เสือตัวที่ 6

ความเสี่ยงของโลกในห้วงเวลานี้ที่เริ่มจากปี 2567 ได้ขยายวงกว้างออกไปอย่างน่ากังวลยิ่ง นับจากปีใหม่ 2567 เป็นต้นไป ทุกชีวิตของโลกจะต้องเตรียมรับมือในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในทุกมิติที่กระทบกับความมั่นคงที่ยากจะคาดคะเนได้อย่างชัดเจน ความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ในทุกมุมโลกจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน ล่าสุด สงครามจากความขัดแย้งระหว่างอิสลาเอลกับกลุ่ม ฮามาสในปาเลสไตน์ได้ขยายวงกว้างไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างน่าเป็นห่วง การโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่ประกาศกร้าวในการโจมตีเรือสินค้าทุกลำที่เป็นพันธมิตรกับอิสราเอล อันเกิดจากการที่กลุ่มฮูตีที่สนับสนุนอิหร่าน ได้โจมตีเรือที่แล่นผ่านช่องแคบบับอัล-มันดับ ทางตอนใต้สุดของทะเลแดงหลายสัปดาห์ เพื่อเป็นการตอบโต้สงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซาสร้างความสั่นคลอนต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเส้นทางการเดินเรือสายนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยจากการประเมินพบว่ามีการเคลื่อนย้ายสินค้าไปมาผ่านเส้นทางนี้กว่า 12% ของปริมาณการค้าโลกทั้งหมด รวมถึงกว่า 30% ของตู้คอนเทนเนอร์ทั้งโลก ใช้ช่องทางผ่านคลองสุเอซซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลแดง

ปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งสินค้าหลายบริษัท ตัดสินใจยุติการเดินเรือในเส้นทางดังกล่าวไปแล้วหลังเกิดการโจมตีเรือพาณิชย์หลายครั้งในช่องแคบบับอัล-มันเดบ ซึ่งอยู่ทางใต้ของทะเลแดงการเลี่ยงเส้นทางเดินเรือในทะเลแดงจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางทะเลค่าประกันวินาศภัย และค่าบริการด้านการขนส่งหรือโลจิสติกส์ทางทะเล เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 30% อาทิ ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งตู้คอนเทนเนอร์จากจีนไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพิ่มขึ้น 44% ในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียว อยู่ที่ 2,413 ดอลลาร์ เนื่องจากการหยุดชะงักในทะเลแดงจากการคุกคามของกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านั้นย่อมถูกผลักมาให้ผู้บริโภคซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังประชากรทุกประเทศของโลกในที่สุดการเดินเรือที่แล่นผ่านคลอง สุเอซมีสัดส่วนการค้าประมาณ 12% ทั่วโลก คลองสุเอซมีความสำคัญที่สุดต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรป ซึ่งผู้บริหารด้านลอจิสติกส์ทั่วโลกเตือนว่าการส่งเรือในเส้นทางอื่นอาจสร้างปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

กบฏฮูตีเริ่มออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้โดยประกาศคุกคามเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านทะเลแดง เพื่อเป็นการตอบโต้อิสราเอลที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างไร้มนุษยธรรมกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และกดดันให้อิสราเอลยุติการใช้ปฏิบัติการดังกล่าวกับฮามาส พร้อมกับเตือนว่าจะโจมตีเรือทุกลำที่มุ่งหน้าไปยังอิสราเอลโดยไม่สนใจสัญชาติ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และอิสราเอลกำลังเผชิญกับศึกหลายด้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การหนุนหลังความเคลื่อนไหวของกบฏฮูตีครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสกำลังขยายวงกว้างออกไปอีกขั้นหนึ่งซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายวงกว้างออกไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกอย่างประมาณไม่ได้

15 ธ.ค. เรืออัลญัสเราะห์ (Al Jasrah) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติไลบีเรีย ถูกกบฏฮูตีโจมตีด้วยขีปนาวุธ ส่งผลให้เรือไฟไหม้ และยังมีเรือสินค้าอีกหลายลำในทะเลแดงที่ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นทันที ล่าสุด สภาหอการค้าขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ (International Chamber of Shipping – ICS) ซึ่งเป็นตัวแทนของกองเรือพาณิชย์กว่า 80% ของโลกชี้ว่า พลังงานของยุโรปจำนวนมหาศาลซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงดีเซล อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารเช่นน้ำมันปาล์มและธัญพืช รวมถึงสินค้าทุกประเภทที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในภาคการผลิตนั้น จะต้องผ่านเส้นทางทะเลแดงทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ การที่เรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดงถูกโจมตีอย่างอุกอาจจึงทำให้การค้าทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง

ทะเลแดงเป็นน่านน้ำที่คับคั่งไปด้วยเรือพาณิชย์ที่ลัดเลาะผ่านคลองสุเอซในการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ทำให้ทะเลแดงเป็นอีกสมรภูมิสู้รบหนึ่งกับอิสลาเอลโดยมีอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบรรดากลุ่มติดอาวุธทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มกบฏฮูตีกลุ่มฮามาสกลุ่มญิฮาดในปาเลสไตน์ และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยอิหร่านใช้กลุ่มเหล่านี้ในลักษณะของการทำสงครามตัวแทน (Proxy War) ทำสงครามกับอิสลาเอลตลอด 40 ปีที่ผ่านมา  เป้าหมายของกลุ่มกบฏฮูตีคือต่อต้านสหรัฐและอิสลาเอล รวมทั้งชาติที่สหรัฐให้การสนับสนุน และเมื่ออิสราเอลทำสงครามกับฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน กบฏฮูตีจึงเข้าร่วมกับฮามาสในการทำสงครามกับอิสราเอลและพันธมิตรในทะเลแดง ซึ่งเป็นการเติมเชื้อไฟสงคราม และทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางถูกยกระดับขึ้นและกำลังขยายวงกว้างไปสร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรงให้ทุกประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

โลกใหม่ ปี 2567 รัฐไทยต้องตระหนักรู้และเตรียมการล่วงหน้าต่อทุกปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น หลายกรณีที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ในโลก แม้ว่าจะดูเสมือนว่าอยู่ห่างไกลจากรัฐไทย หากแต่สภาวะโลกใหม่จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งในเมียนมาร์ก็จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างใหญ่หลวงในไม่ช้า ซึ่งรัฐไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโลกใหม่ปี 2567 อย่างกระชับแน่นเพื่อให้ประชาชนไทยพร้อมรับมือกับผลกระทบใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที