ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลจุดพลุเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้มีผลยกเลิกคดีชุมนุมทางการเมืองที่เกิดตั้งแต่ปี 2549 ถึง ปี 2557
 
โดยให้เหตุผลว่า การนิรโทษกรรมเป็นหนทางที่จะถอนฝืนออกจากกองไฟ หยุดนิติสงคราม เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นสร้างความยุติธรรม และความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป
 
ต่อมา ภาหลังมีข่าวศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บรรดาแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากกรณีปิดสนามบิน 2551 เรียกว่าเป็นข่าวทีสะเทือนใจ ขั้วค่ายการเมืองอีกฝั่งอย่างรุนแรง 
 
มีเสียงของ  วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งดำเนินการนิรโทษกรรมผ่านเพจเฟซบุ๊ก ด้วยรู้สึกสะเทือนใจต่อชะตากรรมของบรรดาแกนนำพันธมิตร 
  
กลุ่มยึดอำนาจรัฐได้รับการนิรโทษกรรม แต่กลุ่มประชาชน ต้องรับเวรกรรมอยู่ 

 จากนั้น ยังได้แสดงความคิดเห็นอีกว่า นโยบายปรองดองของรัฐบาล ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการสร้างความปรองดอง และยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งที่รัฐบาลนี้ประกาศว่าเป็นรัฐบาลสลายขั้ว สลายสี สลายความขัดแย้ง แท้ที่จริงแล้วเป็นการสลายความขัดแย้งของกลุ่มผู้มีอำนาจเท่านั้นเอง แปลว่าผู้มีอำนาจและพรรคการเมืองต่างๆ สลายความขัดแย้ง แล้วไปมีอำนาจร่วมกัน ไม่ได้มองถึงความขัดแย้งจริงๆ        พร้อมจี้ให้เร่งออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม  โดยมองว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลขยับตัวอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในขณะที่ฝ่ายค้านขยับแล้ว
         
 ขณะที่ ไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแนะให้นิรโทษกรรมทุกหมู่เหล่า เพื่อปิดฉากความขัดแย้ง 50 ปี โดยควรครอบคลุม มีผลถึงบุคคลดังต่อไปนี้ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  กลุ่มนปช.  กลุ่มกปปส. กลุ่มเด็กเยาวชน คนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่อยู่ในประเทศและ ในประเทศเพื่อนบ้าน ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และความผิดเกี่ยวข้องกับการเมือง ถึงเวลาที่จะนิรโทษกรรม ให้กับทุกคน รวมไปถึงผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้น ที่เป็นคดีล้มละลายหรือคดีแพ่งด้วย
 
เมื่อหันมาดูท่าทีของรัฐบาล ผ่าน อดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล มองว่า เรื่องนิรโทษกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทางรัฐบาลอาจจะมีความคิดที่จะเสนอกฎหมายประกบ สำหรับตนก็มีนิรโทษกรรมเหมือนกันตั้งแต่ยุคสมัยที่ต่อสู้ แต่ฝ่ายรัฐประหารเมื่อปฏิวัติเสร็จก็นิรโทษกรรมตัวเอง แต่ละพรรคก็มีความคิดเห็นตรงกันว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสม และคาดว่าสมัยหน้าคงจะมีการนำเรื่องนิรโทษกรรมเข้ามาพิจารณา ซึ่งในสมัยนี้คงไม่ทัน
  
 ส่วนที่ พรรคก้าวไกลเหมือนจะรวมมาตรา 112 ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น อดิศร  ยืนยันว่ามองตรงข้ามกันอยู่แล้วถึงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันไม่ได้ เพราะมาตรา 112 เราไม่แตะอยู่แล้ว
  
 กระนั้น เมื่อมองจากท่าทีของ อดิศรที่รัฐบาลอาจเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมประกบ บนปมร้อนๆที่ต้องเลี่ยปัญหา ลูบหน้าปะจมูก กับคนบนชั้น 14  และเพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไข ที่ทำให้เดินเข้าสู่กับดัก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 
   
 เรื่องนิรโทษกรรม จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง แม้พรรคก้าวไกล จะพยายามทอดสะพานให้แต่ที่สุดแล้ว จะต้องเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองต้องเห็นร่วมกัน ไม่ใช่เพียงเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล