ทวี สุรฤทธิกุล

สวัสดีปีใหม่ 2567 ขอให้โชคดีมีสุข คนไทยปราศทุกข์ ประเทศไทยปราศคนเลว

การเมืองไทยในปีที่แล้ว 2566 น่าจะมีสภาพอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “Bottom and Rotten” ที่อาจจะแปลเป็นไทยได้ว่า “ต่ำสุดและบูดเน่า” นั้นแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นข่าวดีถ้าจะมีการ “ล้มกระดาน” หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรง เพื่อนำไปสู่ “ปฐมบท” ของการเมืองที่ดีงามแก่ประเทศไทย

ผู้เขียนมีความเชื่อว่าภายใต้โครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองที่เป็นอยู่ ระบบรัฐสภาของไทยจะไปไม่รอด รัฐบาลจะพัง และจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ภายในปี 2567 นี้ค่อนข้างแน่นอน โดยจะขอให้มองไปที่ “โครงสร้างที่บูดเน่า” ได้แก่ รัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ และพรรคการเมือง กับ “สภาวะที่ตกต่ำสุดขีด” ได้แก่ ความล้มเหลวของระบบรัฐสภา ความสิ้นหวังในรัฐบาล และความไม่มั่นใจในอนาคตของประชาชน

กรณี “ติดคุกทิพย์” ของ นช.ทักษิณ ชินวัตร น่าจะเป็นชนวนหรือ “สารตั้งต้น” ที่จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล ประชาชนจะอยู่กันอย่าง “ไม่มีขื่อไม่มีแป” ไม่เคารพกฎหมายและไม่ละอายต่อการกระทำชั่วใด ๆ ตอกย้ำด้วยรัฐสภาที่ ส.ว.ก็กำลังจะ “ล้างท่อ” ออกไปจากสภาในตอนกลางปี ส.ว.ก็คงจะไม่อยู่ในสภาพแบบ “นางอาย” คือสัตว์ที่ชอบม้วนตัวหนีภัยไม่สู้หน้ามนุษย์ เพราะกำลังต้องกลับไปสู่สภาพของสามัญชน ต้องรักษาชีวิตหลังจากที่ไม่มี “กระดองอำนาจ” ห่อหุ้มปกป้อง รวมถึงที่ ส.ว.หลาย ๆ คนก็พยายามจะเกาะไปหาอำนาจใหม่ ด้วยการตอแยกับพวก ส.ส.น้อยลง รวมถึงที่เคยหิวแสงแย่งซีนสร้างข่าว ก็จะลดลงไปตามสถานะ ในขณะที่ ส.ส.โดยเฉพาะในฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ชอบทำงานหนักอยู่แล้ว ก็จะคอยยกมือและซ้ายหันขวาหันตามที่วิปรัฐบาลจะสั่ง ส่วนฝ่ายค้านก็คงไม่สามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเสียงจะน้อยเอามาก ๆ แล้ว พรรคฝ่ายค้านใหญ่อย่างพรรคก้าวไกลก็ไม่แน่ใจว่าจะตั้งใจทำหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยหรือไม่ เพราะเห็น “ตี๋ใหญ่” ของพรรคยังประจบประแจงนักโทษชายที่เป็นเจ้าของพรรคแกนนำรัฐบาลอยู่ไม่ห่าง รวมถึงที่น่าจะมีการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลนี้ในต้นปีหน้านี้อีกด้วย ดังนั้นระบบรัฐสภาก็จะเกิดสภาวะ “เป็ดง่อยคอยร่วม” สุดท้ายคือไม่มีพรรคฝ่ายค้าน ถ้าไม่มีการล้มกระดานยุบสภาหรือรัฐประหารเสียก่อน ก็จะเกิดสภาพ “รัฐล้มเหลวจำแลง” เพราะรัฐบาลขาดนิติธรรม รัฐสภาไม่มีการถ่วงดุล ประชาชนไร้ที่พึ่ง

ความหวังเดียวที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่ก็เหมือนจะไม่เป็นจริงด้วยรัฐบาลและสภาชุดนี้ ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ที่ดูท่ารัฐบาลจะไม่มีความจริงใจอะไรเลย นอกจากจะสร้างพิธีกรรมให้เยิ่นเย้อ เพื่อให้อยู่รอดไปจนครบเทอม ส่วนเรื่องการ “ตัดไฟทักษิณแต่ต้นลม” นั้นก็ดูเหมือนว่าจะกำลังเข้ามาสู่ “กลางลม” แล้ว นั่นก็คือกำลังจะมีการปล่อย นช.ทักษิณออกจากคุก ซึ่งก็จะนำไปสู่ “ปลายลม” การลุกฮือของผู้คนในสังคมอย่างรุนแรงที่ไม่มีใครเอาอยู่ เพราะรัฐบาลดูเหมือนจะเอาหูทวนลมไม่ฟังกระแสสังคมนั่นเอง ดังนั้นจึงอาจจะเหลืออีกหนึ่งความหวังสุดท้าย ที่อาจจะดู “ซ้ำ ๆ ซาก ๆ” และน่าหดหู่ คือการรัฐประหาร ซึ่งถ้าทหารไม่ทำก็จะเกิดจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ออกมาทำเอง

ที่พูดอย่างนี้อาจจะพอมองเห็นถ้าจะยกตัวอย่างให้ชัดเจนว่า เหตุการณ์มหาวิปโยคแบบ 14 ตุลาคม 2516 อาจจะกลับคืนมาได้อีก ถ้าไม่ใช่ทหารออกมาช่วยกำจัดนักการเมืองเลว ๆ ตามที่เคยทำมาหลายครั้ง ก็อาจจะเป็นประชาชนนั่นเองที่ต้องออกมาช่วยกันปฏิเสธระบอบและนักการเมืองที่แสนเลวเหล่านั้น แต่ก็อยากจะให้มองย้อนอดีตว่า เมื่อ 50 ปีก่อนนั้น พอคนรุ่นใหม่ได้อำนาจแล้วก็ปกครองประเทศไม่ได้ เพราะไล่ล่าศัตรูคือทหารออกไปจากระบบ พร้อมกับขัดขวางคนรุ่นเก่าที่อยากจะช่วยลูกหลานสร้างบ้านเมืองต่อไปนั้นไม่ให้เข้ามายุ่มย่าม ดังนั้นถ้าในปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ขอให้ “ทบทวนอดีต พินิจอนาคต” นี้ให้ดี อย่างน้อยสัก 2 ประเด็น ต่อไปนี้

ประเด็นแรก การสร้างสมานฉันท์ให้แก่คนในชาติ ด้วยการไม่เอาผิดไม่เอาโทษใคร ๆ “อย่างมีเงื่อนไข” เริ่มจากไม่เอาผิดผู้ทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะทหารหรือประชาชนฝ่ายใดก็ตาม รวมถึงคนที่ทำความผิดเกี่ยวกับการเมืองก่อนหน้านี้ แต่เมื่อมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การกระทำรัฐประหารจะกระทำไม่ได้ รวมถึงการวางกลไกที่จะไม่ก่อให้เกิดเผด็จการในรัฐสภาหลังเลือกตั้ง ซึ่งในแนวคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่มีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับระบบพรรคการเมืองดังที่เป็นอยู่ แต่ควรจะเป็นแบบ “สังคมสมดุล” ที่ควบคุมโดยจริยธรรมและกลุ่มต่าง ๆ ทางสังคมให้มากขึ้น เพราะในสังคมแบบเดิมนั้น “ระบบนิติรัฐ” ดูจะมีอำนาจแข็งกร้าวมากเกินไปและสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ

อีกประเด็นหนึ่ง กระบวนการสื่อสารสมัยใหม่ที่ต้องเปิดกว้างและโปร่งใส เนื่องจากในทุกวันนี้เราได้พบแล้วว่า การสื่อสารสมัยใหม่ด้วยอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียยังเป็นแบบปิดลับหรือเฉพาะกลุ่มค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาในการแก้ไขเมื่อเกิดข้อพิพาทหรือก่อให้เกิดอาชญากรรมต่าง ๆ นั้นขึ้น ดังนี้จึงมีการเสนอแนวคิดให้ใช้การสื่อสารทางการเมืองที่มีลักษณะของการสื่อสารที่เป็นสาธารณะอยู่แล้วนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการสื่อสารที่เปิดกว้างและโปร่งใส เพื่อไม่ให้มีการเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือสร้างข่าวลวงและเรื่องเท็จ เพราะการต่อสู้ทางการเมืองนับวันก็จะรุนแรงและ “โหดเหี้ยม” มากขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่การสื่อสารในการเลือกตั้ง จนถึงการสื่อสารอื่น ๆ ระหว่างนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองกับประชาชน

ดังที่ได้จั่วหัวบทความนี้ในตอนแรกไว้ว่า การเมืองยุคก่อนเป็นการต่อสู้ระหว่าง “คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่” และในยุคใหม่ต่อไปนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง “คนล้าหลังกับคนล้ำโลก” จึงอยากจะเตือนทั้งรัฐบาลและคนในยุคต่อไป ที่จะร่วมกันในการดูแลบ้านเมือง จะต้องระแวดระวังในเรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้ให้จงหนัก โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ซึ่งคนรุ่นเก่าน่าจะล้าหลังสู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้

ในทำนองเดียวกัน สังคมไทยยังจะต้องเป็นสังคมของการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ พึ่งพิง จึงไม่ควรที่จะใช้ความได้เปรียบของคนระหว่างรุ่นนั้นมาสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคม เพราะเรามีบทเรียนในอดีตมาแล้วว่า การแยกผู้คนออกจากกันเป็นอันตรายเสียยิ่งกว่าอาวุธใด ๆ

มนุษย์นั้นคือสัตว์การเมือง ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และพัฒนาไปได้ ด้วยการช่วยเหลือ ดูแลกันและกัน และร่วมมือกันเท่านั้น