“องคมนตรี” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  หมายถึง ผู้มีตำแหน่งที่ปรึกษา ในพระองค์พระมหากษัตริย์ 

 

ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 10 กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏตำแหน่งที่เรียกว่า “เคลิกออฟเคาน์ซิลลอร์” ในพระราชบัญญัติ ปรีวีเคาน์ซิลคือ “ที่ปฤกษาในพระองค์” ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 10 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236  มีหน้าที่ในการจดรายชื่อจำนวนที่ปฤกษาราชการในพระองค์ การรับแจ้งกรณีที่ปฤกษาราชการในพระองค์จะเดินทางออกจากพื้นที่ปฏิบัติงาน และ  การร่างจดหมายเชิญประชุมที่ปฤกษาราชการในพระองค์

 

ต่อมาใน พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา “พระราชบัญญัติองคมนตรี” ขึ้นแทน “พระราชบัญญัติ ปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษา ในพระองค์”  ต่อมาได้มีการตราประกาศยกเลิก พระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470   ส่งผลให้ตำแหน่งองคมนตรีถูกยุบเลิกไป

 

กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492” ซึ่งในมาตรา  13 ได้บัญญัติถึงคณะองคมนตรีและหน้าที่ขององคมนตรี ความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้”  ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกที่บัญญัติถึงคณะองคมนตรีและหน้าที่ของคณะองคมนตรี

 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น องคมนตรี