ทวี สุรฤทธิกุล

ประชาธิปไตยแนวอุดมคติที่มีมากว่า 200 ปี ต้องมาพังเพราะประชานิยม ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคมิลเลนเนียมนี้

นักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า ประชาธิปไตยสมัยใหม่ในแนวอุดมคติคือประชาธิปไตยตามแนวคิดของจอห์น ล็อค ปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้เชื่อมั่นในเรื่อง “เสรีภาพและความเสมอภาค” ว่าจะทำให้สังคมก้าวหน้า น่าอยู่และมีความเข้มแข็ง ดังที่บรรดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาได้นำแนวคิดนี้มาสร้างประเทศ รวมทั้งที่ได้นำคำพูดส่วนหนึ่งของจอห์น ล็อค บรรจุไว้เป็นหลักของรัฐธรรมนูญอเมริกันนั้นด้วย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงประชาธิปไตยของสหรัฐก็ถูกท้าทายด้วยลัทธิการเมืองแบบใหม่ นั่นก็คือสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียตรัสเซีย พร้อมกับการเกิดขึ้นของคอมมิวนิสต์จีน ถึงขนาดที่ทั้งสองประเทศคอมมิวนิสต์นี้ได้เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง และเป็น “1 ใน 5” ของมหาอำนาจในสหประชาชาติ (อีก 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศในค่ายประชาธิปไตย) จากนั้นโลกก็แบ่งเป็น 2 ขั้ว คือขั้วสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กับขั้วเสรีประชาธิปไตย เกิดยุคที่มีความขัดแย้งของระบอบการเมืองการการปกครอง ที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “สงครามเย็น” กระทั่งในปี ค.ศ. 1990 ที่สหภาพโซเวียตรัสเซียแตกออกเป็นหลายเสี่ยง อันเนื่องด้วยประเทศที่เคยอยู่ในการคุ้มครองของโซเวียตแยกตัวออกไป โลกเราก็สิ้นสุดยุคสงครามเย็น ที่ประเทศทั้งสองกลุ่มยุติการต่อสู้ทางอุดมการณ์ แต่ต้องหันกลับเข้าไปต่อสู้กับประชาชนของตนเองในประเทศ ที่นักรัฐศาสตร์บอกว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุค “Popularism” หรือ “ประชานิยม”

เรื่อง Popularism นี้คงเป็นเรื่องใหญ่ของการเมืองการปกครองในยุคปัจจุบันนี้ ถึงขนาดที่เวทีทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน ( American Political Science Association : APSA ) ได้จัดประชุมในเรื่องนี้ขึ้นในการประชุมประจำปี เมื่อเดือนต้นสิงหาคม ค.ศ. 2018 เป็นเวลา 1

สัปดาห์ ที่กรุงวอชิงตันดีซี โดยมีนักวิชาการจากทั่วโลกเข้าร่วมหลายพันคน ใช้โรงแรมเป็นที่จัดประชุมถึง 2 โรงแรม มีหัวข้อการวิจัยและการนำเสนอผลงานด้านรัฐศาสตร์กว่า 500 เรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าเน้นในเรื่องที่เกี่ยวกับ Popularism นี้ทั้งสิ้น (ท่านที่สนใจสามารถเข้าเว็บไซต์ของ APSA และค้นข้อมูลย้อนหลังได้)

ครั้งนั้นผู้เขียนก็ได้ไปร่วมประชุมด้วย โดยได้เจอนักวิชาการไทยจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วยบางคน ซึ่งบางคนก็ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์แต่มีความสนใจในเรื่องแนวโน้มใหม่ของการเมืองการปกครองของโลก

เช่นเดียวกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงผู้ที่สนใจในวิชาการด้านนี้จากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงที่เดินทางมาแบบส่วนตัว ก็มาร่วมประชุมและ “ช็อปปิ้งทางวิชาการ” แบบนี้เป็นจำนวนมาก (ที่เรียกว่า “ช็อปปิ้งทางวิชาการ” ก็เพราะว่าในงานบางชิ้นที่มีการนำเสนอหรือตีพิมพ์ ถ้าผู้สนใจอยากได้ข้อมูลในรายละเอียด หรือข้อมูลอื่น ๆ ให้นักวิจัยดำเนินการเพิ่มเติม ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายตามแต่จะตกลงกันนั้น)

ผู้เขียนได้เคยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสาระในการประชุมครั้งนั้นไปบ้างแล้ว ทั้งที่นำมาเขียนในบทความนี้ และที่ได้ไปบรรยายให้นักศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ

ตั้งแต่ที่ได้กลับมาจากการประชุม เพียงแต่ว่าได้เน้นหนักไปในเรื่องของ Digital Politics เกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จำพวก Data Science , Internet และ Social Media ซึ่งบรรดานักประชานิยมใช้ในการทำงานทางการเมือง แต่พอมาเห็นการเมืองไทยในขณะนี้ที่ก็กำลังก้าวไปในแนวทางนั้น ก็เกิดความคิดเชื่อมโยงขึ้นมาว่ายังไม่ได้พูดถึงประชานิยมในประเทศไทยอย่างละเอียด โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับ “พัฒนาการของประชานิยมในประชาธิปไตยสมัยใหม่”

ในการสัมมนาของ APSA เมื่อปี 2018 เมื่อผู้เขียนได้กลับมานั่งทบทวนอ่านงานวิจัยบางชิ้นที่มีผู้นำเสนอในครั้งนั้นย้อนหลัง ก็พบงานอยู่ 2-3 ชิ้นที่กล่าวถึงประชานิยมของประเทศไทย (ความจริงอาจจะมีมากกว่านั้น แต่ด้วยเวลา ความสามารถ และความพยายามที่จำกัด จึงเอามาวิเคราะห์เฉพาะที่หาได้ตามข้อจำกัดนั้น) ทุกชิ้นกล่าวคล้าย ๆ กันว่า ประชานิยมเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2001 (พ.ศ. 2544) และได้ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะก่อให้เกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง (19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557) เพื่อลดอิทธิพลของระบอบทักษิณอันเกิดจากนโยบายประชานิยมดังกล่าว

ตรงนี้เราต้องมาหยุดวิเคราะห์กันก่อนว่า “เป็นความจริง” ไปทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ด้วยคนหนึ่ง ทั้งยังได้เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในบรรยากาศของเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ นั้นมาโดยตลอด ก็อยากจะเสริมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในทางวิชาการนั้นบ้างตามสมควร ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเห็นว่าเรื่องนี้กำลังมีความสำคัญต่ออนาคตของการเมืองการปกครองไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ “มุมมองที่บิดเบี้ยว” หลายเรื่อง ๆ ทั้งจากสายตาของนักการเมืองรุ่นใหม่ ๆ และสื่อต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน ที่อาจจะยังขาดข้อมูลที่จะทำให้มุมมองที่บิดเบี้ยวเหล่านั้นได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น

ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่ทั้งการตอบโต้กันของนักการเมืองและวิพากษ์วิจารณืกันในสื่อต่าง ๆ ดูจะให้น้ำหนักไปในทางเศรษฐศาสตร์และการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องความเหมาะสมที่จะทำนโยบาย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ(การเงินการคลังของประเทศ) ความเป็นไปได้และกลไกในการบริหารจัดการ ทั้งที่ความจริงแล้วนโยบายประชานิยมแบบนี้แต่ไหนแต่ไรนั้น เป็นเรื่องที่เป็น “การเมือง” มาก ๆ

ท่านที่รักพรรคเพื่อไทยก็ดี(หรือคนที่รักทักษิณนั่นแหละ) หรือคนที่เกลียดพรรคเพื่อไทยก็ดี(ที่ก็เป็นเพราะเกลียดทักษิณนั้นด้วย) ถ้าได้ติดตามบทความชุดนี้ที่อาจจะต้องใช้พื้นที่สัก 2-3 สัปดาห์ ก็พอที่จะคิดต่อไปได้ว่าจะรักจะเกลียดพรรคนี้ต่อไปดีหรือไม่ แต่ที่สำคัญที่บทความชุดนี้จะเป็นประโยชน์ได้มากกว่าก็คือ ประชานิยมนี้เหมาะสมกับการเมืองสมัยใหม่หรือไม่ และถ้าจะทำให้ดี มีความยั่งยืน และไม่ทำลายชาติหรือสังคมส่วนรวมจะต้องทำอย่างไร

เรามาหาคำตอบร่วมกันจากงานวิจัยของนักวิชาการทั่วโลกที่กำลัง “ขบคิด” กันอย่างหนักในเรื่องนี้ !