ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองไทยปีหน้าจะน่าเบื่อมาก ๆ เพราะยังคงอยู่ในวังวน “ประชาธิปไตยอุบาทว์” แบบพวกมากลากไป ด้วยนโยบาย “ไร้สาระ” และพฤติกรรมแบบ “ด้านทน”

ก่อนอื่นต้องขออนุญาต “ปูพื้น” คือทบทวนความเข้าใจให้กับท่านผู้อ่านที่อาจจะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางรัฐศาสตร์ทุกท่าน ถึง “ปัจจัยหลัก” ของการวิเคราะห์การเมือง ซึ่งในทางสากลจะประกอบไปด้วย หนึ่ง ผู้นำหรือผู้ปกครอง สอง สถาบันทางการเมืองการปกครอง ได้แก่ รัฐบาล รัฐสภา ระบบราชการ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มกดดัน และประชาชน กับสาม กระบวนการทางการเมือง เป็นต้นว่า การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการกระทำในสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น การออกกฎหมายของรัฐสภา และการบริหารนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น แต่เพื่อให้กระชับและมองการเมืองไทยได้ง่ายขึ้น ในการวิเคราะห์การเมืองไทยของปีหน้า 2567 ผู้เขียนจึงขอเจาะจงไปเฉพาะแต่รัฐบาลกับรัฐสภาเป็นสำคัญ

ตอนที่ตั้งรัฐบาลชุดนี้ใหม่ ๆ หลังจากที่สภาได้โหวตให้นายเศรษฐา ทวี สิน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ผู้เขียนก็ได้ไปร่วมวิเคราะห์อนาคตของรัฐบาลชุดใหม่นี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง โดยพยากรณ์ไว้ว่า นายเศรษฐานี้จะเป็นแค่ “นายกฯหน้าม่าน” หรือ “แขกเบิกโรง” ก่อนที่ลิเกจะเริ่มเล่นจริง ๆ โดยมีกรณีของ นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเร่งสำคัญ ที่จะ “บงการ” ให้การเมืองวุ่นวาย โดยที่ นช.ทักษิณมีความมุ่งหวังที่จะครองอำนาจในทางการเมืองต่อไป ทั้งเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเอง และ “ความสะใจ” ที่หวังจะให้สังคมไทยทุกหย่อมหญ้า “ซูฮก” ในตัวเขา ในความยิ่งใหญ่ “ล้นฟ้าล้นแผ่นดิน” นี้ โดยผู้เขียนเรียกการกระทำแบบแปลกประหลาดของ นช.ทักษิณนี้ว่า “อภินิหาร”

หลายคนรวมทั้งผู้เขียนเคยคิดว่า ในวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา อาจจะมีอภินิหารใหญ่ ด้วยจะเกิด “ฟ้าผ่า” อภัยโทษให้ นช.ทักษิณพ้นคุก แต่ก็ไม่เกิด ทว่าในวันรุ่งขึ้นคือ 6 ธันวาคม ก็มีการออกระเบียบของกรมราชทัณฑ์เพื่อให้มีการคุมขังนอกคุกได้ จึงเชื่อกันว่านี่กระมังที่เป็น “อภินิหาร” ที่มีการวางแผนกันไว้เพื่อมอบของขวัญปีใหม่ให้กับ นช.ทักษิณนี้ด้วย ซึ่งเราควรติดตามและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ๆ เพราะนี่จะเป็น “ปัจจัยหลัก” ของความเป็นไปในทางการเมืองในปีหน้า ไม่ว่า นช.ทักษิณจะยังอยู่ในคุกหรือได้ออกมาคุมขังข้างนอกแล้วก็ตาม

กูรูการเมืองบางคนเรียกการเมืองไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐานี้ว่า “รัฐบาลสลายขั้ว” และบางคนก็จินตนาการไปถึงขึ้นที่เรียกว่าเป็น “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” คือน่าจะมีความมั่นคงพอควร เพราะพรรคการเมืองต่างขั้วสามารถมารวมตัวกันได้ และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็ดูเหมือนว่าจะยอมตามพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำ “ไม่หือไม่อือ” ส่งเสียงหรือก่อกวนอะไร คล้ายกับว่าอยากจะให้รัฐบาลนี้อยู่รอดและบริหารไปได้เรื่อย ๆ แต่ผู้เขียนกลับมีความเห็นในทางตรงกันข้าม เพราะรัฐบาลนี้น่าจะเป็นเพียงการยอมให้กันเฉพาะกิจ ที่พร้อมจะเปลี่ยนขั้วได้เสมอ จึงไม่ได้อยู่ได้ด้วยความคิดที่จะปรองดองหรือดีต่อกัน แต่ยังคงคิดที่จะอยู่รอดไปตามลำพัง ถ้าหากพรรคเพื่อไทยมีอันเป็นไป โดยเฉพาะ “หายนะ” ที่ นช.ทักษิณจะเป็นผู้นำมา

“หายนะแรก” คือการได้นายเศรษฐามาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 ถือว่าเป็น “หายนะของฝ่ายอนุรักษ์” ในสังคมไทย ถึงขนาดที่นายทหารสายเหยี่ยวในกองทัพไทยต้องร้องไห้ต่อหน้าเพื่อนในก๊วนกอล์ฟ แล้วพูดขึ้นมาว่า “ฉิบหายแล้วประเทศไทย” เมื่อเห็นพรรคที่มีนายทหารควบคุมอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ยอมถอยให้กับพรรคเพื่อไทย ภายใต้กระแสข่าวของ “ดีลลับลังกาวี” พร้อมอดีตพรรคร่วมอื่น ๆ ที่ต้องหันมายินยอมให้ด้วย โดยมีสภาลูกกระพรวน “ส.ว.” โหวตนำเป็นหลัก พร้อมกับการแสดงอภินิหารแรกด้วยการบินเข้าประเทศไทยอย่างสูงเกียรติของ นช.ทักษิณ ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มและดูมีสุขภาพดี แล้วก็แสดงอภินิหารต่อมาด้วยการไม่ให้เท้าโดนดินในคุก แต่มีเฮลิคอปเตอร์รับมาอยู่ในห้องสวีทของโรงพยาบาลตำรวจในทันที ตามมาด้วยการลดโทษจาก 8 ปีเหลือปีเดียว และกำลังจะออกมาอยู่บ้านด้วยระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์นั้น หายนะนี้จึงไม่ได้เกิดแก่กองทัพ รัฐสภา กระบวนการยุติธรรม และระบบราชการเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงสถาบันที่อยู่สูงขึ้นไป ที่ต้องถูกกลุ่มคนในสถาบันอื่น ๆ นำความระคายเคืองขึ้นไปสู่นั้นด้วย

“หายนะต่อมา” ก็เป็นผลสืบเนื่องจากหายนะแรกที่เกิดจากการสร้างอภินิหารของ นช.คนหนึ่งนั้นนั่นเอง นั่นก็คือบ้านเมืองจะ “ไร้ขื่อไร้แป” เพราะกระบวนการยุติธรรมถูกเหยียบย่ำทำลาย เพราะคนที่เป็นนักโทษด้วยกันก็จะรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม ทำให้ที่ในคุกนั่นเองก็จะไม่มีความสงบสุข ญาติพี่น้องที่อยู่นอกคุกก็คงไม่อยู่นิ่ง สิ่งหนึ่งก็คือรัฐบาลจะรับ “ศึกคนคุกและญาติพี่น้อง” นี้อย่างไร และต่อไปเราอาจจะได้เห็นคนฝ่าฝืนกฎหมายมากขึ้น พร้อมกับความเชื่อถือในระบบกระบวนการยุติธรรมก็จะหมดไป บางทีอาจจะส่งผลถึงขึ้นที่ข้าราชการดี ๆ ตั้งใจทำงาน เช่นตำรวจดี ๆ บางส่วนก็อาจจะ “งอมืองอเท้า” หรือไม่อยากจะ “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” ไปจัดการกับพวกที่กระทำผิดกฎหมาย หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไล่ อย่างที่เราเคยเห็นในคราวที่มีม็อบในปี 2549 และ 2557 นั้นแล้ว ที่บ้านเมืองวุ่นวายโดยที่เจ้าหน้าที่กล้าจัดการกับใคร

“หายนะสุดท้าย” คือหายนะของระบบการเมืองและภาคประชาชน อย่างที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ในตอนต้นว่าเป็น “ประชาธิปไตยอุบาทว์” คือเรามีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่ก็ทำงานไม่ได้ เพราะพรรคใหญ่ในสภาควบคุมไว้หมด โดยมี นช.คนหนึ่งควบคุมไว้อีกที ซึ่งก็ได้ส่งผลถึงรัฐบาลภายใต้การบงการของ นช.คนนั้นอีกด้วย เพราะจะต้องคอย “ทูนหัว” ช่วยเหลือ นช.นั้นไปโดยตลอด เหมือนกับรัฐบาลนี้ถูกติดคุกหรือต้องรับโทษนี้ร่วมไปด้วย พร้อมกับที่รัฐสภาก็คงทำงานไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะแม้แต่ฝ่ายค้านก็บ้อท่า บางพรรคก็มีข่าวสารว่าร่วมช่วยเหลือ นช.อยู่ด้วยเหมือนกัน อย่างที่เราไม่ได้เห็นว่าพรรคการเมืองนั้นจะจัดการกับ นช.นี้อย่างไร ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่เหลือ พรรคหนึ่งก็พร้อมเป็นพรรคอะไหล่ อีกหลายพรรคก็เร่ร่อนเตรียมผสมกับพรรคอื่นในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ตรงนี้จึงอยากจะสรุปส่วนหนึ่งว่า ปีหน้าการเมืองไทยจะเป็นไปแบบ “รัฐบาลใส่ขื่อคา รัฐสภาใส่เกียร์ว่าง” ประชาชนจะขาดที่พึ่ง และสถาบันสำคัญ ๆ จะพังครืน แต่ก็มีหวังที่จะฟื้นถ้าจัดการเรื่อง นช.ให้ดี