ทวี สุรฤทธิกุล

Fandom Politic จะเป็น “ทุ่นระเบิด” (จมอยู่ในน้ำ) และ “ทุ่งระเบิด” (ฝังอยู่ในดิน) อันมีอันตรายมโหฬาร เพราะไม่มีใครมองเห็นได้ตามปกติ แต่มันฝังอยู่ในสมองของผู้คนจำนวนมหาศาลนั่นเอง

Fandom Politic เป็นผลโดยตรงจากการสื่อสารบนโลกอินเตอร์เน็ต ที่โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อเชื่อมโยงผู้คนให้เป็นเครือข่าย (Network) โดยเฉพาะเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่กว้างใหญ่ที่สุดในยุคแรกคือ Facebook ก็มุ่งเป้าเพื่อให้มีการสื่อสารแบบกลุ่มใหญ่นั้นเป็นหลัก แต่ก็มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยกลุ่มสื่อสารย่อย ๆ แม้แต่การสื่อสารระหว่างบุคคล (Individual) นั้นด้วย และด้วยระบบการสื่อสารกลุ่มย่อยกับส่วนบุคคลนี้ก็นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางภาคธุรกิจ คือการทำการตลาดแบบเจาะกลุ่ม (Nitch Marketing) ด้วยการโฆษณาเข้าไปถึงกลุ่มและตัวบุคคลเหล่านั้น

ต่อมาได้มีการใช้ Facebook ในทางการเมือง ที่ปรากฏเป็นเรื่องราวอย่างชัดเจนและมีการใช้อย่างเป็นระบบ ก็คือในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของนายบารัค โอบามา ในปี 2008 จนกระทั่งได้เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2009 รวมถึงที่ได้เป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ในปี 2013 นั้นด้วย วิธีการก็คือแจ้งข่าวสารที่แต่ละกลุ่มหรือบุคคลต่าง ๆ สนใจ โดยตอนแรกก็เชื่อกันว่ามีการใช้ข้อมูลทางการตลาดจากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้แยกแยะ “ข้อมูลส่วนบุคคล” นั้นไว้ก่อนแล้ว แต่พอมาถึงในสมัยการเลือกตั้งปี 2018 ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง ก็ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการซื้อขายข้อมูลบน Facebook ที่สุดบริษัทที่รับทำก็ถูกลงโทษ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับนายทรัมป์ เพราะไม่ได้ดำเนินการหรือสั่งให้ดำเนินการและไม่ได้รับรู้ถึงการกระทำดังกล่าว

สำหรับประเทศไทย เชื่อว่ามีการใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมืองก็ตั้งแต่ครั้งที่มีการชุมนุมกันของคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงใน พ.ศ. 2549 โดยที่ใช้กันมากที่สุดก็คือไลน์ กระทั่งในการเลือกตั้งปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการใช้ทั้ง Facebook และกลุ่มไลน์อย่างเข้มข้น และขยายตัวมาใช้กันอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งปี 2562 คือแทบจะใช้กันในทุกพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ที่ลงเลือกตั้งในครั้งนั้น สืบเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้งในปี 2566 ที่โซเชียลมีเดียถือว่าเป็น “อาวุธหลัก” ของการเลือกตั้งในครั้งล่าสุดนี้อย่างชัดเจน

คนที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำอาจจะพอสังเกตเห็นว่า บางทีขณะที่เรากำลังเล่นไลน์หรือ Facebook ก็จะมีข่าวสารหรือโฆษณาเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมา ตามเรื่องราวที่เราชอบติดตามหรือกดไลค์กดแชร์ รวมถึงที่เรามีคอมเมนต์หรือเขียนข้อความตอบโต้กับเพื่อน ๆ นั้น อย่างผู้เขียนชอบเรื่องรถยนต์และเทคโนโลยี ข่าวสารและโฆษณาเกี่ยวกับสองเรื่องนี้ก็จะขึ้นมาให้เห็นอยู่เป็นประจำ เช่นเดียวกันกับที่ผู้เขียนไปเขียนคอมเมนต์ในข่าวสารต่าง ๆ ที่หลายปีมานี้ก็มีสำนักข่าวอิสระ ที่เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นเครือข่ายของพรคการเมืองบางพรรค หรือ “ขายข้อมูล” ให้กับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ สิ่งที่เราตอบโต้ไปนั้นก็จะสื่อให้มีการรับรู้ไปในทางสาธารณะว่า “เราสนใจเรื่องอะไร” หรือมีปฏิกิริยากับเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไร จากนั้นก็จะมีข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องที่เราชอบคอมเมนต์หรือตอบโต้นั้น “แปะ” มาบนแอปที่เราใช้สื่อสาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ก็จะมีการสื่อสารจากพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคมาถึงเรา แต่จะไม่ใช้รูปแบบของการโฆษณาพรรคโดยตรง โดยจะหาคนที่เป็น “ไอคอน” หรือ “ตัวตึง” ของพรรคมาสร้างภาพให้คนจดจำ อย่างพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ก็ใช้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคก้าวไกลในปี 2566 ก็ใช้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งทำให้พรรคการเมืองของคนทั้งสองได้ ส.ส.เข้ามาเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งทั้งสองครั้งนี้

การใช้ไอคอนหรือตัวตึงมาสร้างกลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองนี่เองที่ทำให้เกิด Fandom Politic คือการสร้าง “ผู้ชื่นชอบ” ในตัวนักการเมืองให้เกิดขึ้น เหมือนการสร้าง “แฟนคลับ” ในวงการบันเทิงและวงการกีฬา ซึ่งลักษณะเด่นของความเป็นแฟนคลับก็คือ “ทำให้คนรักและหลง” คอยติดตาม คอยชื่นชม ไปไหนก็มีป้ายเชียร์ หรือเข้าห้อมล้อม “กรี๊ด กร๊าด” เกิดภาพของอาการ “คลั่ง” หรือ “มัวเมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา” ซึ่งต้องถือว่าเป็นระยะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากอารมณ์คลั่งนี้มักจะตั้งอยู่บนการ “ขาดสติ” หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือก่อให้เกิด “ม็อบ” หรือกลุ่มฝูงคนที่บ้าคลั่งนั่นเอง

ถ้าใครนึกภาพอันตรายเหล่านั้นไม่ออก ก็ให้นึกถึงกลุ่มแฟนคลับที่คลั่งทักษิณกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่แทบจะเผากันกลางถนนในปี 2549 และกลุ่มแฟนคลับกำนันสุเทพกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เกือบจะฆ่ากันกลางกรุงในปี 2557 ซึ่งทั้งสองครั้งทหารต้องทำการรัฐประหารเพื่อ(นัยว่า)ยุติการนองเลือดของพี่น้องคนไทยร่วมชาติ

หลายคนเชื่อว่า Fandom Politic จะไม่ส่งผลร้ายเพียงแค่นี้ เพราะในยุคที่ผ่านมายังเป็นแค่ “ความบ้าคลั่งในตัวบุคคล” ซึ่งถ้าหากตัวบุคคลนั้นมีอันเป็นไปเช่น ตาย ติดคุก หรือเลิกเล่นการเมือง แฟนคลับของคน ๆ นั้นก็จะซาไปเอง (นึกถึงเรื่องที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่หนีคดีและทำทีว่ามารับโทษเพื่อรออภัยโทษ แต่แกไม่ยอมลดลาวาศอกให้ใคร ยังคงใหญ่คับ “ฟ้า” แฟนคลับจึงยังไม่ลดรา และยังคงน่ากลัวว่าจะทำให้มีวิกฤติทางการเมืองไทยนั้นอยู่) แต่ถ้าบรรดาแฟนคลับเกิดยึด “หลักการ” บางอย่างเป็นสรณะ เช่น เกิดกลุ่มที่อาจจะมีชื่อว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” จากแฟนคลับที่นับถือคนชั่วคนโกง ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะชื่อว่า โทนี่ หรือตั๊กซิน หรือไม่ ตรงนั้นแหละที่น่ากลัวที่สุด เหมือนกับที่สมัยก่อนคนไทยจำนวนมากเชื่อถือในคอมมิวนิสต์ แล้วปั่นหัวให้เกิดการต่อสู้ “ปลดแอก” คือเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย รวมถึงที่ในระยะนี้ก็มีแฟนด้อมของพรรคการเมืองบางพรรค กำลังเอนเอียงไปในแนว “ไม่เอากษัตริย์” ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ๆ เหมือนกัน

ต่อไปด้วยระบบการสื่อสาร “เฉพาะแฟน ๆ” นี้ อาจจะทำให้สถาบันหลักของชาติสิ้นไป หนึ่งคือชาติ ที่คนไทยแตกแยกกัน สองคือศาสนา ที่หลักศีลธรรมความดีงามต่าง ๆ ไม่มีใครนับถือ และสามคือพระมหากษัตริย์ ที่มีคนพยายามกำจัด เราคงจะไม่มีอะไรยึดมั่น และทุกอย่างที่เป็นไทยรวมถึง “ประเทศไทย” ก็คงต้องจบสิ้นลงในที่สุด

ทุกปัญหามีทางแก้ ว่าง ๆ จะมาบอกวิธีใช้ประโยชน์ในทางที่ดีจาก Fandom Politic นี้