ดูจะมีความชัดเจนว่า บัดนี้ คู่ชิงเก้าอี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศตัวแล้วมีด้วยกัน 2 ราย 
 
หนึ่งคือ นราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สายเหนือ ที่เจ้าตัวประกาศย้ำว่า ไม่ถอย และไม่คิดจะถอย แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า เป็น นอมินี ของใครก็ตาม ส่วนอีกหนึ่ง คือ มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ที่ถือฤกษ์เข้าพรรค ในเวลา 09.29 น. เมื่อวันที่ 29 พ.ย.66 
 
โดยทั้งคู่จะเข้าสู่การแข่งขัน ในวันที่ 9 ธ.ค. วันประชุมใหญ่ของพรรค โดยมีวาระสำคัญอยู่ที่การเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และการเฟ้นหา หัวหน้าพรรคลำดับที่ 9 ให้ได้ 
 
ทั้งนราพัฒน์และวทันยา  คือคนรุ่นใหม่ของพรรค แต่ฝ่ายแรกนั้นเป็นลูกหม้อ อยู่กับพรรคมาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อลงเล่นการเมือง โดยมีผู้เป็นพ่อ คือ ไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย เป็นเทรนเนอร์ ส่วนวทันยา คือเลือดใหม่ที่เพิ่งเข้าสังกัดพรรค เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2565 นับไล่เรียงแล้ว วทันยา เป็นสมาชิกพรรคได้เพียง 1ปี 2เดือน 
 
ขณะที่ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต้องเป็นสมาชิกพรรคต่อเนื่องกัน 5ปี ดังนั้นเท่ากับว่าวทันยา อาจจะไม่ผ่านด่านนี้ ยกเว้นแต่ว่า ในที่ประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 9 ธ.ค.นี้จะมีการเสนอให้ยกเว้นการใช้บังคับ 
 
อย่างไรก็ดี ว่ากันว่า ชื่อนราพัฒน์ และวทันยา นั้นแม้จะเปิดหน้าเล่นอยู่กลางแจ้ง แต่สิ่งที่คอการเมืองรับรู้และจับตา คือ ตัวจริง ของทั้งสองขั้วอำนาจในพรรคประชาธิปัตย์ ต่างหากว่าจะ ไฟเขียว ให้กับสูตร หัวหน้า-เลขาฯคนใหม่ กันจริงหรือไม่ 
 
เมื่อขั้วของ กลุ่มเพื่อนต่อ มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน นั่งรักษาการหัวหน้าพรรค ที่ยืนประจันหน้ากับขั้วของอดีตหัวหน้าพรรค อย่าง ชวน หลีกภัย ต่างอยู่ในอาการ นิ่งสงบ ยากต่อการประเมินได้ว่า เมื่อถึงวันประชุมใหญ่ 9 ธ.ค.นี้  จะมีรายการ บิ๊กเซอร์ไพรซ์  คนเปิดตัว อาจจะไม่ได้เข้าสู่สนามประลอง และอาจไม่ใช่ ชื่อ ที่จะถูกโหวต 
 
ทั้งนี้ ไม่ว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 จะเป็นใคร  จะเป็นคนของขั้ว กลุ่มเพื่อนต่อ หรือ ขั้วนายหัวชวน ก็ตามที  แต่สิ่งที่หลายคนในพรรคหวั่นไหว คือความขัดแย้งหลังจากนี้ จะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า จบไม่ลง 
 
เพราะการต่อสู้ของสองขั้วอำนาจในพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ยังอาจเชื่อมโยงกับการตัดสินใจต่อการดำเนินบทบาททางการเมือง ของพรรคในวันข้างหน้า  เพราะหากฝ่ายกลุ่มเพื่อนต่อคว้าชัยชนะได้สำเร็จ ย่อมมองการไกลไปถึงโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย  
 
หรือหากขั้วนายหัวชวน พ่ายแพ้แล้ว จะยอมรับได้หรือไม่ หากประชาธิปัตย์ จะต้องไปทำงานร่วมกับ พรรคเพื่อไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นผู้บัญชาการตัวจริง !?