แม้สถานการณ์ นโยบายเรือธง ของพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล ยังต้องรอลุ้นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา จะออกมารูปไหน มุมใด จะเป็นด้วยเพราะ ความเป็นห่วง จึงต้องดูให้รอบคอบ ตามที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ บอกกับสื่อเอาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.66 ที่ผ่านมา หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา จะออกมาในลักษณะ เบรก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องยังต้องลุ้น 

 แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลใช่ว่าจะไร้ ไม้เด็ด การเดินหน้าผลักดันนโยบายที่จะเข้ามาแก้ปัญหาใหญ่ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีกำหนดนัดหมายแถลงใหญ่เรื่องการแก้ไข หนี้นอกระบบ 
 

จากนั้นในวันที่ 12ธ.ค. ก่อนส่งท้ายปีเก่า นายกฯเศรษฐา วางโปรแกรมแถลงข่าวใหญ่ หนี้ในระบบ กันอีกรอบ หมายความว่า รัฐบาลจะเปิดแพคเก็จ แก้หนี้ เพื่อ แก้จน ให้ครบทั้งหมด ในระหว่างนี้ หัวหน้ารัฐบาล ได้ให้ การบ้าน กับทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ลงไปดำเนินการ 
 

อาทิกระทรวงมหาดไทย โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ได้สั่งการ ให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง มีหน้าที่ออกไปสำรวจความเดือดร้อนของประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหนี้นอกระบบ เพื่อที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเรียกลูกหนี้ มาแสดงตนขึ้นทะเบียน 
 

ดูเหมือนจะสอดรับกับการที่ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ใช้เวลาตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปกับการเดินสายลงพื้นที่ ทั้งอุตรดิตถ์ และน่าน หลังจากที่ไปพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ ของพรรค ที่บ้านริมคลองย่านบางบอน  มีรายงานว่า รับคำสั่ง ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกฯ ผู้เป็นพ่อไปเคลียร์ใจ กับร.ต.อ.เฉลิม ไม่ให้ อาการงอน บานปลายไปสู่ การแตกหัก  ของผู้อาวุโสในพรรค 
 

การเดินสายของแพทองธาร ที่อุตรดิตถ์ เธอเองได้พูดกับพี่น้องประชาชน ที่มาร่วมการประชุมจัดตั้ง สาขาพรรคเพื่อไทยตอนหนึ่งว่าขอให้ รวยขึ้นในรัฐบาลเพื่อไทย 
 

จุดแข็งของพรรคการเมืองในมือ อดีตนายกฯทักษิณ ตั้งแต่ครั้งไทยรักไทย ถึง พลังประชาชน และเพื่อไทย คือการประกาศตัวเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาความยากจนให้กับประชาชน และแม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ถูกแช่แข็งอยู่ในสถานะ ฝ่ายค้าน  แต่เมื่อถึงวันนี้ โอกาสเปิดให้พลิกเกมได้เป็น รัฐบาล จึงไม่แปลกที่เพื่อไทย จะยังชูจุดแข็งที่เชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์ประชาชน และในทางการเมือง 
 

วันนี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินคนละ 1หมื่นบาท ย่อมไม่ได้รอฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เท่านั้น เพราะอย่าลืมว่า เวลานี้ได้มี คำร้อง จาก ภาคประชาชน ที่คัดค้านดิจิทัลวอลเล็ต ส่งไปถึงมือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เรียบร้อยแล้วด้วยกันถึง 4 คำร้อง  เพื่อรอการพิจารณาและส่งต่อไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ และ ศาลปกครอง อันถือเป็น ด่านอันตราย 
 

ทั้ง สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร  , วิรังรอง ทัพพะรังสี  ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ,นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม  ประธานพรรคไทยภักดี และ ศรีสุวรรณ จรรยา  ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบ ทั้งกรณี นโยบายแจกเงินดิจิทัล และการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อนำไปใช้ในโครงการ นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 หรือขัดต่อ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561หรือไม่