การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 66 ที่ผ่านมา  ในที่สุดแล้ว สามารถได้ หัวหน้าพรรคคนใหม่  หลังจากที่ก่อนหน้านี้การประชุมใหญ่พรรคมีอันต้อง ล่มมาแล้ว 2 ครั้ง แต่เมื่อการประชุมใหญ่รอบนี้ นับเป็น เส้นตาย ที่ประชาธิปัตย์ จะต้องมีความชัดเจน จึงทำให้ สองขั้วอำนาจ ต่างอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ไฟท์บังคับ  

 ทั้งขั้ว กลุ่มเพื่อนต่อ ที่มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวเรือใหญ่ กับ กลุ่มอดีตหัวหน้าพรรค  ที่มี ชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อของพรรค  ยืนอยู่หน้าป้อมค่าย จึงไม่อาจเลี่ยงการเผชิญหน้ากันได้อีกต่อไป 


 ด้วยเหตุนี้ กว่าที่กระบวนการการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ลำดับที่ 9 จะจบลง จึงเกิดช็อตสำคัญทางการเมือง เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตหัวหน้าพรรค ขอเคลียร์ใจกับ เฉลิมชัย ตามลำพัง ก่อนลงเอยที่อภิสิทธิ์ ประกาศ ถอนตัว จากการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค พร้อมจะ ลาออก จากการเป็นสมาชิกพรรค สร้างความตกใจให้กับที่ประชุมใหญ่ของพรรค 

 ถามว่า สถานการณ์ที่กดดันระหว่าง คนกันเอง เช่นนี้ แม้ทุกคนจะรู้ดีว่า เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาอย่างยืดเยื้อ แต่หลายคนไม่คาดคิดว่า อภิสิทธิ์ จะประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเช่นนี้ และดูเหมือนว่า ภายหลังการลาออกจากสมาชิกพรรคของอภิสิทธิ์ผ่านไปไม่กี่นาที ฝ่ายขั้วเฉลิมชัย  ที่แม้จะ กำชัยชนะ เพราะได้ทั้งเก้าอี้ หัวหน้า-เลขาฯพรรค กลับเจอกับมรสุมที่โถมเข้าใส่อย่างดุเดือด 

 กลายเป็นว่าเฉลิมชัย ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเจอกับ วิกฤติศรัทธา จากฝั่งที่อยู่ตรงข้าม ลุกลามไปจนถึงขั้นประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคตามมา จนถึง ณ เวลานี้ จนกลายเป็น เลือดไหลออก อย่างต่อเนื่อง 


 วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของเฉลิมชัยและเลขาฯคู่ใจคือ เดชอิศม์ ถูกจับตาอย่างหนักว่า ช็อตต่อไปคือจังหวะการเข้าร่วมรัฐบาลกับ พรรคเพื่อไทย เมื่อใด เงื่อนไข ปัจจัย อะไรที่จะทำให้ ประชาธิปัตย์ เดินไปสู่ อะไหล่ ทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ที่จะดึงมาร่วม 

 อย่าลืมว่าการเจรจาเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาล กับพรคเพื่อไทย ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเดชอิศม์ ก็เคยออกมายอมรับเองว่าเขาเคยพบกับ ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกฯ ในฐานะผู้มีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทย  ดังนั้นเกมที่เคยถูกนับหนึ่ง ตั้งแต่ครั้งนั้น จึงย่อมถูกจับตาว่า เมื่อเฉลิมชัย และเดชอิศม์ ยึดพรรคสำเร็จแล้วการร่วมรัฐบาล จะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร !?