ทวี สุรฤทธิกุล

พลังอำนาจทางการเมืองที่ถือว่าเป็นสุดยอดคือ “อภินิหาร” ซึ่งสมัยนี้นิยมสร้างด้วย “ประชานิยม”

“เงินผัน” ใน พ.ศ. 2518 คือ “อภินิหาร” ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่นักวิชาการและสื่อกระแสหลักในสมัยนั้นด่าว่าเป็น “เงินผลาญ” กระนั้นอีก 26 ปีต่อมา พรรคไทยรักไทยโดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็เอามาดัดแปลงใช้อีก ซึ่งก็ได้สร้างอภินิหารให้คุณทักษิณเป็น “เทวดา” มาจนถึงทุกวันนี้

ผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัวของหัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งก็คือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 หลังจากจบปริญญาตรีในปีนั้น ต่อมาใน พ.ศ. 2525 ก็ได้เรียนปริญญาโทที่เดิมในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคกิจสังคม” เพื่อศึกษาความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ของพรรคกิจสังคมในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่อง “เงินผัน” หนึ่งในชุดประชานิยมยุคแรกที่ประกอบด้วย “เงินผัน ประกันราคาพิชผล ส่งเสริมสภาตำบล คนจนรักษาฟรี” ที่พรรคกิจสังคมเป็นผู้นำมาใช้เป็นนโยบายทางการเมือง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ทางการเมืองในเชิง “นโยบาย” แตกต่างจากสมัยก่อนหน้านั้นที่เป็นการต่อสู้ในเชิง “ตัวบุคคล”

“เงินผัน” ได้ทำให้ชื่อเสียงของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่เด่นดังอยู่แล้วยิ่งเด่นดังขึ้นไปอีก รวมถึงความโดดเด่นของพรรคกิจสังคมที่ครองเสียงข้างมากในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งในสมัยต่อ ๆ มา ด้วยคำพูดติดปากชาวชนบท “ถนนคึกฤทธิ์ คลองคึกฤทธิ์ บ่อน้ำคึกฤทธิ์” กระทั่ง “สะใภ้และลูกเขยคึกฤทธิ์” ที่ทำให้หนุ่มสาวได้แต่งงานกันจากการไปรับจ้างทำงานในโครงการเงินผัน แม้กระทั่งกุ้ง ปลา ปู และหอย ที่เกิดในคลองและบ่อน้ำที่ขุดด้วยเงินผัน ก็เรียกว่า “กุ้งคึกฤทธิ์ ปลาคึกฤทธิ์ ปูคึกฤทธิ์ และหอยคึกฤทธิ์” ไปด้วย

สิ่งนี้คือสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “อภินิหาร” อันเป็น “ทรัพยากรทางอำนาจ” ที่เรา ๆ อาจจะลืมไปแล้ว

หลายท่านคงจะเคยได้ยินมาแล้วว่า “การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ” ซึ่งนักวิชาการฝรั่งได้ศึกษาเรื่องอำนาจนี้อย่างจริงจังมาตั้งแต่ก่อนหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยค้นพบว่าอำนาจนี้สามารถสร้างหรือหามามาได้ สิ่งที่สร้างหรือหามาได้เพื่อให้มีอำนาจมากขึ้นนี้นักวิชาการท่านเรียกว่า “ทรัพยากรทางอำนาจ” (Power Resources) อย่างที่ Max Weber ปราชญ์เยอรมันคนแรก ๆ ที่วางรากฐานการศึกษาในแนวนี้บอกว่า บอกว่าอำนาจนี้สามารถสร้างได้ด้วยการมีตำแหน่งหน้าที่อย่างหนึ่ง และบารมีในตัวตนที่สร้างสมมาอีกอย่างหนึ่ง ต่อมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 Harold Lasswell นักรัฐศาสตร์อเมริกันก็เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจนี้ว่าผู้นำที่จะมีอำนาจมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเขาได้อำนาจอะไรมา ได้มาเมื่อไร และได้มาอย่างไร (Who gets what, when and how ?) จากนั้น Robert Dahl นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันอีกคนหนึ่งก็มาแยกแยะให้เห็นว่าอำนาจนี้มีที่มาอย่างไร โดยเฉพาะอำนาจในระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ต้องมาจากความนิยมชมชอบจากประชาชนเป็นหลัก

ตำราอเมริกันกล่าวว่า ทรัพยากรทางอำนาจมีหลัก ๆ อยู่ 4 อย่าง คือ การควบคุมคน ความมั่งคั่ง ความนิยม และความเชี่ยวชาญในการใช้อำนาจ แต่ถ้าเป็นตำราไทย ผู้เขียนอยากเพิ่มเติมไปอีกอย่างหนึ่ง คือ “อภินิหาร” หรือความสามารถในการสร้างปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดได้อย่างเหลือเชื่อ

ประเทศไทยนี้ก่อตั้งขึ้นได้ด้วยอภินิหารของพระร่วงที่ทำให้ได้เกิดอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาโดยแท้ ถ้าใครจำตำนานเรื่องการใช้ชะลอมใส่น้ำไปส่งให้กษัตริย์ขอมได้ นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้จักรวรรดิขอมกระเทือน รวมทั้งเมื่อกษัตริย์ขอมได้ส่งนายทหาร “ดำดิน” มาโผล่ที่สุโขทัย ก็เจอวาจาสิทธิ์ของพระร่วงจนกลายเป็นหินอยู่กลางลานวัดนั้น จากนั้นผู้คนก็ฮือฮาในบุญญาธิการของพระร่วงที่เรียกว่าอภินิหารนี้มากขึ้น ๆ เกิดพลังร่วมกันที่จะแยกตัวออกจากการปกครองของขอม ที่สุดก็เป็นเอกราช กระทั่งถึงรัชสมัยพ่อขุนบางกลางท่าวก็สถาปนารัฐไทยขึ้นมา ชื่อว่าอาณาจักรสุโขทัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก มีพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

แนวคิดนี้สอดคล้องกับที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนไว้เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยอยุธยา ที่ไม่ใช่เพียงเพราะพระองค์จะเป็นผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าได้อย่างราบคาบ พระองค์ท่านยังสามารถแผ่ขยายพระราชอำนาจและพระราชอาณาจักรไทยออกไปอย่างกว้างขวางที่สุด ก็ด้วย “อภินิหาร” หลาย ๆ อย่างที่พระองค์ท่านได้ทรงกระทำ โดยท่านอาจารย์ได้นำข้อเขียนของฝรั่งชาวฮอลันดาคนหนึ่ง ชื่อฟอน ฟลีท ที่คนไทยเรียกว่า วันวลิต มาเป็นหลักฐานยืนยัน

นายวันวลิตได้เขียนในสิ่งที่คนไทยไม่กล้าเขียน คือเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเจ้าหรือพระมหากษัตริย์ (และที่จริงคนไทยก็ไม่ค่อยชอบเขียนบันทึกอะไรเลย หลักฐานต่าง ๆ ในสมัยโบราณจึงมีแต่ที่ได้จากบันทึกของฝรั่งเท่านั้น) โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับพระนเรศวร ที่มีคำร่ำลือต่าง ๆ ทั้งในทางบวกและทางลบมากมาย ในทางบวกก็คือความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและรบเก่ง ส่วนในทางลบก็คือความเหี้ยมโหดและเรื่องแปลกประหลาดต่าง ๆ เกี่ยวกับพระองค์ท่าน เช่น การสั่งฆ่าพวกมอญที่เกณฑ์มาเผาอิฐที่ปากเกร็ด เมื่อทำงานช้าเผาอิฐได้ไม่ทันใช้ หรือทรงโปรดเสวยเลือด เป็นต้น ซึ่งเรื่องที่เป็นลบทั้งหมดนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์วิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นการสร้างอภินิหารในทางน่ากลัวให้กับพระนเรศวร เพื่อเสริมพระบรมเดชานุภาพในหมู่ศัตรู แต่ที่ส่งผลไปมากกว่านั้นก็คือ ได้ย้ำเตือนค่านิยมอย่างหนึ่งในสังคมไทย ว่าคนไทยนั้นยังเชื่อถือโชคลางและเรื่องลี้ลับ อันทำให้เรื่องร่ำลือในทางร้ายต่าง ๆ ยังคงใช้ได้เสมอในการสร้างอำนาจให้กับผู้นำไทย (ในสมัยที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนเรื่องนี้คือยุคทหารครองเมือง การไล่ล่าทำลายศัตรูจึงเป็นเรื่องปรกติของสังคมไทยยุคนั้น เช่นเดียวกันกับการปล่อยข่าวในทางร้ายเกี่ยวกับผู้นำทหารบางคน อย่างเช่นกรณีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น) เรื่องนี้สำนักพิมพ์สยามรัฐได้เคยมารวมพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มเล็ก ๆ ชื่อว่า “กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้” ปัจจุบันน่าจะเป็นหนังสือหายากที่มีขายแบบออนไลน์เฉพาะผู้สนใจจริง ๆ เท่านั้น

เรื่องการสร้างอภินิหารของผู้นำไทยนี้ยังมีที่น่าสนใจอีกมาก แต่ก็อยากกระชับให้อยู่ในกรอบของบทความชุดนี้ ก็จะขอกล่าวต่อไปเฉพาะแต่ที่เป็นเรื่องราวของผู้นำในยุคปัจจุบัน ซึ่งหลาย ๆ คนเชื่อว่า ประเทศไทยในยุคนี้ถูกปกครองด้วย “ระบอบทักษิณ” ที่พยายามสร้างอภินิหารต่าง ๆ เรื่อยมา ที่แฝงมาในรูปของนโยบายประชานิยมต่าง ๆ นั้นส่วนหนึ่ง กับที่อาจจะทำผ่านการปล่อยข่าว “ชั่ว ๆ” อยู่เป็นระยะ ๆ นั้นด้วย

ประชานิยมที่กระทำด้วยเจตนาดี ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมดี ตรงข้ามกับที่มีเจตนาร้ายก็จะส่งผลร้าย ไม่แต่กับเฉพาะประชาชน แต่จะส่งผลเป็นหายนะแก่คนและพรรคการเมืองที่ทำนั้นด้วย