พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ หากถามว่าคนไทยในอเมริกามีความตื่นตัวกันมากขนาดไหนกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 ก็ต้องตอบว่า เช่นเดียวกับการเลือกตั้งใหญ่และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐทุกๆ ครั้งที่คนไทยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งฯ ตื่นตัวกันน้อย อาจน้อยเหมือนคนอเมริกันโดยทั่วไป เพราะกฎหมายอเมริกันไม่บังคับกะเกณฑ์หรือมีเงื่อนไขใดๆ ที่เป็นบทลงโทษคนที่ไม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นอกเหนือไปจากความคิดแบบเดียวกับคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ว่า ไม่ว่าอเมริกาจะได้ใครมาเป็นผู้นำประเทศก็ตาม อเมริกาก็จะยังเหมือนเดิม เพราะการขับเคลื่อนองคาพยพของประเทศขนาดใหญ่ขนาดประชากรมากว่า 300 ล้านคนแห่งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย สังคมอเมริกันและสังคมต่างด้าวในอเมริกาล้วนตระหนักดีว่า บ่อยครั้งที่นโยบายการหาเสียงการปฏิบัติจริง เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ดังการหลอกลวงของรัฐบาลโอบามาเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายต่างด้าว (immigration reform) ที่เขาเคยประกาศเมื่อช่วงหาเสียงว่าจะทำ แต่แล้วก็ทำไม่ได้ จนสร้างความผิดหวังให้ชาวโรบินฮู๊ดจำนวนมากทั่วอเมริกา โดยเฉพาะฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครตอย่างฐานเสียง “ฮีสแปนิกส์”(Hispanics) หรือลาติโน (Latino) อันได้แก่ กล่มคนที่พูดภาษาสเปนในอเมริกาที่รอการปลดปล่อยนานมานานแสนนาน คนเหล่านี้ต่างทุกข์ทรมานกับใช้ชีวิตในอเมริกา เพราะเป็นแรงงงานไร้เอกสารหรือก็คือ แรงงานเถื่อนนั่นเอง มากไปกว่านั้นแรงงานเหล่านี้ ยังมีปัญหาในเรื่องความทารุณทางจิตใจอย่างสาหัส ครอบครัวต้องแตกแยกกันไปคนละทิศละทาง พ่อแม่ลูกแยกกันอยู่กันคนละประเทศที่มีสภาพแวดล้อมต่างๆนานา เพราะโดนตม.อเมริกันส่งตัวกลับมาตุภูมิ เฉพาะในส่วนของคนไทยในอเมริกานั้นกล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้ที่อาศัยอยู่ในอเมริกา ในส่วนของอเมริกาฝั่งตะวันออกนั้น หัวเมืองสำคัญที่คนไทยอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ได้แก่ นิวยอร์คและชิคาโก ขณะที่หัวเมืองสำคัญทางฝั่งตะวันตก ได้แก่ ลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะแอล.เอ. เป็นเมืองที่คนไทยอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุด แน่นอนว่าในหาเสียงของนักการเมือง 2 ค่าย คือ เดโมแครตและรีพับลิกันต่างพยายามที่จะเข้าถึงตัวผู้มีสิทธิ์ลือกตั้งที่เป็นคนไทยเหล่านี้ ซึ่งเท่าที่ประเมินดูจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกครั้ง ชนกลุ่มน้อยคนไทยส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงไปยังพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะในเขตเอล.เอ.และพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีความน่าสนใจมากที่สุด เนื่องจากพรรคเดโมแครตเองมีตัวแทนในระดับท้องถิ่น เช่น ระดับเขตเลือกตั้ง ระดับเมือง เป็นต้น ที่เป็นชนกลุ่มน้อยด้วยกันอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ในส่วนของตัวแทนของคนไทยจะมีน้อย (ส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อชาติจีน หรือเวียดนามหรือเชื้อสายเอเชียชาติอื่นๆ เสียมากกว่า) แต่ความเข้าใจในความเป็นหัวอกเดียวกันในความเป็นคนกลุ่มน้อยก็ย่อมมีมากกว่าคนอเมริกันเชื้อสายอื่น ดังนั้น โอกาสจึงเปิดให้พรรคเดโมแครตมีสิทธิ์ลุ้นชัยชนะจากคะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้ได้มากกว่าพรรครีพับลิกันที่มีฐานเสียงในระดับท้องถิ่นน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งปี 2016 นี้ หากพิจารณาจากเสียงของชนกลุ่มน้อยก็ไม่ได้ถือว่า เป็นหมูสำหรับพรรคเดโมแครตเสียทีเดียว โอกาสที่เสียงของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะสวิงไปยังรีพับลิกันก็มีสูง สาเหตุจากความไม่สามารถทำได้ของนโยบายโอบามาทั้งการปฏิรูปต่างด้าวและโอบามาแคร์หรือนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติของรัฐบาลโอบามา ความดีแต่โม้อย่างเดียวของประธานาธิบดีโอบามา ทำให้พรรคเดโมแครตเสื่อมมนต์ขลังสำหรับชนต่างด้าวในอเมริกาลงไปเยอะ และสำหรับคนไทยในอเมริกาจำนวนมากก็เช่นเดียว แม้ทุกคนจะรู้ดีว่าคำว่า “เปลี่ยนแปลง” ในอเมริกา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะองคาพยพทางการเมืองของอเมริกันนั้นใหญ่มากเกินกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้งจะสามารถกำหนดได้ ระบบที่มั่นคงและลงตัวเสมือนเป็นตัวบล็อกไม่ให้กลไกแห่งการเปลี่ยนแปลงทำงานได้อย่างที่นักการเมืองระดับผู้นำต้องการ มันหมายความว่าระบบการเมืองของอเมริกันเองในเวลานี้ ไม่สามารถทำให้เจตจำนงของประชาชนอเมริกันเป็นจริงได้ทั้งหมด การหาเสียงของนักการเมืองเมริกัน เป็นเรื่องของการโกหกพกลมมากขึ้น การดุลอำนาจกันในสภาฯ และการดุลอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองอเมริกันกำลังก่อให้เกิดความเฉื่อยชาและล่าช้าแห่งนโยบายของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งพลเมืองอเมริกันจำนวนมากมองว่า นี่คือการเล่นเกมทางการเมืองของนักการเมืองอย่างน่าเบื่อหน่ายท่ามกลางระบบที่มั่นคงและลงตัวดังกล่าว ขณะเดียวกันการที่ระบุว่าชนกลุ่มน้อยเทเสียงไปที่เดโมแครตนั้นว่าไปแล้ว ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้เสมอไป ในเมื่อความเบื่อหน่ายต่อนโยบายเศรษฐกิจของพรรคนี้ในช่วงของรัฐบาลโอบามาไม่ได้สะท้อนว่าพวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทางเลือกในการเลือกพรรครีพับลิกันก็กลับกลายเป็นทางเลือกหนึ่งของพวกเขาโดยปริยาย คนไทยที่แอล.เอ.หลายคนคาดที่จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการทำมาหากินภายหลังความเฉื่อยชาของโอบามามา 8 ปี ที่เขาบอกว่า ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น และหากเขาเกิดไปโหวตให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ มันก็ไม่ต่างจากการแทงหวย ไม่ถูกก็ผิด สองอย่างเท่านั้น ในเมื่อการเมืองแบบเดิมๆ ที่ผ่านมา ไม่อาจให้ความหวังได้มากไปกว่านี้ในเรื่องปากเรื่องท้อง นี่ยังไม่รวมปัญหาอิมมิเกรชั่นแบคล็อก (Immigration Backlog) หรืองานต่างด้าวของหน่วยงาน USCIS ที่ล้นหลาม จนไม่สามารถทำให้อยู่ในกรอบเวลาที่กำหนดได้ เป็นปัญหาโลกแตก แก้ไม่ตกของทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคใดก็ตาม ก็ในเมื่อแต่ละปีมีต่างด้าวเข้าเมืองอเมริกากันจำนวนมาก แถมตัวเลขก็ควบคุมได้ยากอีกด้วย สภาพความอึดอัดนี้มีต่อพลเมืองอเมริกันจำนวนมาก จนทรัมป์นำมาเป็นจุดขายในการหาเสียงของเขา ไม่รวมถึงความเสี่ยงในการก่อการร้ายนานาชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมืองในอเมริกา อย่าไรก็ตาม ชุมชนไทยในอเมริกาน่าจะเป็นชุมชนกลุ่มน้อยที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาภายในของรัฐอเมริกันน้อยที่สุด หากเทียบกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ คนในชุมชนยังคงลื่นไหลและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับพลเมืองและรัฐบาลอเมริกัน ปฏิกิริยาต่อการเลือกตั้ง 2016 จึงเป็นปฏิกิริยาตามปกติแบบที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งใหญ่ทุกๆ ครั้ง คือภาวะแห่งความเฉื่อยเนือยไม่รู้ทุกข์รู้ร้อนตามปกติ ประกอบกับเครื่องมือและผู้คนที่เข้ามาจูงใจ กระตุ้นให้ออกไปใช้สิทธิ์ในปีนี้ก็แทบไม่มี ต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่มีองค์กร non profit ของชาวเอเชียมารณรงค์ให้ออกไปใช้สิทธิ์กันอยู่บ้าง รวมถึงการพูดถึงนโยบายและผลกระทบของนโยบายของแคนดิเดททั้งสองพรรค