เสือตัวที่ 6

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปย่อมเป็นปัจจัยให้ขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐที่มีกลุ่ม BRN เป็นตัวการหลัก ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การต่อสู้ใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้นเพื่อให้เป้าหมายทางยุทธศาสตร์การต่อสู้ของพวกเขาอันยาวนานนั้นบรรลุผลสุดท้ายในที่สุด ซึ่งนั่นก็คือความเป็นอิสระในการปกครองกันเองของกลุ่มคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างสมบูรณ์ ด้วยกระบวนการกลืนกินทีละขั้นทีละตอนอย่างเป็นระบบเพื่อให้สู้ความเป็นอิสรภาพในการปกครองกันเองของพวกเขาให้จงได้ และถึงห้วงเวลานี้ ก็เห็นได้ชัดว่า กลุ่มคนที่มีแนวโน้มสูงว่าน่าจะเป็นแนวร่วมขบวนการแห่งนี้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ หากแต่ว่าการกระทำเหล่านั้นล้วนสอดประสานกันอย่างกลมกลืน คืบคลาน เอื้อประโยชน์ในการขับเคลื่อนการต่อสู้ต่อกลุ่มขบวนการ BRN ที่พุ่งเป้าไปสู่อิสรภาพในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด อันเป็นการรุกทางการเมืองอย่างน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง

ห้วงเวลานี้ เป็นจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่ขบวนการ BRN เปิดเกมรุกทางการเมืองอย่างรุนแรงต่อรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ยังติดยึดกระบวนการต่อสู้ตามระบบราชการและติดกับดักของนักวิชาการของหน่วยงานของรัฐอย่างเหนียวแน่น นโยบายและแนวคิดการแก้ปัญหาปลายด้ามขวานแห่งนี้ จึงเป็นนโยบายที่ไม่สามารถผลิตชุดความคิดใหม่ๆ ออกมาต่อสู้กับชุดความคิดและกระบวนการต่อสู้ของกลุ่มนักคิดและคนระดับนำของขบวนการ ตลอดจนแนวร่วมของขบวนการทั้งหลายได้อย่างทันท่วงทีและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาทิเช่น (ร่าง) นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2564-2566 ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จนถึงวันนี้ปลายปี 2566 ก็ยังคงเป็นเพียงร่างนโยบาย ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา หรือ การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า  การที่ความสัมพันธ์ในลักษณะต่างคนต่างอยู่ ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และมีความหวาดระแวงระหว่างกันนั้น มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการอพยพย้ายถิ่นออกไปนอกพื้นที่มากขึ้น   ทำให้สัดส่วนของประชากรในพื้นที่มีแนวโน้มไปสู่สังคมเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่คับแคบเกินไป เพราะการเป็นสังคมเชิงเดี่ยวนั้น เกิดจากการปลุกระดมปลุกปั่น หล่อหลอมกล่อมเกลาคนในพื้นที่ให้มีความเห็นต่าง จนถึงขั้นแปลกแยกแตกต่าง และเกลียดชังคนต่างความคิดในที่สุด

หรือการอ้างถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่ การบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2564-2566 ของ สมช. เห็นว่า กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ใช้ความรุนแรง ต่อสู้ด้วยอาวุธกับคนเห็นต่างนั้น มีสาเหตุมาจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จนกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการก่อเหตุ ทั้งที่จริงแล้ว ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐเกือบทั้งหมดทุกภาคส่วนในพื้นที่ ล้วนเป็นพี่น้องมุสลิมที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี หากแต่กลุ่มขบวนการ BRN ยังคงใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับรัฐ ก็จะเป็นเงื่อนไขอื่น เช่น การสร้างแนวคิดผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล ที่กล่าวอ้างว่าบรรพบุรุษของพวกเขาในที่พื้นที่ถูกกระทำจากคนต่างความเชื่ออย่างทารุณและไม่เป็นธรรม ประกอบกับการกล่าวอ้างถึงชาติพันธุ์อันยิ่งใหญ่ แต่ถูกคนต่างความเชื่อกดทับและยึดครองอิสรภาพของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งคนในปัจจุบัน จะต้องต่อสู้ทุกวิถีทาง และถือเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือการมีนโยบายมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กฎหมายพิเศษในพื้นที่ และหลักสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการหนุนเสริมให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมนั้นก็มีความเลื่อนลอย หาความเป็นรูปธรรมในการนำไปใช้ที่เป็นจริงได้

เมื่อการวิเคราะห์เงื่อนไขอันเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งไม่ครอบคลุมทุกมิติในวงกว้าง จึงทำให้การวางนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2564-2566 ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร การกำหนดทิศทางการดำเนินงานจึงเป็นลักษณะของการเขียนงานทางวิชาการของหน่วยราชการโดยทั่วไป ซึ่งไม่มีผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติได้จริง ด้วยขาดชีวิตชีวาในการดำเนินงานอย่างลุ่มลึก ในขณะที่ฝ่ายขบวนการ BRN กลับมีนักคิดที่ไม่ต้องยึดติดกับระบบคิดอย่างราชการ อิสระทางความคิดและอยู่กับความเป็นจริง จึงสามารถผลิตชุดความคิด และกระบวนการต่อสู้ได้เหนือกว่ารัฐหลายขุม การรุกทางการเมืองของขบวนการและแนวร่วมทั้งหลายจึงกำลังก้าวนำนักคิดและคนระดับนำของรัฐจึงเกิดขึ้นถี่ยิบมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ปรากฏการณ์ในรัฐสภาของรัฐ จึงได้แลเห็นการรุมวิจารณ์ร่างนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2564-2566 ของ สมช. โดยผู้ทรงเกียรติในรัฐสภาอย่างกว้างขวางและรุนแรงว่าเป็นงานเขียนที่ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง มองสถานการณ์อย่างคับแคบ เหมือนว่าจะดีแต่ล้มเหลวในทางปฏิบัติ มีการเสนอให้ ศอ.บต. ต้องเป็นอิสระ ไม่ใช่อยู่ภายใต้ กอ.รมน. เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหา หรือให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 14/2559 ที่มีการยกเลิกคณะกรรมการที่ปรึกษาจากการแต่งตั้ง แล้วให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นตัวแทนจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เมื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทั้งหลายมานี้ จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนที่เป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน กำลังขับเคลื่อนการต่อสู้โดยการรุกทางการเมืองอย่างเข้มข้น