ประชาธิปัตย์  พรรคการเมืองเก่าแก่อายุเกือบ8 ทศวรรษ กำลังเผชิญหน้ากับมรสุมครั้งใหญ่ เมื่อผลพวงจากความพ่ายแพ้ ศึกเลือกตั้งสส. นำมาสู่แรงกดดันให้มีการเร่งฟื้นฟูพรรคไม่เช่นนั้นจะไม่เหลือที่ยืนในสังเวียน บวกกับ ความขัดแย้ง ระหว่างสองขั้วอำนาจภายใน กลายเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมที่ทุกอย่างเลวร้ายลงไปทุกขณะ

 
พรรคประชาธิปัตย์ ปักหมุดวาระสำคัญเอาไว้ที่การประชุมใหญ่วิสามัญ วันที่ 9 ธันวาคมนี้เพื่อเลือก หัวหน้า-เลขาฯพรรคคนใหม่ พร้อมกันนี้ยังมีการเตรียมแผนสำรอง เอาไว้ป้องกัน การประชุมล่ม ซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2คราวก่อน 
 
เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่อึดใจ พรรคประชาธิปัตย์ จะได้หัวหน้าพรรคและแม่บ้านพรรคคนใหม่ พร้อมด้วย กรรมการบริหารพรรค ชุดใหม่ เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนกันต่อ แต่ดูเหมือนว่าตลอดหลายวันที่ผ่านมา หากไม่นับการประกาศตัวลงชิงเก้าอี้ของทั้ง นราพัฒน์ แก้วทอง และ มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค แกนนำพรรคแล้ว
 
 ต้องยอมรับว่า ทั้ง กลุ่มเพื่อนต่อ ที่มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรค กับฝ่ายตรงข้ามอย่างขั้วอดีตหัวหน้าพรรค ที่นำโดย ชวน หลีกภัย ต่างพากันเก็บงำอาการ และอยู่ในความนิ่งด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทว่าในความนิ่งที่ว่านั้น กลับมีรายงานว่า ทั้งสองขั้วต่างพากัน ขยับ และเกาะติดการข่าวของอีกฝ่ายอย่างเข้มข้น 
 
วันนี้สูตรที่ถูกพูดถึงว่าอาจเป็นทางออก จากความขัดแย้งในพรรค คือการให้มาดามเดียร์ นั่งหัวหน้าพรรคแล้วให้ ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาฯพรรค นั่ง เลขาฯพรรค เพื่อเปิดทางให้สองกลุ่มเพื่อนต่อ และกลุ่มชวน ได้ ถอยคนละก้าว  

 ปรากฏว่า สูตรดังกล่าวนี้ยังไม่นิ่งและมีโอกาส พลิกโผ เมื่อมีรายงานว่า เฉลิมชัย อาจตัดสินใจลงมาชิงเก้าอี้ด้วยตัวเอง แม้ก่อนหน้านี้เจ้าตัวประกาศวางมือไปแล้วหลังพรรคแพ้ศึกเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ตาม แต่หากมีเสียงเรียกร้อง และแรงหนุนจาก สส. ในพรรค ส่งสัญญาณก่อนถึงวันประชุมใหญ่ฯ9ธันวาคมนี้ 
 
จุดหักเหของการตัดสินใจสู้ด้วยตัวเองของเฉลิมชัย แทนการหนุนนราพัฒน์ นั้นย่อมมาจากหลายปัจจัย ทั้งการประเมินแล้วพบว่า บารมีของนราพัฒน์ ยังไม่มากพอที่จะคุมพรรค และหากหนุนให้นราพัฒน์ ชนะมาดามเดียร์ ก็เท่ากับว่า เฉลิมชัย ต้องเล่นบท อยู่เบื้องหลัง  ดังนั้นมิสู้โดดลงมาสู้ด้วยตัวเอง จะคุ้มกว่าหรือไม่ ?
 
ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ อาจไม่ได้อยู่ที่ว่า ฝ่ายเฉลิมชัยหรือฝ่ายนายหัวชวน จะได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ลำดับที่ 9 เท่านั้น หากแต่โจทย์ใหม่ จะอยู่ที่ว่าหลังจากนี้ จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านฝ่ายที่ชนะกันอย่างรุนแรงตามมาหรือไม่ จนถึงขั้นที่บางฝ่ายห่วงว่า จะเกิดปัญหา เลือดไหลออก เมื่อ ฝ่ายที่แพ้ไม่ยอมรับฝั่งตรงข้ามขึ้นมา !