เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ผลการประเมินความรู้นักเรียนนานาชาติ (PISA) ปี 2023 ดีที่สุด 10 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง เอสโตเนีย แคนาดา ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ 

ในจำนวน 81 ประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 63 ห่างจากอันดับสุดท้าย 18 ประเทศ เมื่อวัดเรื่อง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ตาม “มาตรฐาน” ของประเทศพัฒนา ซึ่งแม้ว่าจะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับโปรแกรมการประเมินนี้ แต่โดยทั่วไปก็ยอมรับกันได้

สื่อสัมภาษณ์เด็กไทยและผู้เกี่ยวข้องได้ข้อสังเกตว่า คำถามหรือข้อสอบเป็นแนวให้วิเคราะห์ ไม่ใช่เป็นความจำ เป็นอะไรที่เด็กไทยบอกว่า ไม่เหมือนกับที่เรียนในโรงเรียน  จึงไม่แปลกที่ “สอบตก” กันตั้งแต่มีการประเมินนี้มากว่า 20 ปี

ความจริง แม้ไม่มีการประเมินแบบ PISA สังคมไทยก็ประเมินตนเองว่า “สอบตก” เรื่องการศึกษามาตลอด มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีการปฏิรูป มีการออกเป็นกฎหมาย แต่การศึกษาก็ไม่ได้ดีขึ้น

จึงมีเรื่องแปลกแต่จริงที่มีคนเรียนจบมหาวิทยาลัยปีละหลายแสนคน แต่ตกงานจำนวนมาก สวนทางความต้องการแรงงาน เพราะที่เรียนมาไม่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ หรือแม้ตรงแต่ทำงานไม่เป็น

การอุดมศึกษาที่อ่อนแอเป็นมาตั้งแต่ประถมและมัธยมที่ไม่ได้สร้างฐานรากที่แข็งแรง เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจของการศึกษาในทุกระดับ คือ การสอนคนให้คิดเป็น แต่นักเรียนนักศึกษาไทยถูกสอนให้ท่องจำ

ความจริง กระทรวงศึกษาธิการรู้ดีหมดว่า การศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปอ่านพรบ.ปฏิรูปการศึกษา 2542 ก็ได้ ฟังแค่สโลแกนที่ว่า “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” ก็ดูดี เพียงแต่ไม่มีวิธีทำให้เกิดจริง

การศึกษาไทยเน้นการรับ (passive) มากกว่าการรุก (active) ครูยังคิดว่าตนเองต้องถ่ายทอดวิชาให้นักเรียน ทั้งๆ ที่นักเรียนหาข้อมูลความรู้ได้ในเน็ตได้มากกว่าครูเสียอีก

เราจึงมีครูที่เป็น “คุณพ่อรู้ดี” ทุกเรื่อง เป็นผู้สอน มากกว่าเป็นโค้ช ที่แนะนำวิธีการเรียนรู้ เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียน สนุกกับการเรียน ซึ่งทำได้ยากกว่า

การศึกษาไทยเรียนหาคำตอบ มากกว่าตั้งคำถาม จึงถามไม่เป็น ไม่คุ้นกับคำถามที่ไม่ได้เรียนมา เมื่อไปทดสอบ “ปีซา” จึงพบแต่ “คำถามที่ไม่ตรงคำตอบ” ที่ตนเองเรียนมาจากห้องเรียน

การสอนให้เด็กตั้งคำถามเป็นสำคัญกว่าการหาคำตอบ เพราะเท่ากับเปิดโลกของการเรียนรู้ของเขาให้กว้างขึ้นไปอีก เขาจะคุ้นเคยกับการตั้งคำถาม ซึ่งหมายถึงความอยากรู้อยากเห็น อันเป็นหัวใจของการศึกษา นั่นคือกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ขยายพรมแดนความรู้ จากโลกแคบๆ เล็กๆ ไปสู่โลกกว้าง สู่สากล

การตั้งคำถามนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งทำให้เห็นประเด็นแตกต่างหลากหลายขึ้น ไม่ฟังอะไรเห็นอะไรก็คล้อยตามหมด ถูกครอบงำง่าย

เคยบอกนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวิชาปรัชญาว่า ถ้าคุณดูข่าว การแถลงข่าว การนำเสนอเรื่องราวเศรษฐกิจสังคมการเมืองทางทีวี หนังสือพิมพ์ ดูไป ฟังไป อ่านไป แล้ว “ไม่ด่า” บ้าง ไม่วิจารณ์ ไม่เห็นต่างบ้าง ไม่ตั้งคำถามใหม่ๆ บ้าง แสดงว่า คุณยังคิดไม่เป็น

อาจเป็นได้ที่ธรรมเนียมไทยแต่โบราณสอนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ (ซึ่งมักแยกไม่ออกกับ “ด่า”) เพราะถือว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนก่อน” มีความรู้มีประสบการณ์มากกว่า จึงควร “ตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” เด็กดีเป็นคนว่านอนสอนง่าย ไม่เถียงผู้ใหญ่

ปัญหาการศึกษาไทยยังอยู่ในวิธีคิดแบบโบราณ อยู่ในระบบโครงสร้างสังคมอุปถัมภ์ จึงมีชุดค่านิยมที่ครอบงำ ครูยังมีอำนาจเหนือเด็ก  ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ “ปิดปาก” เด็กไม่ให้ถามมาก ถ้าถามแปลกๆ ครูก็จะหาว่าทะลึ่ง โดยไม่สนใจค้นหาว่า ทำไมเด็กคนหนึ่งจึงถามแบบนั้น

วันนี้น่าจะถึงเวลาของการสังคายนาการศึกษาไทยเสียที พอแล้วกับการปฏิรูปที่พูดกันไปมาไม่รู้กี่ครั้ง มีคณะกรรมการ ประชุม ร่างแผนขึ้นมาเล่มโต แต่ก็ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักหรือตั้งอยู่บนหิ้ง

สังคายนาเป็นคำใหญ่ เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมเพื่อหาสาเหตุและแนวทางเพื่อแก้ปัญหาอย่างรอบด้านและถึงรากถึงโคน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“ทุกฝ่าย” ในการศึกษาก็ไม่น่าจะใช่กระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลเท่านั้น แต่หมายถึงภาคประชาชน ชุมชน ประชาสังคมด้วย จัดเวทีในทุกระดับ ค้นหาผู้รู้ผู้นำในสาขาต่างๆ ให้ร่วมกันฟังความคิดเห็นของ “ทุกฝ่าย” ประมวล วิเคราะห์ และสรุปแนวทางเพื่อการเปลี่ยนแปลง

เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องริเริ่ม มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีเจตจำนงทางการเมืองพร้อมที่จะปรับโครงสร้างทางการศึกษาและทางบ้านเมืองไปพร้อมกัน กระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนคนท้องถิ่นพัฒนาศักยภาพของตนเอง จัดการทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง

ระหว่างปี 1963-1965 ที่กรุงโรม มี “สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2” มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,600 คน เป็นบิชอบ คาร์ดินัลจากทั่วโลก มีนักคิดนักวิชาการด้านเทวศาสตร์ ปรัชญา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอื่นๆ รวมทั้งผู้แทนจากศาสนาต่างๆ สถาบันสำคัญทางเศรษฐกิจสังคมนานาชาติ

พระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ผู้ประกาศให้มีสังคายนา เป็นผู้ตั้งคณะทำงานหลายคณะที่อยู่นอก “วาติกัน” เกือบทั้งหมด ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลและแนวคิดอนุรักษนิยมของ “คูเรีย โรมานา” (Curia Romana) ที่เป็นองค์กรบริหารที่ทรงอิทธิพลในวาติกัน

คณะทำงานที่เตรียมสังคายนาจึงเต็มไปด้วยนักวิชาการทางเทวศาสตร์และปรัชญาที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก มีอิสระในการเตรียมเอกสารที่เป็นทั้งธรรมนูญ เป็นเอกสารสำคัญในระดับต่างๆ  สังคายนาวาติกันที่สองจึงเป็นการเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” เปลี่ยน “ถึงรากถึงโคน” ของพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างแท้จริง

สังคายนาการศึกษาไทยถ้าได้แจ้งเกิด ก็จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทั้งการศึกษาและสังคมไทย