เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หากจบไว รัฐบาลก็อาจจะต้องไปไว!?
 

 ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่แม้รัฐบาลจะประกาศพันธสัญญา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นับแต่พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วมาจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่เป็นศัตรูทางการเมือง จัดตั้งรัฐบาลจนป่านนี้ ก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้าไปกว่า คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 
 

 แม้หัวเรือใหญ่อย่าง เสี่ยอ้วนภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ จะยืนยันว่าการทำงานมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งสองอนุกรรมการทั้งรับฟังความคิดเห็น และคณะกรรมการด้านกฎหมาย ก็ทำงานคืบหน้าไปมาก และขณะนี้ได้ประสาน กับทางคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา เพื่อให้ออกแบบสอบถามสมาชิกวุฒิสภาทุกคนเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่างๆที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และทาง  นิกร จำนง ในฐานะโฆษกของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ที่ได้ไปหารือกับ  พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ได้มีการไปสอบถามความคิดเห็นของ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึงจะมีการไปสอบถามความคิดเห็นของภาคสังคม นักศึกษาและภาคประชาชน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแผนแล้ว


   อย่างไรก็ตาม มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ในปีกของสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องเผชิญกับการหักเหลี่ยมเฉือนคม สังเกตได้จากท่าทีของวิปรัฐบาลที่กลับลำ 360 องศา สกัดญัตติประชามติ


    อดิศร เพียงเกต ประธานวิปรัฐบาล แถลงผลการประชุมวิปรัฐบาลล่าสุด ว่าจะเลื่อนวาระการพิจารณาญัตติเกี่ยวกับการทำประชามติ ออกไปก่อน โดยจะเลื่อนระเบียบวาระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชน เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ดิน เรื่องลิง เรื่องช้างขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากเห็นว่า ซ้ำซ้อนกับรัฐบาลที่กำลังทำงานอยู่ โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 
   ขณะที่ไอติมพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาคัดค้านว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนระเบียบวาระอื่นเข้ามาแทรก สามารถดำเนินการตามระเบียบวาระเดิมได้ โดยการเสนอทำประชามติ สามารถเสนอได้ผ่าน 3 กลไกคู่ขนานกัน คือ รัฐบาลเป็นเริ่มผู้ริเริ่มการดำเนินการ หรือให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อ หรือ สส. เป็นผู้เสนอ โดยผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา


 ทว่า ที่สุดเกมพลิกอีกรอบ เมื่อวิปรัฐบาลกลับลำ แผนซ้อนแผนปล่อยให้ พิจารณาญัตติประชามติตามที่ ก้าวไกลต้องการ แต่นัดแนะกันโหวตคว่ำแทน 
   

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรัฐบาล พรรคเพื่อไทย จะต้องการคุมเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญในอยู่ในการควบคุม ไม่ต้องการปัจจัยแทรกซ้อน ทั้งเรื่องไทม์ไลน์ และเนื้อหาสาระในการแก้ไข 


   ที่สำคัญ คือ ลากยาวไปให้ไกลที่สุด อย่างน้อยก็ให้สว.ชุดนี้ พ้นวาระในปีหน้า