นัยยะสำคัญจากการจัดสัมมนาสมาชิกพรรคเพื่อไทยระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค.2566 ที่ยกพลกันไปถึงเขาใหญ่  จ.นครราชสีมา ไม่ใช่แค่เพียงการเปิดฟลอร์ให้ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้ามาทำหน้าที่ ผู้นำพรรคเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ให้กับสมาชิกพรรค อันประกอบด้วยสส.และกรรมการบริหารพรรค เท่านั้น 
 
แต่การสัมมนาครั้งนี้ ยังน่าสนใจว่า การเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนใหม่ ของอุ๊งอิ๊ง มีขึ้นในจังหวะที่พรรคเพื่อไทย ปรับโหมดเข้าสู่การบริหารจัดการกิจการงานในพรรค ไปพร้อมๆกับการเดินหน้าทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ของ รัฐมนตรี ในสังกัดพรรคเพื่อไทย 
 
หมายความว่าปฏิบัติการเดินสองขา ทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทย จัดทัพเพื่อเตรียมความพร้อมทางการเมืองทั้งการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งนายกอบจ. ในปีหน้า 2567  แล้ว เมื่อวันนี้พรรคเพื่อไทยพลิกเกมกลับมายืนในฐานะ พรรคแกนนำรัฐบาล แล้ว งานใหญ่ งานยาก ที่ต้องเดินหน้า คือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคและขาของรัฐบาลไปในคราวเดียวกัน
 
การปรับโหมด ปรับทัพเพื่อไทย ในวันที่มีอุ๊งอิ๊ง เป็นหัวหน้าพรรคนั้น ย่อมไม่ใช่ คำตอบสุดท้าย เพราะอุ๊งอิ๊ง แม้จะเป็นเสมือนตัวแทน เจ้าของพรรค คือ ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ตามที  แต่อย่าลืมว่าปัญหาและความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย ใช่ว่าจะราบรื่น ชนิดไร้รอยต่อ 

 อย่าลืมว่าจนถึงวันนี้ ช่องว่าง ระหว่าง กลุ่มอาวุโส บรรดาอดีตสส.พรรคเพื่อไทย กับคนรุ่นใหม่ ที่ยืนอยู่ในรัศมีของอุ๊งอิ๊ง ล้วนแล้วแต่เคยปีนเกลียวกันมาก่อนทั้งสิ้น ทั้งความแตกต่างเรื่องมุมมอง ความคิดเห็น และประสบการณ์ทางการเมือง และเมื่อวันนี้พรรคเพื่อไทย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารพรรค  มีอุ๊งอิ๊ง ลูกสาวเจ้าของพรรคมานั่งอยู่หัวโต๊ะแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแข็งแกร่งจาก ฐานเสียง ที่มีอดีตสส.และผู้อาวุโส จาก บ้านใหญ่ ย่อมมีความหมาย 

 อย่างไรก็ดี การจัดสัมมนาของพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ นอกเหนือไปจากการเน้นเรื่องการทำหน้าที่สส.ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อใกล้ถึงวันเปิดสมัยประชุมฯ ในราวกลางเดือนนี้แล้ว การทำกิจกรรมเพื่อลดช่องว่างระหว่าง สส.รุ่นใหม่ กับผู้อาวุโส คือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้พรรคเพื่อไทย สามารถ อุดช่องว่าง ลดความสุ่มเสี่ยง เหมือนในอดีต 
 
 ก่อนหน้านี้เมื่อ สมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งตำแหน่งนายกฯ หญิง แม้จะมี มือทำงาน ที่ทักษิณ ไว้วางใจมาอยู่ข้างกาย ก็ตาม และแม้จะดูเหมือนว่าอำนาจเบ็ดเสร็จย่อมขึ้นอยู่กับทักษิณ แต่ขณะเดียวกัน กลับกลายเป็นว่า ช่องว่างและความขัดแย้งภายในพรรค เกิดสะสม ประกอบการ การที่พรรคเพื่อไทย ต้องเผชิญหน้ากับ การเมืองนอกพรรค จาก อำนาจใหม่ จนทำให้พรรคต้องไปเป็นฝ่ายค้านอย่างยาวนาน 
 
ดังนั้นปัญหา และจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นในวันวาน จึงต้องเร่งบริหารจัดการ ทั้งการลดช่องว่าง ลดความขัดแย้ง เพื่อให้ พรรคเพื่อไทย สามารถเดินยุทธศาสตร์สองขา ทั้งพรรคและรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ