ดูเหมือนว่า แม้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เลือกที่จะแถลงความชัดเจน ของการเดินหน้าผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1หมื่นบาท ให้แก่คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปครอบคลุม 50 ล้านคน ก่อนที่เดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30  ด้วยหวังว่าจะสามารถยุติความความคลุมเครือและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จาก ฝ่ายต้าน

 
 แต่กลับกลายเป็นว่า นับจากวันที่นายกฯเศรษฐา เปิดทำเนียบฯแถลงข่าวอย่างเป็นทางการถึงหลักเกณฑ์ รูปแบบ และโดยเฉพาะ แหล่งที่มา ของเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ โดยอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 ที่ผ่านมา พบว่า จนถึงวันนี้ นายกฯเศรษฐา ยังคงต้องตอบทุกคำถาม เพื่อชี้แจง สร้างความเชื่อมั่นมาจากซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ตั้งแต่วันแรกที่คณะนายกฯเดินทางไปถึง 


 โดย นายกฯ ยืนยันกับสื่อที่สหรัฐฯ ตอนหนึ่งว่า  มั่นใจว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี เหมาะสม และไม่เกี่ยวกับเรื่องเทคนิคหรือกฎหมาย รัฐบาลยืนยันว่าทำถูกต้องทั้งหมด ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงจะให้ข้อคิดเห็นในเชิงที่เป็นบวก และเราสามารถทำโครงการนี้ได้ 


 และ ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังตอบคำถามที่ว่า ประชาชนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีเงินพอที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 
 

ผมเป็นนายกฯที่มาจากพรรคอะไร พรรคเพื่อไทย สื่อก็บอกว่าหาเงินได้ใช้เงินเป็น ผมก็มั่นใจว่าผมหาเงินได้ใช้เงินเป็น ส่วนเรื่องที่มาของการออกจะเป็นพ.ร.บ. เงินกู้ ทางผู้ว่าธนาคารประเทศไทย (ธปท.) ได้บอกเองว่า นายกฯ กู้ดีกว่า ตอนนี้จาก 61% เป็น 64% เพราะเพดานเงินกู้อยู่ที่ 70% ให้กู้เลย ถ้านำมาใส่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตบวกกับโครงการอื่น และหากยกระดับจีดีพีขึ้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดตามไป แม้หนี้จะเพิ่ม แต่ถ้าจีดีพีมากกว่าหนี้จะลดลง 


 เสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้กระทบเฉพาะในมุมการเมืองเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น เงื่อนปมที่กำลังถูกจับตาว่าจะพันไปถึงความสุ่มเสี่ยงว่าจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายด้วยกันหลายทางตามมาหรือไม่ ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 


 อย่างไรก็ดี วันนี้เกิดคำถามตามมาด้วยกันหลายทาง ว่า หากรัฐบาล โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย ยังดึงดันเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต่อ ในท่ามกลางเสียงคัดค้านที่มีรายงานชี้เป้าตรงกันว่า หนึ่งในนั้นคือจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และจากสภาพัฒน์ ฯ ที่แสดงความไม่เห็นด้วย ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย
 นอกจากนี้ยังพบว่ามีเสียงสะท้อน ไปยังรัฐบาล ด้วยห่วงว่า จะซ้ำรอย พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. ...." วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  เมื่อทันทีที่นายกฯเศรษฐา แถลงถึงแหล่งที่มาของเม็ดเงิน ว่าจะใช้วิธีการออกพ.ร.บ.กู้เงิน จำนวน 5แสนล้านบาท เพื่อมาทำดิจิทัลวอลเล็ต !


 การย้อนกลับไปยังปัญหาที่เคยเกิดขึ้น พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในยุคอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่จบลงด้วย คำวินิจฉัยจาก ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.57 ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีข้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550
 ทว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับนายกฯเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย หลังเข้ามาบริหารประเทศได้ราว2เดือนกว่า  กับความพยายามผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจหนักหนา และถูกจับตาว่าอาจกลายเป็นทั้ง ทางลง ทางออก ไปจนถึง จุดเปลี่ยน ทางการเมืองตามมา !