ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองจะ “ดีหรือร้าย” คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า คนที่ทำนั้นเป็น “คนดีหรือคนร้าย” แต่น่าจะขึ้นอยู่กับการกระทำของเขานั้นว่าจะ “ดีหรือร้าย” มากกว่า

หลายวันก่อนผู้เขียนได้ดูภาพยนตร์ทางเคเบิ้ลทีวีช่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง Charlie Wilson’s War ในไตเติลบอกว่าสร้างจากเรื่องจริง เกี่ยวกับ ส.ส.อเมริกันคนหนึ่งที่ชื่อชาร์ลี วิลสัน (แสดงโดยทอม แฮงค์) เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1979 - 1989 ที่อาฟกานิสถานถูกรัสเซียยึดครอง แล้ววิลสันก็สนใจอยากจะหาวิธียุติสงครามนี้ จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ซีไอเอเพื่อหาหนทาง เจ้าหน้าที่ซีไอเอคนนั้นก็แนะนำไปแบบประชดประชันเพราะรำคาญนักการเมือง คิดว่าวิลสันคงหิวแสงอยากดัง แต่วิลสันเกิดเชื่อก็เริ่มระดมขอความช่วยเหลือ โดยเข้าหาคนที่เห็นด้วยและมีอุดมการณ์เดียวกัน หนึ่งในจำนวนนั้นก็มีเศรษฐีนีชื่อโจแอน (แสดงโดยจูเลีย โรเบิร์ต) ที่เป็นคนรักชาติมาก ๆ ทั้งยังเป็น “กิ๊ก” กับวิลสันด้วย ได้จัดงานระดมทุนให้วิลสัน พร้อมกันนั้นวิลสันก็เข้าหารัฐมนตรีกลาโหมเพื่อของบประมาณเพิ่ม พร้อมกับเดินทางไปตะวันออกกลางเข้าหาผู้นำบางชาติที่สนับสนุน ร่วมกับการหาสายลับเข้าไปติดต่อกับพวกกองโจรมูจาฮีดีนในอาฟกานิสถาน เพื่อให้ต่อต้านรัสเซียให้หนักมือยิ่งขึ้น โดยวิลสันจะหาอาวุธดี ๆ เข้าไปให้ พร้อมกับการฝึกหน่วยรบให้มีความทันสมัย

“ปฏิบัติการลับ” นี้ดำเนินอยู่หลายปี กองทัพรัสเซียถูกทำลายลงเรื่อย ๆ ด้วยงบประมาณที่รัฐบาลอเมริกันทุ่มเทเพิ่มขึ้นทุกปี กับชัยชนะของกองโจรมูจาฮีดีนที่มีอาวุธดี ๆ ก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่สุดรัสเซียก็ถอนทัพออกจากอาฟกานิสถานในเดือนกันยายน ปี 1989 อันถือกันว่าเป็นความพ่ายแพ้ที่ “น่าอับอายที่สุด” ของรัสเซีย ในขณะที่อเมริกันก็ถือว่าได้กลับคืนสู่ความเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง รวมทั้งที่นักรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น ทั้งนี้รัฐบาลอเมริกันได้ยกย่องนายวิลสันว่าเป็นวีรบุรุษ มีการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณอย่างเป็นทางการ ซึ่งในภาพยนตร์ได้นำมาเป็นฉากเปิดและปิดเรื่อง

คนสร้างหนังเรื่องนี้ฉลาดมาก เพราะแทนที่จะวางพล็อตให้เป็นหนังหนัก ๆ ในแนวการเมืองและสงคราม ก็มาทำเป็นหนังเบาสมอง (ในภาษาการทำหนังเรียกว่า Comedy Drama) โดยให้นายวิลสันมีบุคลิกเป็นเพล์บอย ชอบเที่ยวชอบดื่มและแวดล้อมด้วยสาวสวยระดับนางในปฏิทินปลุกใจเสือป่า ในสำนักงานผู้แทนราษฎรของเขาก็มีแต่เจ้าหน้าที่สาว ๆ ที่แต่งตัววาบหวิว รวมถึงที่เขาสัมพันธ์สวาทแบบลับ ๆ กับเศรษฐีนี และสาวสวยอื่น ๆ อีกมาก เพื่อให้เห็นว่าชีวิตของนายวิลสันไม่น่าจะมีแก่นสารอะไร ในขณะเดียวกันกับที่เขาทำปฏิบัติการลับตามที่เจ้าหน้าที่ซีไอเอประชดแนะนำให้ เขาก็ทำอย่างทุ่มเท อย่างที่สำนวนไทยเรียกว่า “โง่แต่ขยัน” แต่สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้ว ผู้สร้างหนังเรื่องนี้อาจจะจงใจที่จะเสียดสีการเมืองอเมริกันโดยตรง ร่วมกับการสอดแทรกความบันเทิงแบบฮอลลีวูด เพื่อให้ผู้ชมได้ทั้งสาระและความสนุกสนานนั่นเอง

สาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ในมุมมองของผู้เขียนก็คือเป็นไปตามทฤษฎีการเมืองดังที่จั่วหัวไว้ตอนต้นของบทความนี้ นั่นก็คือการเมืองนั้นเป็นเรื่องของอุดมการณ์หรือ “การมองโลกและชีวิต” โดยแท้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านักการเมืองคนนั้นจะเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่ขึ้นอยู่กับ “เป้าหมายและการกระทำ” โดยที่เป้าหมายก็คือการมองโลกและชีวิต อย่างที่นายวิลสันแม้ใคร ๆ จะมองว่าเป็นคนเสเพล แต่เมื่อเขามีความรักชาติและมีความเชื่อมั่นที่จะเอาชนะรัสเซียให้ได้ เขาก็ยอมทำในแบบที่อาจจะไม่ถูกหลักสงครามแบบทั่วไป เพราะเขาใช้กองโจร(มูจาฮีดีนของพวกอาฟกานิสถานกู้ชาติ)สู้กับกองทัพของทางการรัสเซีย ซึ่งก็เป็นไปตามคำแนะนำของซีไอเอที่ถนัดวิธีการ “ยุแยงตะแคงรั่ว” แบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรในหลาย ๆ ภูมิภาคของโลก ที่สุดแม้จะเป็นการกระทำที่ไม่ดี (เพราะทั้งสร้างสงครามและเป็นสงครามแบบเลว ๆ) แต่คนทำคือนายวิลสันก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษ” เพราะทำให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่ ในชัยชนะที่มีต่อรัสเซียนั่นเอง

ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็พอดีตอนเย็นได้ขับรถไปทำธุระแถวแยกราชประสงค์ หลังจากยกมือไหว้พระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณแล้วตามปกติในทุกครั้งที่ผ่านมาทางนี้  ก็บังเอิญให้หันหน้าไปฝั่งตรงกันข้ามที่เป็นโรงพยาบาลตำรวจ ฉุกคิดได้ว่ามี “คนสำคัญ” อยู่บนชั้น 14 ที่นั่น กำลังจะมองว่ามีคนป่วยอาการหนักอยู่บนนั้นจริงหรือไม่ ก็พอดีสัญญาณไฟเขียวติดขึ้น ต้องรีบออกรถ แต่พอขับต่อมาก็นึกถึงหนังเรื่องสงครามของนายวิลสันนี้ โดยนึกเชื่อมโยงว่า “คนของเรา” นี้เลวกว่านายวิลสันเสียอีก แต่ก็ยังมีคนรักอยู่ทั่วประเทศ อย่างน้อยก็ในเวลาที่เลือกตั้ง คนไทยก็เลือกลิ่วล้อของ “อดีตนายกรัฐมนตรีหนีคุก” คนนี้เข้าสภามาเป็นจำนวนมาก ๆ ทุกครั้ง รวมทั้งที่ยังมีคนเชียร์ให้มีการอภัยโทษให้แก่ “คนเลวที่ชาวบ้านรัก” นี้อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

เหตุผลหนึ่งของคนที่เชียร์ให้มีการอภัยโทษให้กับคนเลวคนนั้นก็คือ เขาเคยเป็นผู้ประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศไทย ที่กระทำไปก็เพื่อทำให้คนไทยอยู่ดีกินดี ไม่ได้มีเจตนาจะคดโกงหรือทำร้ายใครแต่อย่างใดไม่ (ตรงนี้ขอไม่เอาเรื่องความร่ำรวยเป็นแสน ๆ ล้าน และเรื่องอภิมหาโคตรโกงต่าง ๆ มาทำให้รกสมอง) แต่ก็น่าเสียดายที่คุณงามความดีของเขานั้น ไม่ได้สร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยเลย โดยเฉพาะในเรื่องของการทำลายหลักศีลธรรม ที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งเกิดเชื่อว่า “ทำชั่วเพื่อคนไทย” นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ไม่รวมกับที่ได้ทำลายสถาบันยุติธรรม รวมถึงที่ยังไม่น่ามั่นใจว่าจะละเลิกการทำตัวเสมอกับสถาบันสูงสุดนั้นด้วยหรือยัง) แตกต่างจากนายวิลสันที่เลวก็เลวแต่ความเป็นส่วนตัว แต่พอถึงเรื่องของชาติเขาก็ยอมทำอย่างทุ่มเทแม้จะมีคนหัวเราะเยาะและเย้ยหยัน

ขอจบด้วยคำคมของนักการเมืองคนดังที่ผู้เขียนเคยไปสัมภาษณ์ตอนทำวิทยานิพนธ์เมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา เขาเป็นเจ้าของคำพูดที่ว่า “ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม” ตอนท้ายผู้เขียนถามว่าใคร ๆ ก็บอกว่าท่านเป็นคนไม่ดี ท่านมีความรู้สึกอย่างไร และอยากจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร

คุณเฉลิม อยู่บำรุง ตอบผู้เขียนว่า “คนเราชั่วได้แต่อย่าเลว” ก็น่าจะเป็นคำตอบแก่คนที่อาจจะเคยทำชั่ว แต่ก็ไม่ได้อยากเป็นคนเลวนั้นเลย