รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

PM2.5 ย่อมาจาก Particulate Matters 2.5 µm เป็นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ กว่า 20 เท่า) ประกอบด้วยก๊าซพิษและสารก่อมะเร็ง เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ก๊าซ และเบนซิน ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง ฝุ่นและควันจากไฟป่า โดยค่า PM2.5 ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกระดับค่าเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และค่าเฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 10 มคก./ลบ.ม. ล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของไทยได้กำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่ จากค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 15 มคก./ลบ.ม.

ภัยคุกคามสุขภาพมนุษย์จาก PM2.5 เกิดจากอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากจนเลี่ยงกลไกการป้องกันตามธรรมชาติและฝังลึกเข้าไปในปอด ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ปัญหาระบบทางเดินหายใจ หอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอด ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง การเต้นของหัวใจผิดปกติ ความรู้ความเข้าใจลดลงและภาวะสมองเสื่อม และปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น เบาหวาน ปัญหาระบบสืบพันธุ์ ความพิการแต่กำเนิด และการระคายเคืองตา สำหรับระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อสุขภาพเหล่านี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงความเข้มข้นของ PM2.5 ในอากาศ ระยะเวลาในการสัมผัส และความไวของแต่ละบุคคล ซึ่งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วมีโอกาสเสี่ยงเป็นพิเศษต่อผลกระทบที่เป็นอันตรายของ PM2.5

คำแนะนำเพื่อป้องกันตัวเองจาก PM2.5 ได้แก่ ใช้แอปพลิเคชันหรือติดตามรายงานการตรวจสอบดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่/ทำงานอยู่ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อความเข้มข้นของ PM2.5 สูง สวมหน้ากาก N95 หรือ FFP2 ที่ออกแบบมาเพื่อกรองอนุภาค PM2.5 ใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้านที่มีแผ่นกรอง HEPA ลดการสัมผัสควันบุหรี่มือสองและมลพิษทางอากาศภายในอาคารหรือบ้าน เช่น การใช้เตาแก๊ส การจุดธูป เป็นต้น เปิดหน้าต่างเพื่อการระบายอากาศตามธรรมชาติใน ช่วงระยะเวลาที่มีมลพิษต่ำ และพิจารณาติดตั้งระบบระบายอากาศ ปลูกต้นไม้และพื้นที่เขียวขจีเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกรองอากาศตามธรรมชาติ

สำหรับแนวทางของภาครัฐเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 สามารถดำเนินการได้หลายประการ เช่น ควบคุมแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมทางเลือกการขนส่งที่สะอาดขึ้น ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ผลักดันกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการปล่อยมลพิษทางอุตสาหกรรม ไอเสียจากยานพาหนะ และแนวปฏิบัติทางการเกษตร ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การปั่นจักรยานและการเดิน ลดการพึ่งพายานพาหนะส่วนตัวและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนโครงการริเริ่มที่ส่งเสริมพื้นที่สีเขียวในเมือง สวนสาธารณะ และต้นไม้ริมถนน สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากมลภาวะ PM2.5 และสนับสนุน การดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่

วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 ของไทยเกิดขึ้นทุกปีและทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูร้อนรัฐบาลจึงยกระดับการแก้ปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตลอดช่วงเวลา 4-5 ปีมานี้ นักคิด นักวิชาการ รวมถึงแพทย์ต่างพากันออกมาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PM2.5 ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผล อย่างจริงจังทั้ง ๆ ที่ PM2.5 เริ่มกล่าวถึงในไทยมาประมาณ 22 ปีแล้ว โดยกรมควบคุมมลพิษออกมาตรการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2544 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง และใน ปี 2553 เป็นปีเริ่มต้นของการกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาด PM2.5

ล่าสุดข่าวเศร้าที่กระทบจิตใจคนไทยไม่น้อยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวของหมอไทหรือนายแพทย์กฤตไท ธนกฤตสมบัติ หมอหนุ่มที่จากไปด้วยมะเร็งปอดสาเหตุจาก PM2.5 และเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจ “สู้ดิวะ” ยิ่งกว่านั้นมีสถิติว่าคนไทยเสียชีวิตด้วย PM2.5 กว่า 70,000 คน สูงเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม อีกทั้ง ช่วงต้นปีนี้ก็พบผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจพุ่งสูงถึง 1.7 ล้านคน

จากปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 ที่เรื้อรังและยังแก้ไขไม่บรรลุผลได้ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และสุขภาพคนไทย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจึงสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “คนไทยกับฝุ่น PM2.5” ใน 6 ข้อคำถาม ได้แก่ ระดับความวิตกกังวลต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นและเกินมาตรฐาน สาเหตุที่ทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น วิธีการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 สาเหตุที่ทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แก้ไขยาก รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างไร และรัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้หรือไม่ ขอเชิญผู้อ่านร่วมตอบแบบสำรวจออนไลน์ได้ที่ https://forms.gle/ChH4bZKeevzChj8C9 และติดตามผลสำรวจในเร็ว ๆ วันนี้ด้วยกันครับ