เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เพื่อนชาวเยอรมันชวนไปกินกาแฟที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่แม่ริม เชียงใหม่ เขาขอให้พนักงานพาไปดูห้องและบริเวณโรงแรม เพื่อนบอกว่า ที่นี่คล้ายกับที่อูบุด บาหลี ที่สร้างโรงแรมให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น

โรงแรมนี้ตั้งอยู่นอกแม่ริม ล้อมรอบด้วยทุ่งนา ป่าเขา มีการจัดการตกแต่งอย่างเรียบง่ายให้กลมลืนกับธรรมชาติ คนตื่นขึ้นมาเห็นควายไถนา คนเกี่ยวข้าว ราคาที่พักโรงแรมก็หลายหมื่น แต่เต็มตลอด จองกันข้ามปี

เพื่อนเยอรมันบอกว่า “คุณน่าจะพาผู้นำชุมชนมาดูงานที่นี่ เพราะที่บ้านเขาสวยกว่านี้ เพียงแต่ยังไม่มีการจัดการ” เขาเล่าว่า ที่บาหลีมีโรงแรมแบบนี้นานแล้ว ราคาที่พักคืนละหลายหมื่น ผู้จัดการโรงแรมห้ามพนักงานบอกแขกว่า ไม่ไกลจากที่นั่นมีโฮมสเตย์ของชุมชน ราคาไม่กี่ร้อยบาท ถ้าบอกจะถูกไล่ออก

หลายปีที่ผ่านมา บ้านเรามีรีสอร์ทเล็กใหญ่จำนวนมากที่สร้างให้กลมกลืนกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น มีโฮมสเตย์  มีการท่องเที่ยวชุมชนที่หน่วยงานราชการกระโดดลงไปส่งเสริมแบบปูพรม แต่ดูยังไม่เข้าถึงหัวใจของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ “พลังละมุน” กลายเป็น “พลังกระด้าง” อย่างน่าเสียดาย

บาหลีมีชื่อเสียงไม่ใช่เพราะหาดทรายสวยกว่าภูเก็ต แต่เพราะบาหลีมี “วัฒนธรรม” ที่โดดเด่น เป็นเสน่ห์ของเกาะแห่งนี้ ที่ผู้คนไม่ได้ต้องการไปเพียงแต่นอนอาบแดด ซึ่งไปที่ไหนก็ได้ แต่ต้องการไปสัมผัสกับวิถีชุมชน

บาหลีได้รับการส่งเสริมจากราชการ โดยการออกกฎระเบียบต่างๆ อย่างห้ามสร้างตึกสูงกว่ายอดมะพร้าวมาตั้งแต่หลงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ไม่มีบรรยากาศของเมืองใหญ่ การท่องเที่ยวหมู่  มีความสงบ ร่มเย็น คนไปบาหลีจึงเห็นความแตกต่างจากภูเก็ตหรือสมุย

แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ภูเก็ตหรือสมุยต้องเป็นแบบบาหลี เพราะมีจุดแข็งอีกหลายอย่างต่างจากบาหลี เพียงแต่บาหลีมีประสบการณ์ทำก่อนไทยหลายปี ไทยก็เกิดท่องเที่ยววัฒนธรรม ท่องเที่ยวชุมน ท่องเที่ยวธรรมชาติ เกษตร อย่างแพร่หลาย ได้เห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟริมทุ่ง ในชนบท ในป่าในเขาเกิดขึ้นมากมาย

เพื่อนเยอรมันแนะนำว่า ไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนา “การท่องเที่ยวทางเลือก” ที่ต่างจากการท่องเที่ยวหมู่ (mass tourism) ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของไทย ซึ่งมีเสน่ห์มาก ไม่ใช่ “ความสวยงาม” ของธรรมชาติอย่างเดียว แต่ชีวิตประจำวัน จารีตประเพณี วิถีที่ซ่อนไว้ซึ่งรหัสนัยช่วยให้ค้นหา

เขาเล่าว่า มีนักท่องเที่ยวเยอรมันสองคนไปเที่ยวพัทยา สาวๆ พาไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปใช้ชีวิตที่หมู่บ้านเป็นเดือน พวกเขาบอกว่า เป็นการใช้เวลาในเมืองไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุด ได้เที่ยวและได้คลุกคลีกับวิถีชุมชน ได้ทำงานช่วยชาวบ้าน ซ่อมประปา ไฟฟ้า ช่วยทาสีกำแพงวัด ซึ่งพวกเขาทำด้วยจิตอาสาและสนุก

วันนี้การท่องเที่ยว “ทางเลือก” กำลังกลายเป็น “ทางหลัก” ในยุคดิจิทัล ข้อมูลและการสื่อสารออนไลน์ที่สะดวก จัดการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง การเดินทางก็ไม่แพง ที่พักก็หลากหลาย ไม่รู้ภาษาก็มีเครื่องแปล

บ้านเราไม่ได้มีแต่ทัวร์หมู่ มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเอง จองห้องพักเอง ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เอง หรืออย่างมากก็ซื้อทัวร์ย่อยๆ ที่มีให้เลือกมากมาย  การท่องเที่ยวหมู่เริ่มลดลง การขึ้นลงรถบัส ถูกนำไปตามสถานที่ที่ไกด์จัดการให้หมด ไปกินข้าว ไปซื้อของ ไปดูโชว์ปลอมๆ ทางวัฒนธรรม

การที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากยังมาเป็นกลุ่ม เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะไม่มี “ทางเลือก” ดีๆ หลากหลายให้พวกเขา ที่ไปง่าย สะดวสบาย ปลอดภัย  เราไม่ได้เข้าใจ “ความฝัน” หลายอย่างของนักท่องเที่ยว ฝันประหลาดก็มี อย่างคนเยอรมันฝันอยากกินอาหารเช้าใต้ต้นกล้วย  เราอาจจะขำ แต่เขาคิดว่าโรแมนติก

อย่างที่พักในหมู่บ้าน โฮมสเตย์ ที่โดดเด่นคือธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การทำมาหากิน ประเพณีต่างๆ  อาหาร พืชผักผลไม้ แต่มีจุดอ่อนที่เรื่องที่พัก ซึ่งคนไทย คนเอเชียอาจจะพักในบ้านของชาวบ้านที่แบ่งเป็นสัดเป็นส่วนได้ แต่ “ฝรั่ง” อาจจะไม่สะดวกกายสบายใจนัก

เพื่อนเยอรมันแนะนำว่า น่าจะปลูกกระต๊อบหลังเล็กๆ ให้พักที่ปลายสวน ริมทุ่ง มีระเบียงที่นั่งพักนอนพักบนเปลญวน มองออกไปเห็นทุ่งนาป่าเขา เขาจะรู้สึกว่า ได้อยู่ในชุมชน แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นอิสระ มีความเป็นส่วนตัว เขาอาจจะไม่พักแค่สองสามวัน แต่อาจเป็นเดือน เอาหนังสือมาอ่าน เอางานมาทำ

หรือจะจัดการร่วมระหว่างชุมชนจนเกิดเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวอย่างที่เลย ซึ่งเป็นตัวอย่างของการจัดการท่องเที่ยวที่เข้ากับวิถีชุมชน คนท้องถิ่นได้รับประโยชน์ ช่วยให้ข้อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์

เพื่อนเยอรมันเล่าว่า ที่ภาคเหนือ มีฝรั่งไปเสนอชาวเขาบนดอยว่า อยากสร้างบ้านไม้ไผ่หลังเล็กๆ ที่หมู่บ้าน ให้เป็นของชาวบ้าน เพียงแต่ขอมาพักฟรีปีละ 2-3 สัปดาห์ โดยจ่ายค่าอาหารให้ชาวบ้าน นอกนั้น ให้ชาวบ้านรับแขกเอง เป็นรายได้เอง

การท่องเที่ยววิถีชุมชนไม่ควรกลายเป็นท่องเที่ยวหมู่แบบใหม่ ที่มีการจัดไม่เป็นธรรมชาติ ให้ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่แม่บ้านแต่งตัวสวยงามไปฟ้อนไปรำต้อนรับนักท่องเที่ยว เป็นอะไรที่ “แปลกปลอม” ถ้าจะฟ้อนจะรำก็เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงศิลปวัฒนธรรม ที่จัดกันตอนเย็น

หรือเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญประเพณีที่ฟ้อนรำกันอยู่แล้ว ก็ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวไปร่วมงานบุญประเพณีในชุมชนตามเทศกาลต่างๆ ไม่ใช่เป็นผู้ดู แต่มีส่วนร่วม ไปทำบุญด้วย อย่างทอดปฐิน ผ้าป่า ลอยกระทง สงกรานต์ และอื่นๆ มากมาย

หน่วยงานรัฐน่าจะปรับยุทธวิธีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่หันมาเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน ให้เป็นธรรมชาติ เข้าพรรษา ออกพรรษา ไม่น่าจะมีแค่ขบวนแห่อลังการงานสร้างที่ชาวบ้านลงทุนไปไม่รู้เท่าไร

โดยไม่สนใจว่า ชุมชนหมู่บ้านกว่า 70,000 แห่ง ชุมชนเมืองอีกนับพัน มีงานบุญประเพณี มีข้าวปลาอาหาร ข้าวต้มขนม ทั้งได้บุญ ได้มิตรภาพ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้ความสุขและความสัมพันธ์อันดีที่ชวนให้มาอีก

ซอฟพาวเวอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย คือ คนไทย มียิ้มสยาม น้ำใจไมตรีต้อนรับแขก สร้างโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับมิตรภาพอับอบอุ่นในชุมชน ที่จะยั่งยืนนาน สานสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย