เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

หลายปีที่ผ่านมา การกระจายอำนาจยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ “ยื้อ” กันไปมาระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต้องการรวมศูนย์ กับฝายประชาธิปไตยก้าวหน้าที่ต้องการ “ยกเลิก” ส่วนภูมิภาค ให้มีแต่ส่วนกลางและท้องถิ่น

การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว หนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกล คือ การกระจายอำนาจ และช่วงที่มีการเตรียมจัการดตั้งรัฐบาลก็ดูตื่นเต้นว่า นโยบายนี้น่าจะเกิดถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล แม้จะไม่ง่ายก็ตาม

เลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมืองใดชูนโยบายกระจายอำนาจ ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ยุบส่วนภูมิภาค น่าจะได้รับการตอบรับจากประชาชน มีเวลา 3-4 ปี เพื่อให้ความรู้ การศึกษาแก่ประชาชนให้เข้าใจว่า ประชาชนคนท้องถิ่นควรมีอำนาจในการจัดการชีวิตของตนเอง ปกครองตนเอง

ฝ่ายอนุรักษนิยมก็จะออกมาปกป้องระบบปัจจุบัน อ้างความมั่นคง อ้างการแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ ที่เลือกผู้ว่าฯ ก็ไม่ได้แยกดินแดน ส่วนกลางก็ยังอยู่ มหาดไทยก็ไม่ได้ยุบ ประเด็นอยู่ที่การเรียนรู้ของผู้คน เหมือนที่ประเทศพัฒนาที่ทำประชามติเรื่องใดเขามีการศึกษาข้อมูลของฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้าน จนได้รับรู้กันถ้วนหน้าจึงลงประชามติ

ไม่มีใครรู้เรื่องท้องถิ่นดีเท่ากับคนท้องถิ่น ตอนจะมีเทศบาล ก็เคยมีการโต้แย้งลักษณะนี้ แต่รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ก็ทำให้เกิดเทศบาลได้ ต่อมามี อบต. ฝ่ายอนุรักษ์ก็ค้าน บอกว่า มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็เพียงพอ แต่เมื่อเกิดเทศบาล อบต. ไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สังคมไทยก็มีความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ แบบที่ประเทศประชาธิปไตยพัฒนาเขาเลิกกันไปนาน

คอนราด อาเดนาวร์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโคโลญ หลังสงคราม เขาคือนายกรัฐมนตรีของแรกของเยอรมนี ที่บอกว่า “ไม่มีรัฐถ้าไม่มีเมือง” ไม่มีประเทศหรือรัฐไหนจะเจริญเข้มแข็งได้ถ้าปราศจากการปกครองท้องถิ่น

โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย เคยเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองสุรการ์ตา ต่อมาได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ จาการ์ตา เมืองหลวง ก่อนจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสองสมัย

เมืองไทยก็มี “ประยงค์ รณรงค์” ราษฎรเต็มขั้น คนตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซในฐานะผู้นำชุมชนดีเด่นเมื่อปี 2547  

เขานำชุมชนคนไม้เรียงจัดการตนเองมาตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน จัดตั้ง “สภาผู้นำ” โดยให้แต่ละหมู่บ้านเลือกตัวแทนมา 5 คน ใครก็ได้ มีตำแหน่งอะไรไม่สำคัญ เพราะเมื่อมาเป็นสมาชิกสภาประชาชนแล้วก็ต้อง “ถอดหัวโขน” ออก รวมกันเป็นสภาผู้นำ 40 คน ทำหน้าที่บริหารจัดการชุมชน แก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง

สภาผู้นำมีหน้าที่ทำแผนแม่บท ทำยุทธศาสตร์ชุมชน อะไรที่เป็นหน้าที่ของตนและทำได้เองก็ลงมือทำ อะไรเป็นหน้าที่ของรัฐก็ส่งต่อให้รัฐไป ไม้เรียงจึงเป็นต้นแบบการทำแผนแม่บทชุมชน ทำวิสาหกิจชุมชน โดยระดมทุนชาวบ้านสร้างโรงงานทำยางแผ่นเอง ทำให้ได้ราคาดี นับเป็นโรงงานแห่งแรกของประชาชนที่พึ่งตนเอง โดยไม่ได้ขอทุนจากรัฐหรือเอกชน

แนวคิดของไม้เรียงได้รับการขยายผล สภาผู้นำถูกนำไปปรับเป็นสภาองค์กรชุมชน ซึ่งมีสถานภาพทางกฎหมายและได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ กลายเป็น “คนละเรื่อง” กับสภาผู้นำไม้เรียง พอๆ กับที่หน่วยงานราชการต่างๆ นำ “แผนแม่บทชุมชน” ไปใช้ แล้วย่อลงมือเหลือไม่ถึงครึ่ง แค่เลือกเอาประเด็นที่ช่วยทำให้พัฒนาโครงการเพื่อของบประมาณจากรัฐ แทนที่จะเป็นเครื่องมือเพื่อการพึ่งตนเอง “สภาผู้นำ” ก็เช่นกัน

ถ้าการกระจายอำนาจจะเกิด ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง ชุมชนต้องเข้มแข็งตั้งแต่วันนี้ ถ้าจะมี “สภาพลเมือง” เมื่อมีการกระจายอำนาจ สภาเพื่อการถ่วงดุล การตรวจสอบ ก็ควรมีสภาผู้นำตั้งแต่วันนี้ สภาที่ไม่ต้องมีสถานภาพทางกฎหมาย (เหมือนองค์กรประชาชนมากมาย เช่น ชมรม กลุ่มต่างๆ)  เพื่อจะได้มีอิสระในการดำเนินงาน

ความจริง ที่มีการขับเคลื่อน “จังหวัดจัดการตนเอง” หลายปีที่ผ่านมาอย่างเข้มแข็งก็เพราะมีความเป็นอิสระ รณรงค์ สร้างเครือข่าย พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ อย่าง 3 องค์กร คือ สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมนายกอบจ.แห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาติเทศบาลแห่งประเทศไทย

ถ้าสามเครือข่ายนี้จับมือกันแน่น ส่งเสริม “สภาประชาชน” ในท้องถิ่นของตน 3-4 ปีก็น่าจะเพียงพอเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า  เพื่อให้การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น จัดการงบประมาณ การเก็บภาษี การวางแผนพัฒนาต่างๆ สามารถตัดสินใจได้เอง

พรรคการเมืองที่รณรงค์การกระจายอำนาจควรมีการศึกษาแนวคิดของ Robet Putnum อาจารย์ฮาร์วาร์ด ที่ใช้เวลา 20 ปีวิจัยเรื่อง “ประชาธิปไตยกับการกระจายอำนาจ” ที่อิตาลี เขียนหนังสือชื่อ Making Democracy Work ที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการเมืองและนักรัฐศาสตร์ทั่วโลก

เขาชี้ให้เห็นว่า “ทุนทางสังคม” (social capital) และประเพณีของพลเมือง (civic traditions) ในท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็น “ความไว้ใจ” (trust) ที่ผู้คนมีต่อกันที่ทำให้ชุมชน สังคมท้องถิ่นอยู่รอดมาได้

พัฒนาการของอิตาลี แสดงให้เห็นว่า การกระจายอำนาจทำให้เกิดความเจริญในท้องถิ่นที่มีทุนทางสังคมและสถาบันพลเมืองสูง อย่างที่เกิดทางภาคเหนือ เติบโตทางเศรษฐกิจ เต็มไปด้วย SMEs ที่มาจากการส่งเสริมการศึกษา และการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่างจากทางภาคใต้ที่อ่อนแอเรื่องการศึกษาและสถาบันพลเมือง อยู่กันแบบหวาดระแวง ความไม่ไว้ใจภายใต้ระบบอุปถัมภ์ การครอบงำของมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล

บ้านเรามีทุนทางสังคม ที่ทำให้ชุมชนในอดีตอยู่กันได้ตลอดมา ชุมชน “คีรีวง” อยู่ในหุบเขาหลวง 200 ปีหนีรัฐ จนเพิ่งออกมาเมื่อปี 2505 และถ้ามีการสืบทอดและพัฒนาอย่าง “ไม้เรียง” ที่ CNN ยกให้เป็น “ต้นแบบการพัฒนาชุมชนของโลก” ย่อมแสดงให้เห็นศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นไทย ที่สามารถจัดการตนเอง ปกครองตนเองได้ถ้ามีการกระจายอำนาจ คือ การคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง