การตัดสินใจกลับเมืองไทยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23  ในรอบ 17 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ตามมาคือปรากฎการณ์ที่เป็นทั้ง บวก และ ลบ ในทางการเมือง ต่อตัว เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ไปจนถึง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

 ขณะที่การขับเคลื่อนเดินหน้าบริหารนโยบายหาเสียง ให้กลายเป็น ความจริง โดยนายกฯเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย ด้วยความเข้มข้น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินคนละ 1หมื่นบาท อยู่นั้น 
 
ปรากฏว่า อีกด้านหนึ่ง ทุกความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับ อดีตนายกฯทักษิณ คือ เงื่อนไข ที่อาจส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อรัฐบาล  ไปจนถึงตัว แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ถูกจับตาและตั้งข้อสังเกตว่า อีกไม่นาน เธอจะเข้ามามีบทบาทในรัฐบาล 
 
นับจากวันที่ทักษิณ ปรากฏตัวที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 สาธารณชน ได้มีโอกาสพบเห็นตัวเป็นของทักษิณ ไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าตัวจะถูกควบคุมตัว เข้าสู่กระบวนการรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม และไม่มีใครได้เห็นทักษิณ อีก เว้นแต่ข่าวคราวที่ระบุว่า ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้นำตัวออกมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ บนชั้น 14 จนล่วงเลยระยะเวลาที่ทักษิณ ออกจากเรือนจำกว่า 60 วัน 
 
อย่างไรก็ดี แม้คนในพรรคเพื่อไทย และคนในรัฐบาลต่างไม่มีใครต้องการพูดถึงเรื่องที่ทักษิณ ถูกมองว่าเป็นเหมือน อภิสิทธิ์ชนแตกต่างจากนักโทษทั่วไป ที่ไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนไหว จาก การเมืองภาคประชาชน ทั้งจากพรรคไทยภักดี และ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย พิชิต ไชยมงคล ยังคงออกโรงกดดัน ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทักษิณ อย่างต่อเนื่อง 

 โดยล่าสุดคปท.ได้บุกไปที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อทวงถามประเด็นที่ทักษิณ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจก่อนจะครบ 90 วัน ในวันที่ 20 พ.ย.นี้  ซึ่งรัฐมนตรียุติธรรมยังมีเวลาในการพิจารณาเซ็นเอกสารให้ส่งตัวทักษิณเข้าเรือนจำ  

 การออกมาเดินสายกดดัน จากแกนนำพรรคไทยภักดี และกลุ่มคปท. น่าสนใจว่า หากดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยด้านหนึ่งคือการ เลี้ยงกระแส เพื่อรอจังหวะ รุกคืบ ไปพร้อมๆกับการเฝ้าเกาะติด ทุกฝีก้าว จะยิ่งทำให้การ ขยับ ของทุกฝ่าย ที่อาจมีส่วนเอื้อต่อทักษิณ ต้องถูกกดดันอย่างหนัก 
 
เช่นเดียวกับที่รัฐบาลและนายกฯเศรษฐา เองที่คปท.ตั้งคำถามว่า การที่ทักษิณ ได้รับเอกสิทธิ์ในตรงนี้ก็เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายบริหาร ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติในสภาฯ ก็ไม่มีใครกล้าพูดถึง 
 การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านทักษิณ ในวันข้างหน้ามีเค้าลางว่าพร้อมที่จะปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ เมื่อใดที่ ทักษิณ ขยับ คิดการณ์ทำเรื่องใหญ่ ขึ้นมา !