ทวี สุรฤทธิกุล

ชื่อบทความวันนี้ดูเหมือนชื่อเพลง แต่ก็ตั้งใจที่จะเขียนให้เกิดอารมณ์นั้น คือ “ว้าเหว่และวังเวง”

กูรูหลายคนบอกว่าปีนี้ “ทักษิณซีนโดรม” จะนำมาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง นั่นก็คือปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมที่ “เลอะเทอะโสมม” จะนำมาซึ่งความเสียหายในหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่ความเสื่อมถอยความเชื่อถือและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมนั้นเอง ไปจนถึง “หายนะ” ที่จะเกิดแก่การเมืองการปกครองของประเทศ

ผู้เขียนก็มีความคิดเห็นเช่นนั้น แต่จะขอพักยังไม่ขยายความอะไรไปให้มาก เพราะคงต้องคอยเวลาที่ “นักโทษเทวดา” จะออกมาสำแดงเดชนอกคุก ซึ่งเชื่อกันว่าจะมีการ “ถอนทุนแค้น” กันอย่างน่าดูชม โดยวันนี้จะขอเขียนถึง “ความเลอะเทอะโสมม” ของกระบวนการยุติธรรมในส่วนเล็ก ๆ ที่คนส่วนมากน่าจะไม่ค่อยรู้ เพราะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้กระทำการ นั่นก็คือการไป “ขึ้นศาล” ที่นอกจากจะน่ากลัวแล้ว ยัง “น่าเกลียดน่าชัง” เป็นที่ยิ่ง

ท่านที่เคยอ่านเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการยุติธรรม คงจะพอทราบว่าต้นน้ำของกระบวนการนี้คือตำรวจ ต่อไปก็เป็นกลางน้ำคืออัยการและศาล และไปจบปลายน้ำที่ราชทัณฑ์ อธิบายว่าเมื่อมีการกระทำความผิด ตำรวจก็จะเป็นฝ่ายสอบสวนและจับกุม แล้วทำสำนวนให้อัยการดู อัยการเห็นด้วยก็ส่งฟ้องศาล ไม่เห็นด้วยก็สอบสวนเพิ่ม และเมื่อขึ้นศาลแล้วก็เข้าไปต่อสู้กันในศาลระหว่างโจทก์กับจำเลย มีการเบิกพยานของทั้งสองฝ่ายมาหักล้างกัน จากนั้นศาลก็ตัดสิน ถ้าจำเลยบริสุทธิ์ก็ปล่อยให้มีอิสรภาพ ถ้าผิดก็สั่งลงโทษ ซึ่งถ้ามีจำคุกก็ต้องส่งไปราชทัณฑ์ อันเป็นการครบถ้วนกระบวนการยุติธรรม

ผู้เขียนเคยขึ้นศาลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ในฐานะโจทก์ที่ฟ้องบริษัทรับก่อสร้างบ้าน โดยจ้างทนายที่เป็นรุ่นพี่โขนธรรมศาสตร์ทำคดีให้ และก็ชนะ จำเลยคือบริษัทผู้รับเหมาต้องมาซ่อมแซมและเสียค่าปรับเป็นเงินหลายแสน ต่อมาปี 2542 ต้องขึ้นศาลในฐานะจำเลยเพราะไปทำเอกสารปิดประกาศหมิ่นประมาทอาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงนั้นในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ผู้เขียนทำงานอยู่กำลังมีการเดินขบวนขับไล่อธิการบดี ผู้เขียนอยู่ในฝ่ายขับไล่ก็แค้นพวกอาจารย์ที่ไปหนุนอธิการบดี จึงเขียนใบปลิวด้วยถ้อยคำรุนแรง ผู้เขียนถูกตำรวจมาเชิญไปที่โรงพัก ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือและสอบสวน ผู้เขียนรับสารภาพ สำนวนจึงถูกส่งไปยังอัยการ ไม่นานอัยการท่านก็เรียกผู้เขียนไปพบแล้วแนะนำให้ทำหนังสือขอขมา โชคดีที่อาจารย์ฝ่ายโจทก์ใจดีอภัยให้ คดีก็เลยจบ

จนถึงหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผู้เขียนก็เกือบจะต้องขึ้นศาลอีก โดยตกเป็นผู้ต้องหาในคดีก่อความวุ่นวายและทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ร่วมกับคนอื่น ๆ กว่า 20 คน เพราะไปขึ้นเวที กปปส. แล้วไปยึดศูนย์ราชการที่ถนนแจ้งวัฒนะ ในตอนปลายปี 2556 แต่พอตำรวจสอบสวนแล้วก็ปล่อยตัว จนอีกไม่นานต่อมาก็ทราบจากทนายว่า อัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะพยานหลักฐานยังไม่หนักแน่นพอ จากนั้นผู้เขียนก็ได้รับการติดต่อจากตำรวจเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ทีนี้เป็นเรื่องที่ขอให้ผู้เขียนไปให้ความเห็นในฐานะ “พยานผู้เชี่ยวชาญ” เพื่อสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พูดง่าย ๆ คือการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย แล้วไปหมิ่นพระมหากษัตริย์และกระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งรัฐ อย่างที่เรียกว่า “คดี ม.112” และ “คดี ม.116”

รายละเอียดในแต่ละคดีจะไม่ขอพูดถึง โดยตั้งแต่ที่เป็นพยานในคดีนี้คดีแรกใน พ.ศ. 2558 มาจนถึงล่าสุดเมื่อก่อนสิ้นปี 2566 ก็นับได้ไม่ต่ำกว่า 20 คดี ซึ่งมีที่ต้องขึ้นศาลไปเป็นพยานโจทก์ให้ผ่ายอัยการก็ราว ๆ 7-8 คดี (ทราบว่าหลายคดีอัยการสั่งไม่ฟ้อง จึงเหลือคดีที่ขึ้นศาลเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่ตำรวจตั้งข้อหาดังกล่าว) จึงอาจจะนับได้ว่าผู้เขียนก็น่าจะเป็น “ผู้เชี่ยวชาญในการขึ้นศาล” ได้อีกคนหนึ่ง ด้วยจำนวนที่ต้องไปยืน “ตรากตรำ” อยู่ต่อหน้าบัลลังก์มาเกือบ 10 ครั้งนั้น

ผู้เขียนใช้คำว่า “ตรากตรำ” เพื่อให้ดูนุ่มนวลกว่าคำว่า “ลำบาก” หรือ “ทุกข์ทรมาน” เพราะไม่เพียงแต่ตัวเองที่ต้องมีความทุกข์มาก ๆ ในเวลาที่ไปขึ้นศาลนั้นแล้ว ยังได้เห็นคนอื่น ๆ คือจำเลย ตำรวจ อัยการ หรือแม้กระทั่งศาล ก็คงจะมีแต่ความทุกข์ทรมานนั้นมาก ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนต้องนำมา “บ่น” ให้ได้ยินในคอลัมน์นี้ เพื่อที่จะให้ท่านที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการขึ้นโรงขึ้นศาลได้เห็น “ทุกขเวทนา” เหล่านั้น

ในคดีแรกที่ผู้เขียนเป็นโจทก์ในปี 2531 ผู้เขียนได้เห็นผู้พิพากษาท่าน “พูดแรง ๆ” กับจำเลย ในตอนที่ตัดสินลงโทษ ในทำนองว่าจะให้หลาบจำ ไม่ไปคดโกงใครในการรับแกมาสร้างบ้านนั้นอีก แต่ก็มาคิดภายหลังว่าคงเป็นบุคลิกภาพหรือเทคนิคของผู้พิพากษาบางท่าน แต่พอมาขึ้นเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในปี 2558 ในคดีแรกเกี่ยวกับ “หมุดคณะราษฎร 2475” ที่หายไป แล้วมีอดีตรัฐมนตรีเสื้อแดงคนหนึ่งไปโพสต์กระเทือนถึงเบื้องสูง อัยการก็ซักผู้เขียนถึงความสำคัญของหมุดนั้น พอพูดเขียนเริ่มอธิบายได้สัก 2 ประโยค ผู้พิพากษาท่านก็ส่งเสียงดังว่าไม่ต้องบรรยาย ผู้เขียนจึงหยุดและเข้าใจว่าผู้พิพากษาท่านคงเหน็ดเหนื่อย และต่อมาในเวลาที่ขึ้นศาลก็ได้เห็นอารมณ์ในทำนองนั้นอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะที่กระทำต่อจำเลยซึ่งหลาย ๆ คดีก็พบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

แต่ที่เป็นความทุกข์ระทมของผู้เขียนเอามาก ๆ ก็คือ การดูแลผู้คนที่ไปเป็นพยานให้กับอัยการ อย่างที่ผู้เขียนเจอมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นี้ คือทุกครั้งก่อนถึงวันนัด อัยการจะโทรมาให้ไปพบที่ห้องรับรองของศาลก่อนทุกครั้ง เพื่อนัดแนะหรือซักซ้อมความพร้อม  แต่เมื่อวันนั้นผู้เขียนก็ไปถึงก่อนเวลาและรอที่ห้องพักพยานจนเวลาเลยไปครึ่งชั่วโมง อัยการจึงเพิ่งโทรมาหาแล้วต่อว่าว่าทำไมไม่เข้าไปในห้องพิจารณาคดี ซึ่งพอผู้เขียนไปพบก็เล่าให้ฟังว่าเคยได้รับปฏิบัติมาอย่างไร ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนในคอลัมน์นี้แล้วว่าการไปเป็นพยายนศาลนั้นลำบากอย่างไร ต้องไปเผชิญหน้ากับจำเลยที่อาจจะฝังใจเจ็บ และยังได้รับการดูแลแบบ “วังเวง” แบบนั้น ก็คงต้องบอกศาลและเล่าให้ท่านที่อาจจะถูกเชิญให้ไปขึ้นศาลในฐานะต่าง ๆ ได้ทราบไว้ ว่านี่คือ “ศักดินา” ที่ยังมีอยู่เต็มโรงเต็มศาล ที่ “ท่าน ๆ “ ทั้งหลายอาจจะมองมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน

ก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร เพราะ “คนพิเศษ” ก็ยังมีให้เห็นเต็มกระบวนการยุติธรรม แม้แต่ “นักโทษพิเศษ” ดังนั้น “ยุติธรรมไทยไร้ศักดินา” จึงเป็นได้แค่ความฝัน