เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกือบทั้งหมดเป็นการส่งเสริมการเกษตร ทรงเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ ทรงส่งเสริมให้รวมกลุ่มกันทำงาน เพราะหลายอย่างทำคนเดียวไม่ได้ ทรงเห็นด้วยกับการมีกลุ่มเล็กๆ ทำเรื่องการออม เรื่องเลี้ยงสัตว์ เช่น กลุ่มเลี้ยงโค กระบือ กลุ่มอาชีพในชนบท เช่น กลุ่มแม่บ้านที่ทำการผลิต การแปรรูป การจัดการขายร่วมกัน และที่สำคัญ ทรงส่งเสริมสหกรณ์ ทรงสอนว่า ความจริง คนไทยเราร่วมมือกันทำงานแต่ไหนแต่ไรมา เพียงแต่ไม่ได้เรียกสหกรณ์เท่านั้น และทรงสนับสนุนสหกรณ์ในระบบสากลว่า “ควรที่จะมีการแพร่ขยาย ให้ใช้ระบบสหกรณ์ขึ้นทั่วประเทศ เนื่องจากวิธีการสหกรณ์นั้นเอง เป็นรากฐานที่ดีของระบบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ สอนให้คนรู้จักรับผิดชอบร่วมกันให้มีการเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารสหกรณ์ ตลอดจนให้รู้ถึงคุณค่าของประโยชน์อันจะได้ร่วมกันเป็นส่วนรวม” (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ ณ ศาลาดุสิดาลัย 12 พฤษภาคม 2520) “การสหกรณ์นี้ถ้าเข้าใจดีแล้วก็เห็นได้ว่าเป็นวิธีทางเดียวที่จะทำให้มีความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้ และต้องเข้าใจว่าเป็นการสหกรณ์ที่เรียกว่าสหกรณ์แบบเสรี คือ แต่ละคนต้องมีวินัยจริง แต่ว่าไม่อยู่ในบังคับของใครเลย อยู่ในบังคับของวินัยที่ตัวเองต้องเป็นผู้รับรอง” (พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ ณ ศาลาดุสิดาลัย 7 พฤษภาคม 2522) สหกรณ์ไทยอายุครบ 100 ปีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 “ประชาธิปไตย” ไทยก็อายุ 84 ปี แต่ล้มลุกคลุกคลานมาพอๆ กัน เพราะทั้งสองเรื่องเกี่ยวข้องกันดังที่พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกข้างต้น สหกรณ์จะเติบโตได้ถ้าคนมีวินัย เข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ และที่สำคัญต้องใช้ “ความรู้” สหกรณ์ไทยร้อยปีมีพัฒนาการที่น่าผิดหวัง และคงเป็นเรื่องเดียวที่พระราชดำริของพระองค์ไม่บรรลุผล เกษตรกรไทยได้กลายเป็นเพียงแรงงาน ให้นายทุนนำผลผลิตไปจัดการ แทนที่ผู้ผลิตจะกำหนดราคาและมีอำนาจต่อรอง กลับเป็นพ่อค้าที่กำหนดราคาและควบคุมทั้งปุ๋ย ยา อาหารสัตว์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปัจจัยการผลิตแทบทุกอย่าง เกิดการตกเขียวและวงจรอุบาทว์ของหนี้สิน การเกษตรไทยจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถูกจับเป็นตัวประกัน ดังที่ยังเห็นผลสืบเนื่องมาจนถึงวันนี้ที่โครงการจำนำข้าวและโครงการต่างๆ ที่ล้วนทำให้เกิด “นายหน้าค้าความจน” เกิดการรวมหัวกันระหว่างพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมือง สหกรณ์กับประชาธิปไตยไปด้วยกัน และจะไปได้ดี ได้ผล สร้างพลังเข้มแข็งให้เกษตรกร และเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศได้จริงถ้าหากนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จริง “พอประมาณ” คือ ให้รวมกลุ่มกันเดินทางสายกลาง ความพอดีมีคุณธรรม ใช้ “ปัญญา ความกล้าหาญและความเพียรทน” จึงจะบรรลุผล สหกรณ์แตกแยก ยุบ ล้ม เลิก ไม่เจริญเติบโตเพราะขาดคุณธรรม ความไม่ซื่อสัตย์ของกรรมการและสมาชิก คิดแต่จะเอา คิดแต่จะกู้ ไม่รู้จักให้ ไม่รู้รักสามัคคี “มีเหตุมีผล” คือ ใช้วิชาการ ใช้ความรู้ในการทำงาน สหกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ใต้การควบคุมของข้าราชการที่ควรเพียง “กำกับดูแล” และส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรให้เรียนรู้และบริหารจัดการสหกรณ์ด้วยตนเอง เพราะไม่มีความรู้จึงถูกครอบงำง่ายจากข้าราชการ นายทุนและนักการเมือง ถูกหลอกถูกโกงจากคนที่ฉวยโอกาส ใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือทำมาหากิน “มีภูมิคุ้มกัน” คือ มีระบบการบิรหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ ส่งเสริมสมาชิกให้พัฒนาระบบการผลิต ร่วมมือกันจัดการการแปรรูปเพื่อให้เกิดมูลค่ามากขึ้น การขาย เกิดระบบสวัสดิการ ระบบการป้องกันความเสียหายหรือผลกระทบจากภัยธรรมชาติหรือปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากสหกรณ์การเกษตร ยังมีกลุ่มเกษตรกรอีกหลายพันกลุ่มทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมักทำได้เพียงการไปกู้เงิน ธ.ก.ส.มาให้สมาชิกกู้ สมาชิกเบี้ยว กลุ่มก็ล้มหรือเลิก ขณะที่สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรเป็นนิติบุคคล วิสาหกิจชุมชนเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ด้วย พรบ.ที่ต้องการให้เป็นนิติบุคคล แต่ที่สุดก็เป็นได้เพียงแค่ “กลุ่มคน” ที่ทำการผลิต แปรรูป และทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนเท่านั้น เขาให้ไป “ลงทะเบียน” กับเกษตรอำเภอ/จังหวัดไม่ใช่การไป “จดทะเบียน” เพื่อเป็นนิติบุคคล แต่เป็นเพียงให้รู้ว่า มีกลุ่มที่รวมตัวกันและเรียกตัวเองว่า วิสาหกิจชุมชนเท่านั้น แม้รวมตัวกันไปลงทะเบียนแล้วมากกว่า 80,000 กลุ่ม ส่วนใหญ่ก็เพียงเพื่อ “รอรับความช่วยเหลือจากรัฐ” เท่านั้น วิสาหกิจชุมชนดั้งเดิมเป็นความพยายามจากชุมชนคนรากหญ้าที่ต้องการหาทางออกทางเลือกให้ตนเองที่ดีกว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน ยังอยู่ใต้อำนาจของพ่อค้าคนกลาง นายทุนโรงสีและส่งออก นี่ต่างหากที่เป็นกับดักแท้จริงของการพัฒนา โฉมหน้าชาวนาไทย 1.0 ถึงเวลาปฏิรูปสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ยกสองเรื่องนี้ออกจากกระทรวงเกษตรฯ ให้มีสถานภาพที่เป็นอิสระกว่านี้ ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง และหน่วยงานต่างๆ อย่าง “บูรณาการ” ในโลกยุคใหม่ สหกรณ์จะได้เติบใหญ่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ให้โอกาสการศึกษาและพัฒนาตนเองแก่เกษตรกร ใช้ความรู้ใช้ปัญญาในการพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งจัดการตนทุกขั้นตอน ปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระ ให้อยู่ได้อย่างพอเพียงและมั่นคงยั่งยืน