ทวี สุรฤทธิกุล

อดีตอาจจะเคยเป็นสงครามระหว่างวัย “คนรุ่นเก่า VS คนรุ่นใหม่” ยุคต่อไปคือสงครามทางการสื่อสาร ระหว่าง “พวกล้าหลัง VS พวกล้ำโลก”

เมื่อปี 2562 หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ผลออกมาคือชัยชนะของคนรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อพรรคอนาคตใหม่ จนฝ่ายคนรุ่นเก่าตกใจวุ่นวาย ถึงขั้นงัดดาบอาญาสิทธิ์ที่ใส่ฝักไว้ในรัฐธรรมนูญ ออกมาฟาดฟันล้มพรรคนั้นไป แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ไม่ตาย โยกย้ายมารวมกันในพรรคก้าวไกล และพอมีเลือกตั้งครั้งใหม่ กระแสก็ยังเป็นไปในรูปแบบเดิมที่คนรุ่นใหม่ยังคงมาแรง ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของพรรคก้าวไกล เมื่อการเลือกตั้งในวันที่ 14  พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น

หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปวิเคราะห์การเมืองทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ตอนหนึ่งได้แสดงความเห็นไว้ว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้นต้องถือว่าเป็น “สงครามระหว่างวัย” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งของคนที่ต่างยุคสมัย ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของการเมืองทั่วโลก โดยได้ยกตัวอย่างถึงยุคที่ผู้เขียนยังเป็นวัยรุ่นในระหว่าง พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2519 ที่มีความขัดแย้งของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเช่นกัน โดยผู้เขียนในฐานะคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น ร่วมกับคนรุ่นใหม่ร่วมยุคก็ได้ร่วมกันต่อต้านเผด็จการทหาร แต่กลับถูก “ป้ายสี” ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อันทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ถึงขั้นฆ่าฟันกันล้มตาย แต่สุดท้ายคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นก็ดูเหมือนจะถูกดูดหายไปตามกาลเวลา แม้แต่แกนนำหลาย ๆ คน ที่เรียกกันว่า “คนเดือนตุลา” ส่วนหนึ่งก็หันไปรับใช้นายทุนขุนศึก และอีกส่วนหนึ่งก็ยอมสยบแก่ “ระบอบอำมาตย์” ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ที่บางคนก็เกาะกินกับพรรคการเมืองของทุนสามานย์ จนได้เป็นอำมาตย์ในที่สุด

ตอนนั้น หลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 คนที่เข้าใจสถานการณ์และสังคมไทยดีที่สุดท่านหนึ่งก็คือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านได้เขียนบทความตักเตือนนิสิตนักศึกษาว่า เมื่อได้รับชัยชนะแล้วก็อย่าเหลิง “หลงลืมตัว” ที่คิดว่าเมื่อสามารถขับไล่ทหารลงไปจากเวทีได้แล้ว ก็คิดว่าพวกตน(นิสิตนักศึกษา)จะสามารถปกครองประเทศได้ทั้งหมด วิธีการก็คือยังคงร่วมมือกันที่จะสร้างชาติและพัฒนาบ้านเมืองต่อไป แต่จะแบ่งบทบาทหรือมีกระบวนการอย่างไรนั้นก็ขอให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เริ่มจากการร่างรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ทางการเมืองการปกครอง

แต่นิสิตนักศึกษาไม่ได้คิดเช่นนั้น (และหลายคนก็คงไม่ได้อ่านบทความนั้น เพราะหนังสือพิมพ์สยามรัฐถูกมองจากคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นว่าเป็นพวกเจ้า “ฝ่ายอนุรักษ์”) เพราะยังใช้วิธีการ “ล่าแม่มด” เห็นทหารและข้าราชการเป็นศัตรู คิดแต่จะกำจัดไปให้หมดสิ้น พร้อมกับชื่นชมเชิดชูลัทธิสังคมนิยม พรรคของคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นต้องมีคำว่าสังคมนิยมต่อท้าย ซึ่งก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เข้ามาจำนวนพอสมควร แต่ก็ต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน โดยมุ่งที่จะ “ป่วนสภา” ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไปเสียทุกเรื่อง พร้อมกับขบวนการของกลุ่มต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ก็มีแกนนำเป็นปัญญาชน ก่อม็อบสร้างความวุ่นวายกับรัฐบาลอยู่นอกสภา ที่ตอนนั้นมีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันหนึ่ง ตักเตือนนิสิตนักศึกษาและขบวนการต่าง ๆ ของนิสิตนักศึกษาว่า “อย่าชกคู่ต่อสู้ให้ตายคามุม” โดยเปรียบเทียบวิธีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ว่าก็เหมือนกับการชกมวยสากล ที่ต้องยึดกติกาและชกตามกติกานั้น กติกาข้อหนึ่งก็คือเมื่อต้อนคู่ต่อสู้ไปจนมุมแล้ว กรรมการจะไม่ปล่อยให้มีการถลุงคู่ต่อสู้จนบาดเจ็บหรือตายคามุม กรรมการจึงต้องเข้าไปแยกออกมา หรือนักมวยฝ่ายที่เป็นฝ่ายรุกไล่นั้นก็ถอยออกมาเอง แล้วก็มาเริ่มชกกันใหม่ที่กลางเวที

แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในการเมืองของไทย(ตอนนั้น)ก็คือ นิสิตนักศึกษาไม่ยอมผ่อนปรนให้กับฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นทหารก็อยู่เฉยไม่ได้ ได้ใช้การก่อเรื่องของนิสิตนักศึกษานั่นเอง “เอาคืน” โดยเชื่อมโยงให้เห็นว่านิสิตนักศึกษามีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง “ล้มเจ้าเอาคอม(มิวนิสต์)มาปกครอง” เป็นพวกหนักแผ่นดิน “วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร” ด้วยเพลงปลุกใจเข้าถล่มกลุ่มนิสิตนักศึกษา พร้อมกับสร้างกลุ่มรักชาติต่าง ๆ เข้าร่วมต่อต้าน จนเมื่อทุกอย่างเข้าล็อคในต้นเดือนตุลาคม 2519 ที่มีการชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทหารก็เข้าล้อมปราบและ “ประหาร” ผู้ชุมนุมอย่างทารุณ แกนนำนิสิตนักศึกษาทั้งหลายหนีกันกระจาย บ้างเข้าป่าไปอยู่กับคอมมิวนิสต์จริง ๆ บ้างไปต่างประเทศ ลี้ภัยและฟอกตัว

ผู้เขียนเล่าเรื่องนี้ออกรายการโทรทัศน์หลังการเลือกตั้งปี 2562 เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่(ที่ต่อมาก็คือพรรคก้าวไกลในทุกวันนี้) ว่าไม่ควรที่จะ “เหลิงลืมตัว” โดยนึกถึงครั้งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เตือนนิสิตนักศึกษาหลังวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้น โชคดีที่หลังจากนั้นพรรคของกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ยังอยู่ในร่องในรอยด้วยดี (ซึ่งก็อาจจะเป็นด้วยการปกครองภายใต้กฎหมายความมั่นคงที่เข้มงวดตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เจ้าเล่ห์ กับช่วงเวลาของการผลัดแผ่นดิน ทำให้การเคลื่อนไหวที่รุนแรงไม่สามารถกระทำได้) บ้านเมืองจึงดูเป็นปกติอยู่บ้าง แต่กระนั้นภาพของความรุนแรงก็เริ่มปรากฏอีกครั้งหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ผู้เขียนเริ่มต้นพยากรณ์อนาคตของการเมืองไทยไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้วว่า ปัจจัยสำคัญของหายนะทางการเมืองไทยจะเริ่มจาก “ทักษิณซินโดรม” ที่มี นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนแพร่เชื้อ แต่ว่าบทความชุดนี้จะมองให้กว้างออกไปกว่านั้น เพราะมันมีภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากปี 2516 และ 2519 ค่อนข้างมาก ที่ตอนนั้นคนรุ่นใหม่รบกับทหารอย่างโจ่งแจ้ง แต่มาปีนี้คนรุ่นใหม่ในส่วนของพรรคเพื่อไทย(เพราะพรรคนี้อ้างว่าพวกตนอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยที่หมายถึงคนรุ่นใหม่)กลับไปร่วมมือกับทหาร ซึ่งจะต้อง “มีอะไรในกอไผ่” อยู่มากมายเช่นกัน จึงขอที่จะเอาไปอธิบายในสัปดาห์หน้า

ตรงนี้ก็ขออำลาปีเก่าด้วยคำตักเตือนของคนรุ่นเก่าว่า “ขออย่าได้มีสิ่งสุดแสนเลวมากไปกว่านี้ในปีหน้า”