ทวี สุรฤทธิกุล

ประชานิยมนี้น่าจะเรียกว่า “ผู้นำนิยม” มากกว่า เพราะมีขึ้นเพื่อสร้างความนิยมในตัวผู้นำนั่นเอง

ข้อมูลจากการสัมมนาของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association : APSA) ใน พ.ศ. 2561 ที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมด้วย ที่เน้นหัวข้อเกี่ยวกับประชานิยมหลายร้อยเรื่อง พอสรุปได้ว่า ประชานิยมเป็นรูปแบบทางการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสของความรักชาติ อันเรียกว่าลัทธิ “ชาตินิยม” ที่ชาติเมืองขึ้นต่าง ๆ นำมาต่อสู้เพื่อการเรียกร้องเอกราช ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำในการต่อสู้ว่าเป็นผู้รักชาติ อย่างเช่น หลาย ๆ ชาติในละตินอเมริกา อาฟริกา และเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รับเอกราช แต่ชาติที่เพิ่งได้รับเอกราชเหล่านั้นก็ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อสร้างชาติของตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยลำแข้งของแต่ละชาติ แต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้มาก ก็พอดีกับที่ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมา ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ผู้นำของชาติเอกราชใหม่เหล่านั้นก็ต้องทำงานอย่างหนักต่อไป

ผู้นำที่ได้ชื่อเสียงว่าเป็นต้นแบบของ “การเอาใจประชาชนอย่างบ้าคลั่ง” เพียงเพื่อให้ประชาชนรักและเทิดทูนความเป็นผู้นำของเขาให้มั่นคงแข็งแรงก็คือ ฆวน โดมิโก เปรอง ประธานาธิบดีของอาร์เจนติน่า (ดำรงตำแหน่งหลายสมัย ตั้งแต่ ค.ศ. 1946 และถูกรัฐประหารในปี 1973 ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1974 โดยมีภรรยาคนที่สองที่ดูเหมือนว่าจะมีชื่อเสียงในเรื่องประชานิยมหรือมีประชาชนคลั่งไคล้มากกว่า ก็คือ เอวิตา เปรอง เป็นผู้ที่ช่วยทำให้ชื่อเสียงด้านนี้ของเขาเป็นที่จดจำไปทั่วโลก เพราะมีการนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์และภาพยนตร์ฮอลลีวูด) ผู้ที่ได้สร้างต้นแบบของการทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นเผด็จการ เนื่องด้วยความคิดที่จะสร้างประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสนั้น ไม่เอื้อต่อการครองอำนาจอย่างยาวนาน จึงใช้การบิดเบือนทางนโยบายและกระทำเหนือกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองมีอำนาจล้นฟ้า เป็นที่เทิดทูนนิยมชมชอบในหมู่ประชาชน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายด้วยรูปแบบที่เป็นเผด็จการ

บังเอิญที่ “ประชาธิปไตย” ที่แปลว่า “ประชาชนเป็นใหญ่” ช่างมีความหมายคล้ายกันกับ “ประชานิยม” ที่แปลว่า “ประชาชนชอบ” ผู้นำแบบเปรองจึงใช้เงินของรัฐแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อจับจ่ายใช้สอยให้มีชีวิตที่สุขสบาย ทุ่มงบประมาณสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อให้เห็นว่ามีความตั้งใจที่จะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ในขณะเดียวกันก็วางเล่ห์กลทางการเมืองให้เหลือศัตรูคู่แข่งให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย และสุดท้ายก็สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ที่รักและทุ่มเททำงานเพื่อประชาชน เช่นในสมัยของเปรองก็มีการใช้สื่อจำพวกวิทยุและหนังสือพิมพ์ จนเมื่อมีโทรทัศน์ก็ระดมประชาสัมพันธ์ออกไปอีก ทำให้สังคมงมงายเชื่อถือลุ่มหลงอยู่แต่ผู้นำที่ชื่อเปรองนั้น

ยังมีงานวิจัยอีกหัวข้อหนึ่งที่ว่าด้วยประชานิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงผู้นำอย่างอูเนวินของพม่า และซูการ์โนของอินโดนีเซีย ว่าเมื่อได้รับเอกราชแล้วก็ดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างจริงจัง ซึ่งก็ได้รับความชื่นชมจากประชาชนในระดับหนึ่ง ทำให้ทหารยังคงมีอำนาจอยู่ในทางการเมืองการปกครองมาอย่างต่อเนื่อง(กรณีพม่า) หรือจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลที่มีทหารหนุนหลัง(กรณีอินโดนีเซีย) ในขณะที่ประเทศไทยก็ปกครองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งผู้นำทหารก็พยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็น “ผู้เผด็จการที่ดี” ที่รักประชาชน อย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็พยายามสร้างภาพลักษณ์เช่นนั้น อันทำให้ทหารยังคงมีบทบาทททางการเมืองไทยมาอย่างสืบเนื่อง แม้ว่าภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทหารจะถูกกดดันให้ออกไปจากวงจรทางการเมือง แต่ก็กลับคืนสู่อำนาจได้อย่างรวดเร็วในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

งานวิจัยชิ้นนี้ยังกล่าวอีกด้วยว่า ใน พ.ศ. 2544 ภายใต้การปกครองของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลยุคนั้นได้ใช้นโยบายประชานิยมอย่างเข้มข้น จนทำให้รัฐบาลนั้นและ ดร.ทักษิณได้รับความนิยมอย่างมากมาย กระทั่งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 ก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย หรือ “แลนด์สไลด์” ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาเพียงพรรคเดียว ทั้งนี้ผู้วิจัยได้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ด้วยนโยบายประชานิยมตั้งแต่ครั้งนั้น แม้จะมีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลทุจริตคดโกงและนักการเมืองทำชั่วอย่างมโหฬาร จนกระทั่งทหารต้องทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือใน พ.ศ. 2549 กับ พ.ศ. 2557 เพื่อกำจัดนักการเมืองกลุ่มนี้ แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยัง “รำลึกถึง” จนถึงขั้น “กตัญญู” ต่อนักการเมืองกลุ่มนี้ ดังที่เห็นได้จากการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคการเมืองของนักการเมืองกลุ่มนี้ก็จะชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้ามาเป็นจำนวนมาก ๆ เสมอ

ผู้เขียนขอร่วมให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้สัก 2 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือ พรรคการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมมาบริหารเป็นพรรคแรก น่าจะเป็น “พรรคกิจสังคม” ใน พ.ศ. 2518 แต่ด้วยเหตุผลและความเป็นไปที่แตกต่างจากของพรรคไทยรักไทยใน พ.ศ. 2544 และประเด็นที่สอง นักการเมืองในกลุ่มอดีตพรรคไทยรักไทยซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ยังคงพยายามที่จะใช้นโยบายประชานิยมในการรักษาอำนาจของพวกตนไว้ ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะอยู่ในอำนาจนี้ให้สืบเนื่องต่อไปอีก แต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังอาจจะเป็นจุดจบของพรรคการเมืองและนักการเมืองในกลุ่มนี้อีกด้วย

สองประเด็นนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ทว่าก่อนที่จะไปพูดถึง “จุดจบ” ของพรรคเพื่อไทย คงต้องเท้าความย้อนไปในสมัยที่พรรคกิจสังคมนำโยบายเหล่านี้มาใช้สักพอสังเขป เพื่ออธิบายให้เห็นว่า ด้วยเจตนาที่แตกต่างกัน จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อย่างที่มีการทุจริตคดโกงในนโยบายเหล่านี้อย่างมโหฬาร เช่น เงินผันในปี 2518 ถูกเรียกว่า “เงินผลาญ” และการโกงกินในนโยบายต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ถูกเรียกว่า “อภิมหาอมตะโคตรโกงนิรันดร์กาล” แต่ก็ส่งผลต่อระบบการเมืองไทยเป็นอย่างมาก ทั้งตัวผู้นำรัฐบาลอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และโครงสร้างกับกลไกทางการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบราชการและพลังอำนาจของกองทัพ อันเกิดจากการขึ้นมาท้าทายของกลุ่มประชาชนที่นิยมในพรรคการเมืองที่ชูนโยบายประชานิยมนี้

บางคนเชื่อว่าหลังยุคเศรษฐา ทวีสิน ที่ว่ากันว่าจะเป็นยุคของแพทองธาร ชินวัตร จะเป็นยุคที่พรรคเพื่อไทยรุ่งเรืองที่สุด ซึ่งอาจจะไม่เป็นจริงอย่างที่บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นต่อไป