การผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต คนละ1หมื่นบาท โดยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง  ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และแน่นอนว่าเรื่องนี้ ทั้งนายกฯเศรษฐา เองตลอดจน พรรคเพื่อไทย ย่อมรับรู้และประเมินสถานการณ์ได้ไม่ยาก ! 


 แต่เมื่อนโยบายเรื่องนี้ คือนโยบายหลัก และเดินหน้าจนสำเร็จก็จะกลายเป็น ผลงานชิ้นโบว์แดงของพรรคเพื่อไทย และมีโอกาส ต่อยอด ไปกวาดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งรอบหน้า นอกเหนือไปจากการที่นายกฯประกาศเป้าหมายถึงการผลักดันนโยบายนี้เพื่อต้องการ กระตุกเศรษฐกิจ 


 ตลอดหลายวันที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อท้วงติงดังขึ้นต่อเนื่อง เมื่อภายหลังจากที่นายกฯเศรษฐา พร้อมคณะ แถลงความชัดเจนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 พ.ย.66ที่ผ่านมา 


 ทั้งจาก พรรคฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา ที่เตือนรัฐบาลว่าให้ระวังว่าการออกพ.ร.บ.กู้เงิน นั้นอาจสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายวินัยการเงินการคลัง แต่ดูเหมือนว่ายังมี ด่าน สำคัญที่กำลังรอให้พรรคเพื่อไทยต้องลุ้นระทึก เมื่อพบว่า นอกเหนือไปจากเสียงท้วงติง และคำวิจารณ์แล้ว 
 

ยังปรากฏว่ามี นักร้อง เตรียมไปยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบ มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 หรือไม่ อย่างไรในวันนี้ 13 พ.ย.

 อย่างไรก็ดี เท่ากับว่าการเดินหน้าของรัฐบาลเพื่อออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น จึงต้องเจอกับด่านองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ แล้ว อีกทางหนึ่งอย่าลืมว่ารัฐบาลจะฝ่าด่าน ในสภาผู้แทนราษฎร และสภาสูงไปได้หรือไม่ 


 ล่าสุด วิษณุ เครืองาม  อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบคำถามสื่อประเด็นที่ว่า  ถ้าออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงิน จะทำได้หรือไม่ ว่า ทำได้อยู่แล้ว แต่ว่าจะผ่านสภาณหรือไม่ หรือว่าอาจมีขอคนส่งศาลรัฐธรรมนูญตอนหลังก็ทำได้ เหมือนการออกกฎหมายทั่วไป สถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเวลานี้ จึงดูเหมือนว่ายังมีอีกหลายด่านที่ต้องฝ่าไป และถึงกระนั้นยังไม่นับรวมประเด็นที่ว่า เมื่อถึงเวลาสำคัญ พรรคร่วมรัฐบาล ยังจะเหนียวแน่น จับมือร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า ยังมีประเด็นในข้อกฎหมายที่จะถูกร้อง ให้ครม. ต้อง รับผิดชอบร่วมกัน ตามมาในเร็วๆนี้ !