เสรี พงศ์พิศ

 Fb Seri Phogphit

 

ขึ้นปีใหม่แล้ว เมืองไทยต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สังคมก็ต้องเปลี่ยนไปตามกฏธรรมชาติ  ทุกฝ่ายต้องมีสติ เพื่อการเปลี่ยนที่สันติ แม้มีความแตกต่าง แต่ไม่ควรแตกแยก ซึ่งจะทอนพลังและทำให้ชาติบ้านเมืองมีแต่ถอยหลัง

สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมายังไม่ถึง 100 ปี ประเทศพัฒนาที่เป็นประชาธิปไตยก็ได้ผ่านการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงมายาวนานกว่ามาก ฝรั่งเศสที่มักอ้างกันก็ใช้เวลาเกือบ 100 ปีตั้งแต่การปฏิวัติ 1789 จนสิ้นสุดการปกครองโดยนโปเลียนที่ 3 เมื่อปี 1870

จากนั้นฝรั่งเศสก็ยัง “ล้มลุกคลุกคลาน” มาจนหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ต้องไปขอร้องนายพลเดอโกล ที่เกษียณราชการและการเมืองไปแล้วให้กลับมาช่วยกอบกู้บ้านเมือง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ใช้จนถึงวันนี้

สหรัฐอเมริกาที่เที่ยวไปสอนประชาธิปไตย และตั้งตัวเป็น “โมเดล” ให้ประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีในทุกเรื่อง แม้ว่าจะมีการต่อสู้ได้เอกราชจากอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1776 เลิกทาสมาตั้งแต่ปี 1863 แต่คนผิวดำก็ยังถูกเหยียดมาอีกเป็น 100 ปี มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ในปี 1963 นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง

กระนั้น ทุกวันนี้ ที่สหรัฐอเมริกาก็ยังมีการเหยียดผิวกันอยู่เนืองๆ อย่างเรื่องตำรวจจับคนผิวดำและเสียชีวิต จนเกิดกรณี “ผมหายใจไม่ออก” ปลุกให้มีการต่อต้านการใช้อำนาจของตำรวจไปทั่วประเทศ

ประเทศนี้อ้างตนเป็น “นิติรัฐ” ประกาศ “หลักนิติธรรม” (rule of law) กับประเทศอื่น แต่ในประเทศตนเองยังมีปัญหามากมาย มีทุนส่งกองเรือกองทหารไปทั่วโลก แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในบ้านตนเองได้ มีคนจน คนไร้ที่อยู่อาศัย นอนหนาวตามถนนหนทาง

ยังมีอีกมากมายหลายตัวอย่างของประเทศต่างๆ ที่ต่อสู้เพื่อให้เกิดสังคมที่เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพของพลเมือง  อย่างแอฟริกาใต้ที่ดูจะใกล้ที่สุดเรื่องหนึ่ง

เนลสัน แมนเดลา ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อายุ 95 ปี ท่าน “เดินทางไกลสู่เสรีภาพ” ต่อสู้มาทุกรูปแบบ ติดคุก 27 ปี ที่ท่านถือว่าเป็น “มหาวิทยาลัยชีวิต” ที่ให้บทเรียนมากมาย  ไม่น้อยไปกว่าการต่อสู้ภายนอก

เนลสัน แมนดลา ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกให้เป็น “มหาบุรุษ” เป็นผู้นำที่ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรมที่คนผิวขาวมายัดเยียดให้คนผิวดำด้วยการแบ่งชนชั้นและการเหยียดเผ่าพันธุ์

ผู้นำจากทั่วโลกไปร่วมพิธีศพของท่าน แสดงออกถึงความเห็นด้วยกับอุดมการณ์ของท่านที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค เสรีภาพ และสิทธิเท่าเทียมของพลเมือง

หลังจากที่แอฟริกาใต้ได้รับการ “ปลดปล่อย” และท่านได้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกเมื่อปี 1994 นั้น มีบันทึกในชีวประวัติของท่านว่า

“ข้าพเจ้าได้พักสักครู่หนึ่ง เพื่อจะได้มองไปรอบๆ ให้เห็นสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นรอบตัวข้าพเจ้า และมองกลับไปในหนทางยาวไกลที่ได้เดินมา แต่ข้าพเจ้าก็พักได้เพียงครู่เดียว เพราะเสรีภาพมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ข้าพเจ้าจะพักนานไม่ได้ เพราะการเดินทางยังไม่สิ้นสุด”

มองสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบันของหลายประเทศ ไม่ใช่เพื่อปลอบใจว่า “ของเราได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” แต่เพื่อเป็นบทเรียนสอนใจให้เราเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดีกว่านั้น

โดยไม่ลืมเรียนรู้จากเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจการเมืองที่ดูก้าวหน้าและมั่นคง ขณะที่พม่า เกาหลีเหนือ น่ากลัว บทเรียนของอำนาจนิยมที่มีผลกระทบต่อปัญหาการเมืองและความสงบของภูมิภาคนี้และของโลก

เราเห็นเวียดนามที่เดินตามต้นแบบจีนจนแซงไทยไปหลายด้าน โดยไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ที่กลายเป็นประเทศพัฒนาทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก โดดเด่นทางการศึกษาและการพัฒนาสังคม

ในโลกที่ไร้พรมแดน บ้านเราได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกของการระบาดของโควิด-19 ของสงครามยูเครน-รัสเซีย  อิสราแอล-ปาเลสไตน์ ที่คนไทยจำนวนมากเสียชีวิต บาดเจ็บ ถูกจับเป็นตัวประกัน เป็นแรงงานการเกษตรที่แม้กลับมาแล้วหมื่นกว่าคน แต่ก็กำลังจะกลับไปอีกจำนวนมาก

บทเรียนจาก “อิสราแอล” น่าจะทำให้เราหันกลับมาพัฒนาการศึกษาและการเกษตร เพื่อให้คนไทยไม่ต้องไปเสี่ยงตายที่อิสราแอล  ประเทศที่ฝนตกปีละ 500 มิลลิเมตร แต่มีน้ำจืดส่งออกไปประเทศใกล้เคียง มีที่ดินส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย แต่เปลี่ยนเป็นไร่นาสวนผักผลไม้ ส่งผลผลิตไปขายทั่วโลก

ขณะที่บ้านเราฝนตกปีละ 1,500 มิลลิเมตร หน้าฝนก็ท่วม หน้าร้อนก็แล้ง ระบบชลประทานมีน้อยผลผลิตการเกษตรต่อไร่ได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ยังนำเข้าผักผลไม้จากต่างประเทศ

เหล่านี้ คือ สถานการณ์ของ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ที่เราไม่ได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพ เพราะยังมีแต่ปัญหาการเมือง การแย่งชิงอำนาจ การหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม การซื้อเสียง คอร์รัปชั่นถอนทุน เล่นการเมืองแบบไร้สัจจะ ตระบัดสัตย์เพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวก วงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย

ถึงอย่างไร เมืองไทยต้องเดินไปข้างหน้า ไม่ว่าจะกี่ปี กี่สิบปี ต้องมี “อุเบกขา” ปล่อยวางดัวยปัญญา ไม่ใช่เลิกสนใจใยดี แต่มีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเราทุกคน

“สังคมไม่ได้เลวร้ายเพราะคนส่วนน้อยเลว แต่เพราะคนส่วนใหญ่นิ่งเฉย” ยอมให้เขาครอบงำ อ้างความชอบธรรมด้วยกฏหมายและระบบโครงสร้างที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด

ปีใหม่ ก้าวใหม่ สังคมไทยควรมี “พลเมือง” มากกว่า “มวลชนนิรนาม” ที่นิทเช่เรียกว่า วัฒนธรรมแบบฝูงสัตว์ (herd mentality) ที่ถูกต้อนไปกินหญ้า ต้อนเข้าคอก แล้วถูกนำไปเชือด

การศึกษาที่มีพลังจะพัฒนาจิตสำนึก สร้างพลเมือง คือ ประชาชนที่มีจิตสำนึก มีวัฒนธรรมที่เรียกว่า อารยธรรม