนาจใหม่ที่เกิดจากพลังของประชาชนก็คือ “อำนาจเชิงกระบวนการ” ที่เกิดขึ้นตามกระแสหรือสภาวการณ์ทางการเมืองที่ประทุอยู่เป็นระยะ ๆ) ในขณะที่กลุ่มอำมาตย์ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งราชการและนอกระบบราชการ ก็ต้องพยายามรักษาภาพลักษณ์ให้น่าเชื่อถือว่าเป็นฝ่าย “ธรรมะ” ที่คอยปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ทำนองเดียวกันกับปรากฏการณ์ “เบื่อลุง” และชัยชนะของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก็แสดงถึงพลังของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับพลังของคนรุ่นใหม่ โดยออกมาในแนวที่สื่อต่าง ๆ นำเสนอว่าเป็นการต่อสู้ของฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายประชาธิปไตย ก็ย่อมชี้ชัดพอสมควรว่าอนาคตของประเทศไทยคงจะต้องเปลี่ยนมือไปสู่มือคนรุ่นใหม่อย่างแน่นอน เพราะพลังของฝ่ายอนุรักษ์ที่เกาะกุมไว้โดยพวกชนชั้นสูงน่าจะอ่อนกำลังลง จากการที่ได้ไปร่วมกัน “ทำมาหากิน” กับกลุ่มทุนสามานย์ อย่างระบอบทักษิณนั้น ท่ามกลางความสั่นคลอนของสถาบันที่สำคัญ ที่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากพลังของคนรุ่นใหม่ ทั้งที่แสดงออกกันบนดินและที่แสดงออกกันใต้ดิน ก็กำลังแสดงผลออกมาในอนาคตอันไม่ไกลนี้

การแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ก็คือ “ปาหี่” ที่ทั้งฝ่ายนักการเมืองในรัฐสภากับพวกอำมาตย์ในส่วนต่าง ๆ ของสังคม พยายามจะใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของพวกเขานั้นไว้ต่อไป อีกทั้งยังเชื่อว่าการรัฐประหารยังจะต้องมีขึ้นอีก เพราะการรัฐประหารยังเป็น “เครื่องมือง่าย ๆ” เพียงอย่างเดียว ที่จะสู้กับพลังของประชาชน เพื่อปิดโอกาสไม่ให้ประชาชนเข้าไปทำ “รัฐธรรมนูญฉบับเพื่อประชาชน” นั้นได้

ตราบใดที่รัฐธรรมนูญของไทยยังเป็นรัฐธรรมนูญของชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจ จะกี่ชาติ ๆ เราก็จะยังคงปกครองโดยระบอบอำมาตยาธิปไตยไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ คงไม่มีวันที่จะเป็นประชาธิปไตยขึ้นได้