เสือตัวที่ 6

เทศกาลดิวาลีเฟสติวัล กรุงเทพฯ ประจำปี 2566 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ในชื่อเทศกาลดิวาลี 2566 (Diwali Festival Bangkok 2023) หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง ณ ย่านลิตเติ้ลอินเดีย โดยจัดขึ้นโดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร สมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย (IAT) เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยเชื้อสายอินเดีย กลุ่มชาวอินเดียในประเทศไทย ซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนเชื้อสายอินเดียในประเทศไทย โดยมีความเชื่อว่าเป็นเทศกาลแห่งการฉลองชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืด ความรู้เหนือความเขลา และความดีเหนือความชั่วร้ายโดยงานเทศกาลดิวาลีเฟสติวัล กรุงเทพฯ ประจำปี 2566 นี้ บ่งบอกถึงความแตกต่างที่สร้างสรรค์เป็นกระแสเชิงบวกที่ควรค่ากับการให้ทัศนะใหม่ๆ สำหรับคนในสังคมโลกยุคใหม่ที่ใช้ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ อัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนวิถีชีวิตที่แตกต่างไปในทางบวกที่รวมพลังความแตกต่างทั้งหลายเหล่านั้นไปในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยังความเจริญมาสู่กลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันขยายออกไปสู่กลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างได้อย่างทรงพลัง

กิจกรรมต่าง ๆ ในงานที่รับรู้ได้ถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์อันยิ่งใหญ่เฉพาะกลุ่มตน ได้นำมาแสดงให้คนกลุ่มอื่นๆ ได้ร่วมชื่นชมความแตกต่างหลากหลายในวัฒนธรรม และความเชื่อเหล่านั้นได้อย่างอลังการ อาทิ การแสดงเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มชน ความหลากหลายเมนู คาวหวาน จากภัตตาคารอินเดียสไตล์มหาราชา รวมทั้งการแสดงออกถึงวิถีความเชื่อทางศาสนา ทั้งพระพิฆเนศและพระแม่ลักษมีการเสริมดวงชะตา ความเชื่อเรื่องโชคลาภ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต พร้อมกับการช็อปสินค้าสไตล์อินเดียนจากร้านค้าชื่อดังทั้งส่าหรี เครื่องประดับ ของตกแต่งตามศิลปวัฒนธรรมอินเดียทำให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงความสำคัญของอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายในประเทศโดยหนึ่งในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชื่อในสังคมไทยเหล่านั้นคือชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ด้วยเทศกาลดังกล่าวจะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวอินเดียให้คนไทยทั้งหลายในแผ่นดินนี้ได้สัมผัส เป็นการดึงเสน่ห์ของวัฒนธรรม ความเชื่อ และชาติพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลายออกมาให้เห็นความสวยงามของกรุงเทพฯ และประเทศไทย ที่ควรค่าแก่การเคารพซึ่งกันและกัน อันจะเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข มีอารยะแห่งสังคมที่เจริญแล้วอย่างน่าชื่นชม ทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วยเทศกาลดิวาลีเฟสติวัลครั้งนี้ บ่งบอกอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งว่าผืนแผ่นดินนี้ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของบรรพชนไทยไม่ว่าจะเป็นเชื่อสายหรือชาติพันธุ์ใด ทั้งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร หากแต่ ณ ปัจจุบันนี้ พวกเราชาวไทยทั้งหลาย ล้วนต้องอยู่ด้วยกันอย่างกัลยาณมิตร เป็นพี่น้องร่วมแผ่นดินเกิดเดียวกันที่ต้องอยู่กันอย่างสร้างสรรค์ เทศกาลนี้ จึงเป็นตัวแบบที่น่าศึกษาเรียนรู้และบ่งบอกว่า แผ่นดินนี้ถือเป็นบ้านของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายอินเดียจำนวนมากที่ได้มาอาศัย ทำมาหากิน และอยู่ร่วมกัน ภายใต้พระบรมโพธิสมภารมาหลายชั่วอายุคน และเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับต้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวเชื้อสายอินเดียจากทั่วโลก

ในงานเทศกาลดังกล่าวได้ส่งผ่านความแตกต่าง และหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีความเชื่อเฉพาะเชื้อสายตนในแผ่นดินไทย อันเป็นการสร้างกระแสเชิงบวกให้กลุ่มคนที่มีชาติพันธุ์ ความเชื่อ วิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ได้เรียนรู้และนำไปใช้เป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยังความเจริญในแบบฉบับที่กลุ่มตนเคารพนับถือด้วยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและเปิดกว้างจากรัฐอย่างเต็มกำลัง โดยตัวแบบของการจัดงานนี้ มีทั้งรูปแบบที่ต้องการสื่อสารให้เห็นถึงการจัดงานด้วยหลากหลายกิจกรรมเชิงพหุวัฒนธรรมไทย-อินเดียทั้งยังสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลายของคนในพื้นที่สำหรับ งานเทศกาลดิวาลี มีความเชื่อว่าเป็นเทศกาลแห่งการฉลองชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืด ความรู้เหนือความเขลา และความดีเหนือความชั่วร้าย โดยกิจกรรมดังกล่าวรัฐบาลร่วมกับภาคเอกชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด One Day Trip 3 ศาสนา ศรัทธาแห่งบุญซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือและการผสมผสานวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายอินเดีย เป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีของคนหลากหลายเชื้อชาติในแผ่นดินนี้ที่เป็นตัวแบบให้เห็นถึงสังคมเชิงพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

นั่นก็หมายความว่า ท่ามกลางความแตกต่าง หลากหลายทั้งหลายของกลุ่มคนในแผ่นดินนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านชาติพันธุ์ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านวัฒนธรรม ด้านความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนวิถีชีวิตประจำถิ่นทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เป็นเหตุให้ต้องขัดแย้ง เคืองแค้น และทำร้าย ทำลายกันกับคนเห็นต่าง หรือแตกต่างกับคนกลุ่มอื่นแต่ประการใด ในทางตรงข้าม ความแตกต่าง หลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือชาติพันธุ์ สามารถนำมาเป็นจุดเด่นอันทรงพลังซึ่งนำมาแสดงออกให้คนในสังคมได้เรียนรู้ และรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่และงดงามของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนประวัติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ ให้คนในสังคมภายนอกได้ร่วมศรัทธาและร่วมชื่นชมถึงความเป็นอารยะของกลุ่มตนได้อย่างยิ่งใหญ่ และเทศกาลดิวาลีนี้ จึงเป็นตัวแบบที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในแผ่นดินนี้ได้แลเห็นว่าความแตกต่าง หลากหลาย ในสังคมนี้เป็นสังคมที่งดงามตามแนวคิดสังคมพหุวันธรรมที่อยู่ร่วมกัน ส่งเสริมวิถีที่แตกต่างนี้ระหว่างกันได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นการสร้างกระแสความแตกต่างเชิงบวกได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง