คณะกรรมการบริหารชุดรักษาการ ของพรรคประชาธิปัตย์นัดหมาย วันที่ 14 พ.ย.66 ประชุมเพื่อพิจารณาการจัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค-คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ได้กลายเป็น ศึกใน ที่เกิดขึ้นและกินเวลายาวนานยืดเยื้อ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อประชาธิปัตย์ ไม่น้อย ! 

 การนัดหมายจัดการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3 ที่กำลังจะมีขึ้นนั้น คือ คำตอบ ที่ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า สถานการณ์ ศึกใน ของพรรคสีฟ้านี้หนักหน่วงมากแค่ไหน เนื่องจากการประชุมของพรรค ล่ม มาแล้ว ทั้ง2 ครั้ง  ด้วยเหตุจาก ความขัดแย้ง เมื่อ สองขั้วอำนาจ ในพรรคต่างไม่มีใครยอมถอยให้กัน 


 จนถึงวันนี้ ทั้ง คนนอก และแม้แต่ คนใน เองยังหวั่นใจว่า การประชุมที่จะมีขึ้นครั้งที่สาม วันข้างหน้านั้น จะไม่ ล่ม ตามมา เพราะจนถึงวันนี้ ยังพบว่า แรงกระเพื่อม ในพรรคยังคงเข้มข้นเช่นเดิม 


 กลุ่มของ นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ที่มีแรงหนุนจาก เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค จับมือกันเพื่อหวังสร้างความเปลี่ยนแปลง ไปพร้อมๆกับการเดินหน้าชน ขั้วอำนาจเดิม ในปีก อดีตหัวหน้าพรรค ทั้ง ชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตหัวหน้าพรรค โดยที่ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนคนในฝั่งของตนเอง และไม่ยอมรับ ฝั่งตรงข้ามได้ 


 ก่อนหน้านี้ ในการประชุมใหญ่ของพรรคสองครั้งที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง เมื่อมีการวางสูตรว่า ขั้วของเดชอิศม์ ที่มีสส.ในมือเกือบ 20 คน เป็นฝ่ายกุมอำนาจการโหวตในพรรค ต้องการหนุน นราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ให้ขึ้น หัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่ในขั้วของอดีตหัวหน้าพรรค ไม่ยอมรับชื่อนี้แม้ นราพัฒน์จะเป็นลูกชายของ ไพฑูรย์ แก้วทอง แกนนำพรรคในภาคเหนือก็ตาม 


 อีกทั้งยังต้องการหนุนให้อภิสิทธิ์ กลับมานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อฟื้นฟูพรรคหลังจากที่พรรคพ่ายศึกเลือกตั้งอย่างยับเยิน ต่อเนื่องถึงสองครา ทั้งการเลือกตั้งในปี 2562 ยุค บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังฟีเวอร์ และมาถึงการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.2566 


 ทว่าการฟื้นฟูพรรคไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อความขัดแย้งภายในพรรคยังไม่ลดรา ลดลงไปในทางกลับกัน ยังพบว่าจนวันนี้ ภายในพรรคมีการพูดถึง สูตร การเลือก หัวหน้าพรรคและเลขาฯคนใหม่ เพื่อแบ่งอำนาจระหว่างขั้วของกลุ่มเดชอิศม์ กับปีกของกลุ่มอำนาจเดิม แต่ไม่ว่าสูตรไหน ก็ดูเหมือนว่า ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถยอมรับกันได้อยู่ดี 
 ขณะที่ขั้วอำนาจที่ต้องการหนุนอภิสิทธิ์ ให้กลับมานั่งหัวหน้าพรรค ยังมั่นใจว่า แม้จะไม่มีสส.ในมือมากเท่ากับปีกของเดชอิศม์และเฉลิมชัยก็ตาม แต่ประเมินแล้วว่า ยังไม่มีใครที่เหมาะสมจะนั่งทั้ง หัวหน้า-เลขาฯพรรค  แทนที่ได้ ไม่ว่าจะส่งใครมาชิง แต่ชื่อชั้นของอภิสิทธิ์ ยังคงเหนือกว่าเช่นเดิม 


 ศึกภายในพรรคประชาธิปัตย์ หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมาคือความขัดแย้งที่ยังมองไม่เห็น ทางออก แต่ขณะเดียวกันพรรคเองต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามบทบัญญัติของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมือง ต้องส่งรายงานการดําเนินกิจการของพรรคการเมือง ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในรอบปีที่ผ่านมา 


 อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคนั้น มีรายงานว่าพรรคมีความกังวลน้อยกว่า ว่ายังมี ทางออก โอกาสที่จะ แต่ เดทล็อค จากศึกในพรรคด้วยกันเอง ต่างหาก ที่ยังมองหา ทางลง กันไม่เจอ !